"เลขาธิการ สปสช." พบ "ผู้ว่าฯ กทม." ประสานความร่วมมือแก้ปมปัญหาส่งต่อผู้ป่วยใน กทม. - การเปลี่ยนระบบการจ่ายเงิน มั่นใจปัญหาต้องหมดไปในเร็ววัน พร้อมเดินหน้าสร้างความเข้มแข็งให้ระบบบริการปฐมภูมิ เพื่อประชาชนเกิดความเชื่อมั่น
จากการแถลงข่าวเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา นำโดย ทพ.อรรถพร ลิ้มปัญญาเลิศ รองเลขาธิการ สปสช. พร้อมด้วย พญ.ลลิตยา กองคำ รองเลขาธิการ สปสช. และ ทพญ.น้ำเพชร ตั้งยิ่งยง ผู้อำนวยการ สปสช. เขต 13 กรุงเทพมหานคร (กทม.)แจงความคืบหน้า “แนวทางการส่งต่อผู้ป่วยบัตรทองใน กทม.” หลังปรับรูปแบบการเบิกจ่ายผู้ป่วยนอกใน กทม. เป็น OP New Model 5 อ่านรายละเอียดเพิ่มเติม สปสช. แจงความคืบหน้าปมปัญหาส่งต่อผู้ป่วยใน กทม.ยืนยันแม้ยกเลิกใบส่งตัวไม่มีผลต่อการเบิกจ่าย
ล่าสุดวันนี้ 25 มีนาคม 2667 นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการ สปสช. เข้าพบ นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าฯ กทม. เพื่อขอหารือในแนวทางและความร่วมมือการแก้ไขปัญหาให้กับประชาชนใน กทม. ที่ได้รับผลกระทบจากการปรับรูปแบบการเบิกจ่าย พร้อมให้ข้อมูลปัญหาการส่งต่อ หรือประชาชนไม่ได้รับใบส่งตัวจากคลินิก โดยนายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าฯ กทม. กล่าวว่า กทม.พร้อมจะดำเนินการตามแนวทางอยู่แล้ว โดยใบส่งตัวที่ได้ให้โรงพยาบาลไปแล้วถือว่าเป็นใบส่งตัวที่ยังใช้งานได้ ส่วนเรื่องคลินิกหรือโรงพยาบาล ก็เป็นแนวทางปฏิบัติที่ สปสช.ต้องไปเคลียร์เรื่องค่าใช้จ่ายต่อไป เพราะฉะนั้นกทม. ไม่ได้ขัดข้องในการปฏิบัติตามแนวทางที่สปสช.ให้มา เราพร้อมจะให้ความร่วมมืออยู่แล้ว เพราะว่าในอนาคตต่อไประบบส่งต่อก็ถือเป็นระบบที่ก็ต้องปฏิบัติตามแนวทางที่สปสช.กําหนด เราคงต้องขอให้ สปสช.ระบุชัดเจนเลยว่ากระบวนการแต่ละขั้นตอนเป็นอย่างไร
ด้านนพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการ สปสช. กล่าวว่า ต้องขอบคุณท่านผู้ว่าฯ ที่วันนี้เรานําประเด็นที่เป็นปัญหาของพี่น้องประชาชนมาหารือ อย่างน้อยที่เรามีปัญหาเรื่องใบส่งตัวเดิมที่เคยส่งตัวไปยังโรงพยาบาลต่างๆแล้ว อาจจะเกิดความสับสนเข้าใจไม่ตรงกัน ต้องมีการเรียกกลับมารับใบส่งตัว ในส่วนที่ท่านผู้ว่าฯได้ดูแลอยู่ในสังกัด กรุงเทพมหานคร ทั้งหมด โดยได้มีการสั่งการว่าให้ดําเนินการจนกว่าจะหมดของใบส่งตัวนั้น เชื่อว่าจะแก้ปัญหาไปได้เยอะ
