หนองบัวลำภู เผยนโยบายยกระดับ “30 บาทรักษาทุกที่ ด้วยบัตรประชาชนใบเดียว” เฟสสอง ตั้งแต่ 1 มี.ค.67 ประชาชนพึงพอใจสูงเกือบ 99% โดยเฉพาะจัดส่งยาถึงบ้านด้วย Health Rider ขณะที่บุคลากร-อสม.สร้างรายได้เพิ่มจากการร่วมส่งยาเดลิเวอรี
เป็นไปตามไทม์ไลน์ของการยกระดับบัตรทอง กับ นโยบายยกระดับ 30 บาทรักษาทุกที่ด้วยบัตรประชาชนใบเดียว โดยเริ่มตั้งแต่เฟสแรกคิกออฟไปเมื่อวันที่ 7 มกราคม 2567 นำร่อง 4 จังหวัด ได้แก่ แพร่ เพชรบุรี ร้อยเอ็ด และนราธิวาส และเฟสสองเริ่มไปแล้วเมื่อวันที่ 1 มีนาคม 2567 ที่ผ่านมาใน 8 จังหวัด คือ เพชรบูรณ์ นครสวรรค์ สิงห์บุรี สระแก้ว หนองบัวลำภู นครราชสีมา อำนาจเจริญ และพังงา โดยนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี มอบหมาย นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธานเปิดงานอย่างเป็นทางการที่จังหวัดนครราชสีมา ในวันที่ 30 มีนาคม 2567 นี้
(ข่าวเกี่ยวข้อง : นายกฯมอบ 'ชลน่าน' เปิดเฟสสอง 30 บาทรักษาทุกที่ 30 มี.ค.ที่โคราช -ยกระดับ cyber security)
หนองบัวลำภู เป็นอีก 1 ใน 8 จังหวัด และเป็นตัวแทนของเขตสุขภาพที่ 8 ที่เข้าร่วมและขับเคลื่อนตามนโยบายยกระดับ 30 บาทรักษาทุกที่ด้วยบัตรประชาชนใบเดียว เฟสสอง ซึ่ง นพ.วีรวุฒิ อิ่มสำราญ ผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุข เขตสุขภาพที่ 8 และนพ.ประวิตร ศรีบุญรัตน์ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดหนองบัวลำภู มีการดำเนินการและเตรียมพร้อมระบบในการขับเคลื่อนงานเพื่อให้บริการประชาชนตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม 2567 ที่ผ่านมา
โดย นพ.วีรวุฒิ ให้ข้อมูลกับทาง Hfocus ว่า จังหวัดหนองบัวลำภู มีโรงพยาบาลในพื้นที่ 6 แห่ง ซึ่งเป็นระดับโรงพยาบาลทั่วไป(รพท.) 1 แห่ง คือ โรงพยาบาลหนองบัวลำภู และโรงพยาบาลชุมชน 5 แห่ง มีโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล(รพ.สต.) อีก 83 แห่ง ขณะที่โรงพยาบาลเอกชนมี 1 แห่ง และยังมีร้านขายยา คลินิกแพทย์ คลินิกทันตแพทย์ คลินิกพยาบาล คลินิกแพทย์แผนไทย รวม 23 แห่ง ซึ่งเป็นหน่วยบริการภาคเอกชนที่เข้าร่วมโครงการยกระดับ 30 บาทรักษาทุกที่ด้วยบัตรประชาชนใบเดียว ได้เตรียมพร้อมระบบมาตั้งแต่เฟสแรกและเมื่อเข้าถึงเฟสสอง จึงสามารถขับเคลื่อนตามนโยบายได้ตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม 2567 อีกทั้ง ยังได้รับความนิยมใช้บริการจากประชาชนกว่า 1,168 ครั้ง เฉพาะในช่วงวันที่ 1 - 25 มีนาคม 2567 ที่ผ่านมา
