ชมรมเภสัชกรโรงพยาบาลชุมชน จัดงานประชุมวิชาการเภสัชกรโรงพยาบาลชุมชน ปี 2567 "บทบาทเภสัชกรกับการทำงานยุค Digital Transformation " สอดรับ "Health Rider" พร้อมขับเคลื่อนงาน 30 บาทรักษาทุกที่ ช่วยประชาชนเข้าถึงบริการได้สะดวก แต่ภาระงานเพิ่ม
เมื่อวันที่ 11-12 กรกฎาคม 2567 ที่ผ่านมา ชมรมเภสัชกรโรงพยาบาลชุมชนจัดงานประชุมวิชาการเภสัชกรโรงพยาบาลชุมชน กระทรวงสาธารณสุข ปี 2567" บทบาทเภสัชกรกับการทำงานยุค Digital Transformation 2567" ณ โรงแรมทีคการ์เด้น สปา รีสอร์ท จังหวัดเชียงราย
ภก.พรพิทักษ์ กอมสิน ประธานชมรมเภสัชกรโรงพยาบาลชุมชนแห่งประเทศไทย (ภรพช.) กล่าวว่า ในส่วนของการประชุมวิชาการเภสัชกรโรงพยาบาลชุมชน จัดประชุมมาแล้วครั้งนี้เป็นครั้งที่ 4 การจัดงานครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนความร่วมมือในการขับเคลื่อนงานด้านเภสัชกรรมในยุคติจิทัล ให้สำเร็จและบรรลุเป้าหมายการทำงานด้านสาธารณสุขให้เภสัชกรหัวหน้ากลุ่มงานเภสัชกรรมและคุ้มครองผู้บริโภค ในโรงพยาบาลชุมชน เขตภาคเหนือ และทั่วประเทศ ให้ได้รับความรู้ทางวิชาการ การพัฒนาบทบาทและสมรรถนะด้านการจัดการทางเภสัชกรรมด้วยเทคโนโลยีดิจิทัล เพื่อสร้างเครือข่ายความร่วมมือในการพัฒนาบทบาทวิชาชีพเภสัชกรรม ในโรงพยาบาลชุมชน
รวมถึงสนับสนุนการขับเคลื่อนนโยบายด้านสาธารณสุขทุกโครงการ เช่น นโยบาย30 บาทรักษาทุกที่ โดยคณะกรรมการและผู้บริหาร หารือร่วมกันว่า ในฐานะเภสัชกรโรงพยาบาลชุมชน สามารถสนับสนุนนโยบายของกระทรวงสาธารณสุขอย่างไร รวมทั้งการพยายามขับเคลื่อนในเรื่องที่เป็นปัญหาของเภสัชกรโรงพยาบาลชุมชนเช่น เรื่องอัตรากําลัง ความก้าวหน้า ค่าตอบแทน และความสุขในการทํางาน และกำหนดทิศทาง การพัฒนางานเเภสัชกรรมของโรงพยาบาลชุมชนในอนาคต
เมื่อถามว่า การที่ให้ “ร้านยาชุมชนอบอุ่น” เข้าร่วม 30 บ.รักษาทุกที่ มีข้อดีข้อเสียหรือไม่อย่างไร ภก.พรพิทักษ์ กล่าวว่า ในฐานะเภสัชกรโรงพยาบาลชุมชน มองว่าโครงการดังกล่าว จะช่วยส่งเสริมให้ประชาชนผู้มีสิทธิบัตรทอง สามารถเข้าถึงยาและการดูแลเจ็บป่วยเล็กน้อยได้มากขึ้น สะดวก รวดเร็ว มีคุณภาพตามมาตรฐาน ลดค่าใช้จ่าย ไม่ต้องเดินทางไปรับบริการในโรงพยาบาล ช่วยลดความแออัด โดยที่ผ่านมา มีการพัฒนาระบบการกระจายยา โดยพยายามทําโมเดลหลายรูปแบบ และในช่วงโควิดที่ผ่านมา มองว่าเป็นทั้งวิกฤตและโอกาส โดยในช่วงเวลาดังกล่าว งานเภสัชกรรม ได้พัฒนารูปแบบการจัดส่งยาให้ผู้ป่วยที่บ้าน
จากนั้นทำให้ สปสช. และกระทรวงสาธารณสุข พยายามมาปรับระบบการกระจายยาและการส่งมอบยาแก่ผู้ป่วย โดยในส่วนของสภาเภสัชกรมม สมาคมร้านขายยา และเครือข่ายร้านขายยา ได้คิดโมเดลเพื่อให้ประชาชนสิทธิบัตรทอง หรือ 30 บาทรักษาทุกที่ สามารถไปรับยาที่ร้านยาได้ ซึ่งถือเป็นโอกาสของประชาชนในด้านการเข้าถึงบริการดูแลเจ็บป่วยเล็กน้อย 16 กลุ่มอาการ นอกจากนี้โรงพยาบาลชุมชน ยังดำเนินการ ในเรื่องของการส่งยาโดย "Health Rider" ซึ่งเป็นนโยบายที่ช่วยให้ประชาชนได้รับความสะดวกสบาย และลดระยะเวลาการรอคอย ในโรงพยาบาล
"โดยในช่วงแรก จะทำให้งานเภสัชกรรมและโรงพยาบาลจะมีภาระงานที่เพิ่มขึ้น แต่ในอนาคตเชื่อว่า ประชาชนจะได้รับประโยชน์มากขึ้น ซึ่งต้องพัฒนาระบบและร่วมมือกับผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่าย ถามว่าประชาชนได้รับประโยชน์หรือไม่... มองว่า ประชาชนได้รับประโยชน์ เรื่องการลดระยะเวลารอคอยและลดความแออัดในโรงพยาบาล โดยในช่วงแรก จะทำให้ภาระงาน ของเภสัชกรเพิ่มมากขึ้น ภายใต้ข้อจำกัดด้านกำลังคน ทรัพยากร ที่ยังมีจำกัดและไม่เพียงพอ โดยจะต้องพัฒนาระบบร่วมกัน ในการดำเนินงาน "Health Rider" ให้ประชาชนได้รับประโยชน์ สูงสุด ตามมาตรฐานวิชาชีพและมาตรฐานความปลอดภัยด้านยา ภก.พรพิทักษ์ กล่าว
ทั้งนี้ นายแพทย์วัชรพงษ์ คำหล้า นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดเชียงราย ให้เกียรติเป็นประธานเปิดงานและเยี่ยมชมนิทรรศการภายในงาน รวมทั้งได้รับเกียรติจาก รศ.(พิเศษ) ภก.กิตติ พิทักษ์นิตินันท์ นายกสภาเภสัชกรรม ภญ.วรนัดดา ศรีสุพรรณ รักษาการนักวิชาการอาหารและยาทรงคุณวุฒิ กองบริหารการสาธารณสุข (กบรส.กระทรวงสาธารณสุข) และ ภก.ยงยุทธ โล่ศุภกาญจน์ เภสัชกรเชี่ยวชาญ หัวหน้ากลุ่มงานเภสัชกรรม โรงพยาบาลเชียงรายประชา นุเคราะห์ การจัดงานในครั้งนี้ได้รับความร่วมมือและสนับสนุนจากสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดเชียงราย โรงพยาบาลชุมชน ในจังหวัดเชียงราย โรงพยาบาลเชียงรายประชานุเคราะห์ ชมรมเภสัชกรภาคเหนือ สภาเภสัชกรรมและภาคีเครือข่าย
- 332 views