ในส่วน สปสช.ก็รับปากท่านผู้ว่าฯ อยากซักซ้อมความเข้าใจกับหน่วยบริการที่รับส่งต่อ ซึ่งบางครั้งท่านอาจจะกังวลว่าถ้าไม่มีใบส่งต่อแล้วใครจะมาดูแลเรื่องค่าใช้จ่ายเหล่านี้ ต้องขอบคุณท่านที่ได้ให้นโยบายในการที่จะขับเคลื่อน ในกรณีอนาคตที่ใบส่งตัวน่าจะใช้เป็นระบบอิเล็กทรอนิกส์ เพื่ออํานวยความสะดวกพี่น้องประชาชน ทางสปสช.จะทํางานกับ กทม.อย่างใกล้ชิด ย้ำอีกครั้งหนึ่งว่าเรื่องนี้เชื่อว่าปัญหาต่างๆจะหมดไปในเร็ววัน
" ต้องเรียนว่าเราได้มีการซักซ้อมกับทางคลินิกก็ขอความร่วมมือว่าในกรณีที่ส่งตัวไปแล้วมีความจําเป็น แต่เมื่อหมดอายุแล้วก็มาประเมินความจําเป็นได้อีก ฉะนั้นครั้งนี้ต้องให้ทางคลินิกช่วย เพราะยังคงยืนยันว่าเราต้องการสร้างความเข้มแข็งให้ระบบบริการปฐมภูมิ ซึ่งตอนนี้ทางคลินิกศูนย์บริการก็กําลังมีทิศทางในการสร้างความเข้มแข็งนี้อยู่" นพ.จเด็จ กล่าว
ทั้งนี้ กรณีการที่ศูนย์บริการจะตัดสินใจส่งต่อผู้ป่วยตามความจําเป็นถือว่าตามกติกา สปสช.ให้ทำได้ ก็คือทําในลักษณะของเครือข่าย ซึ่งมีการพูดคุยกันอยู่แล้ว ในส่วนกติกาการเงินตอนนี้เรามีความชัดเจนว่าเงินส่วนแรกที่จะจ่ายให้จะเปลี่ยนเป็นเหมาจ่ายรายหัวประชากรที่ขึ้นทะเบียนในเครือข่าย ซึ่งจะจ่ายครั้งละไม่เกิน 800 บาท และส่วนที่เกินกว่านั้นเราจะมีการกันเงินไว้เพื่อตามจ่ายเพิ่มเติมเข้าไป
ส่วนกรณีถ้าประชาชนไม่ได้มีใบส่งตัวไป ในส่วนของโรงพยาบาลที่รับส่งต่อเราจะมีกองทุนตามไปจ่าย ซึ่งเราก็มีการซักซ้อมกับหน่วยบริการนั้น และให้ความมั่นใจว่าในแง่กลไกการเงินมีการดูในทุกระดับ แต่ต้องเรียนว่าเราไม่ได้สนับสนุนให้พี่น้องประชาชนอยู่ๆเดินทางไปรับบริการอย่างโรงพยาบาลใหญ่โดยที่ไม่มีระบบอะไร ยังคงย้ำตรงนี้ เพราะเป็นไปตามกฎหมายพรบ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ
นายชัชชาติ กล่าวเเสริมว่า มองว่าจากนี้เป็นต้นไปต้องเริ่มจากหน่วยปฐมภูมิ คือ คลินิกหรือศูนย์สาธารณสุขที่ขึ้นทะเบียนอยู่ ถ้าหากเห็นว่ารับมือไม่ไหวจริงๆก็ส่งมาที่ศูนย์สาธารณสุข เมื่อเราพยายามรักษาเต็มที่แล้วไม่ไหวจริงๆ เราต้องส่งต่อไปที่โรงพยาบาล ซึ่งก็เป็นขั้นตอนเหมือนกับว่ามีระบบที่มีการคัดกรองเพื่อลดภาระของโรงพยาบาล เพราะถ้าทุกคนไปโรงพยาบาลหมดทําให้โรงพยาบาลคิวยาว ฉะนั้นหากเราสามารถทําให้คลินิกชุมชนอบอุ่นเข้มแข็ง หรือศูนย์สาธารณสุขเข้มแข็งก็จะเป็นเรื่องดี
"ผมว่าแนวคิดก็คือเริ่มจากคลินิกชุมชนอบอุ่นที่อยู่ใกล้บ้าน จากนั้นถ้าไม่ไหวก็ส่งมาที่ศูนย์ฯ หากรักษาเต็มที่ไม่ไหวก็จะส่งต่อ ผมว่าก็เป็นไปตามขั้นตอนสากลที่เป็นรูปแบบนี้ แต่ว่าสุดท้ายแล้วทุกหน่วยก็ต้องมีความรับผิดชอบ ต้องมีความเข้มแข็งหน้าที่ของศูนย์สาธารณสุขเองก็ต้องพยายามช่วยดูแลคลินิกให้เข้มแข็งด้วย"