“จากการดำเนินการตามนโยบาย พบว่าประชาชนพึงพอใจมาก โดยเฉพาะการนำ อสม.เฮลธ์ ไรเดอร์ (Health Rider) มาเป็นเครื่องมือในการนำส่งยาให้แก่ผู้ป่วยถึงบ้าน สร้างความสะดวกให้แก่ประชาชน ลดการรอคิวในโรงพยาบาล ที่สำคัญไรเดอร์ที่เป็นอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) หรือบุคลากรในโรงพยาบาล ยังสามารถสร้างรายได้ให้แก่ตนเองได้อีกทางหนึ่ง” นพ.วีรวุฒิ กล่าว
ด้าน นพ.รวมพล เหล่าหว้าน รองนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดหนองบัวลำภู ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า การมี อสม.เฮลธ์ ไรเดอร์ ส่งยาถึงบ้าน เป็นบริการที่ตอบโจทย์ความต้องการของประชาชนมาก ช่วยส่งเสริมการยกระดับ 30บาท รักษาทุกที่ด้วยบัตรประชาชนใบเดียวอย่างเห็นผลได้จริง ปัจจุบันหนองบัวลำภูมี Health Rider จำนวน 96 คนให้บริการครอบคลุมพื้นที่บริการของ 6 อำเภอ ปัจจุบัน อสม.เฮลธ์ ไรเดอร์ ของหนองบัวลำภูมีรายได้เสริมจากการมาช่วยบริการนำส่งยาถึงบ้านรวมแล้วกว่า 38,190 บาท
ทั้งนี้ การส่งยาถึงบ้านให้กับผู้ป่วยในพื้นที่หนองบัวลำภูนั้น จะเป็นการจัดส่งยาภายในวันเดียวในรัศมีระยะ 15 กิโลเมตรจากโรงพยาบาล โดยเมื่อผู้ป่วยได้รับการตรวจจากแพทย์ที่โรงพยาบาลเสร็จเรียบร้อยแล้ว จะสามารถกลับบ้านได้เลย เมื่อกลับบ้านไป ตอนเย็นก็จะสามารถรับยาได้ทันที และทุกรายจะมีการติดตามการใช้ยาโดยเภสัชกรของโรงพยาบาล ด้วยระบบ Tele Pharmacy เพื่อความปลอดภัยของผู้บป่วย ทั้งนี้ประชาชนที่ใช้บริการ อสม.เฮลธ์ ไรเดอร์นำส่งยาถึงบ้านมีความพึงพอใจสูงถึง 98.26% โดยในภาพรวมจังหวัดหนองบัวลำภูมีการจัดส่งยาด้วยด้วย Health Rider ไปแล้วกว่า 1,273 ครั้ง (ข้อมูลถึงวันที่ 21 มี.ค.2567)
นพ.รวมพล กล่าวเพิ่มเติมว่า ปัจจุบันนอกจากมี อสม.เป็น Rider หลักแล้ว ยังมีจ้าหน้าที่โรงพยาบาลเข้าร่วมให้บริการ Health Rider อีกจำนวน 24 คน เน้นการจัดส่งยาคนในพื้นที่นั้นๆ หลายคนรู้จักกันกับคนไข้ อย่างตอนเช้ามาทำงานที่โรงพยาบาล พอตอนเย็นกลับบ้านก็ขับรถจัดส่งยาคนไข้แถวบ้านไปด้วย สร้างรายได้เพิ่มอีกทางหนึ่ง
“การจัดส่งยาถึงบ้านเป็นประโยชน์มาก เพราะช่วยลดการรอคิวการรับยา ลดแออัดที่โรงพยาบาล ทำให้ประชาชนสะดวกมากขึ้น ส่วนจะต้องเพิ่มงบประมาณหรือไม่ ต้องรอการดำเนินการสักระยะหนึ่งก่อน จริงๆ ชาวบ้านในชนบทกว่าจะเดินทางมาโรงพยาบาลก็จะมีค่าใช้จ่าย เช่น บางคนไม่มีรถส่วนตัวต้องเหมารถมา บางคนเป็นคุณตาคุณยาย ไม่มีคนดูแลหลานที่บ้าน เพราะสังคมชนบทจะเลี้ยงหลาน เขาก็ไม่อยากมาใช้เวลาที่โรงพยาบาลนานๆ ดังนั้น เมื่อมีคนไปส่งยาให้ไม่ต้องมารอ ได้กลับบ้านก่อนเที่ยง จากเดิมต้องใช้เวลานานกว่าจะได้กลับบ้านต้องรอบ่ายสอง บ่ายสามโมงไปแล้ว ตรงนี้ถือเป็นประโยชน์มาก” นพ.รวมพล กล่าว
ปัจจุบันประชากรใน จ.หนองบัวลำภูมีประมาณ 500,000 คน เฉพาะตัวเมืองใหญ่ๆมีถึง 2-3 แสนคน ซึ่งส่วนใหญ่ล้วนเป็นสิทธิบัตรทอง เนื่องจากโรงพยาบาลในภาคอีสานส่วนใหญ่รายได้ที่เข้ามาก็จะเป็นบัตรทองเป็นหลัก สำหรับโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล(รพ.สต.) 83 แห่ง แม้ปัจจุบันถ่ายโอนไปยังองค์การบริหารส่วนจังหวัด(อบจ.) หนองบัวลำภูทั้งหมด แต่การทำงานยังเชื่อมโยงสนับสนุนเป็นแม่ข่าย-ลูกข่ายกันกับโรงพยาบาล และร่วมกันให้บริการสุขภาพแก่ประชาชนชาวหนองบัวลำภูเหมือนเดิม
อย่างในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ – มีนาคม 2567 สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด(สสจ.)หนองบัวลำภู ร่วมกับ โรงพยาบาล สำนักงานสาธารณสุขอำเภอ(สสอ.) และ รพ.สต.ทุกแห่งในการลงพื้นที่ประชาสัมพันธ์และช่วยเหลือประชาชนชาวหนองบัวลำภูในการลงทะเบียน Health ID และการติดตั้งแอปพลิเคชั่น “หมอพร้อม” เพื่อให้ประชาชนสามารถเข้าถึงข้อมูลประวัติการรับบริการสุขภาพของตนเองที่หน่วยบริการต่างๆ และสามารถจองคิวนัดหมายในการเข้ารับบริการผ่านแอปพลิเคชั่นดังกล่าวได้ด้วย
นอกจากนี้ เมื่อประชาชนลงทะเบียน Health ID แล้ว จะทำให้หน่วยบริการทุกแห่งสามารถเชื่อมโยงข้อมูล และเข้าถึงประวัติการรับบริการของผู้ป่วยได้ ช่วยให้ผู้ป่วยได้รับบริการอย่างเหมาะสมและปลอดภัยเพิ่มขึ้นอีกด้วย
ในวันที่ 30 มีนาคม 2567 ที่จะถึงนี้ จะมีการการเปิดตัวอย่างเป็นทางการของนโยบายยกระดับ 30 บาทรักษาทุกที่ ด้วยบัตรประชาชนใบเดียวระยะที่ 2 เพิ่มเติมใน 8 จังหวัดอย่างเป็นทางการ ที่จังหวัดนครราชสีมา ซึ่งในส่วนจังหวัดหนองบัวลำภู ก็จะมีกิจกรรมในวันดังกล่าวนี้ด้วยเช่นกัน
ข่าวอื่นๆที่เกี่ยวข้อง :
-รัฐบาลเดินหน้า 30 บ.รักษาทุกที่ฯเฟสสอง 8 จังหวัด เริ่มแล้ว 1 มี.ค.ก่อนเพิ่มอีก 20 จังหวัด พ.ค. นี้
-‘ชลน่าน’ นำทีม Health Rider ส่งยาถึงบ้านด้วยตัวเอง หนุนนโยบายนายกฯ ‘ 30 บาทรักษาทุกที่ฯ’
-"ชลน่าน“ เผยผลประเมิน 30 บ.รักษาทุกที่ฯ เฟสแรก ไร้เสียงบ่นจากบุคลากร 4 จ.
-ประเมิน 6 เดือนนโยบายยกระดับบัตรทอง สู่ '30 บาทรักษาทุกที่' ด้วยบัตรปชช.ใบเดียว
-1 มี.ค. 67 นี้ "โคราช" พร้อมขับเคลื่อน "30 บาทรักษาทุกที่" เฟส 2
-"นครสวรรค์" พร้อมขับเคลื่อนเฟสสอง "30 บาทรักษาทุกที่" 1 มี.ค.นี้
- 474 views