เมื่อถามว่ากรณีที่ผู้ป่วยไปรักษาที่ รพ.เป็นประจำอยู่แล้วแต่ต้องถูกส่งกลับมาที่คลินิกเพื่อเอาใบส่งตัว และกลับไปรพ. จะสื่อสารยังไงเพื่อให้ประชาชนเชื่อมั่นในศักยภาพของคลินิกมากขึ้น นายชัชชาติ กล่าวว่า มองว่าปัจจุบันคนที่ไปโรงพยาบาลทุกคน จริงๆแล้วอาจจะไม่จําเป็นต้องไปโรงพยาบาล 100% แต่ถ้ามีใบส่งตัวก็ไปรักษาตามนั้น แต่ว่าถ้าใบส่งตัวหมดแล้วก็มาเริ่มดําเนินการใหม่ว่าเป็นอย่างไร มองว่าถ้าคลินิกดูแลไม่ไหวจริงๆก็คงไม่เก็บผู้ป่วยไว้อยู่แล้ว
ขณะที่นพ.จเด็จ กล่าวว่า ยกตัวอย่างเช่น คนไข้เบาหวานน้ำตาลสูงเกินมาตรฐาน และคลินิกรู้สึกว่าเอาไม่อยู่ก็ส่งไปยังโรงพยาบาล โรงพยาบาลก็อาจจะมีการช่วยคุมน้ำตาลจนกระทั่งกลับมาปกติเมื่อคนไข้กลับมายังคลินิกซึ่งโดยหลักคือเขาสามารถดูแลได้ แต่ก็ต้องพูดคุยเพื่อให้เกิดความศรัทธากับพี่น้องประชาชน ตรงนี้มองว่าต้องใช้เวลาทําความมั่นใจและถ้าเราทําอย่างนี้ได้ระบบยังไม่วุ่นวาย ขอยืนยันกับพี่น้องประชาชนว่าการรักษาขอให้เป็นหน้าที่ผู้ให้บริการไปที่ไหนก็เชื่อว่าให้บริการอย่างดีที่สุด เพราะถ้าทุกคนต้องไปที่รพ.ขนาดใหญ่ การบริการอาจแย่ลงเพราะว่าความแออัดมากไป เราก็ขอความร่วมมือว่าถ้าพูดคุยกับทางคลินิกแล้ว อยากจะให้ลองมาใช้บริการดู
ต้องเรียนว่าเป็นนโยบายเส้นเลือดฝอยที่เราพยายามพูดมาตลอดว่า ระบบสาธารณสุขหรือระบบต่างๆในกรุงเทพฯ ก็เหมือนกับร่างกายคนมีทั้งเส้นเลือดฝอยและก็เส้นเลือดใหญ่ เปรียบคือ โรงพยาบาลใหญ่(เฉพาะทาง)เท่ากับเส้นเลือดใหญ่ ศูนย์สาธารณสุขและคลินิกเท่ากับเส้นเลือดฝอย ถ้าเกิดเราไม่สามารถพัฒนาให้เส้นเลือดฝอยเข้มแข็งได้ให้คนไว้ใจได้สุดท้ายแล้วคนก็กระโดดไปที่เส้นเลือดใหญ่ สุดท้ายโรงพยาบาลก็จะเห็นคนมาเยอะแยะ ทั้งที่จริงแล้วโรงพยาบาลจะเหมาะสําหรับคนที่อาการหนักหรือป่วยเป็นโรคพิเศษเท่านั้น มองว่าต้องพัฒนาเส้นเลือดฝอยคือระบบปฐมภูมิให้เข้มแข็งขึ้น แต่ว่าอาจต้องใช้เวลาในกระบวนการการพัฒนาสร้างความไว้ใจซึ่งกันและกัน ต้องหารือกับทางคลินิกด้วยว่าจะช่วยกันพัฒนาอย่างไรต่อไป นายชัชชาติ กล่าวเสริม
เมื่อถามว่าโรงพยาบาลในสังกัด กทม. สามารถไปรักษาได้แล้วโดยใช้ใบส่งตัวเดิมใช่หรือไม่.. นายชัชชาติ กล่าวว่า ไม่มีปัญหาอยู่แล้ว เราเองก็คิดว่าใบส่งตัวจากศูนย์ฯ ก็ใช้ได้ 100% และไม่ต้องขอใหม่จนกว่าใบส่งตัวจะหมดอายุ
ด้านนพ.จเด็จ กล่าวว่า ตอนนี้ทาง สปสช.ได้มีการประสานแต่ละสังกัดแล้วและได้ซักซ้อมความเข้าใจกับคลินิกแล้ว นอกจากนี้เราก็มีการประสานทั้งในแง่ตัวเอกสารราชการบวกกับการพูดคุย ต้องเรียนว่าหลายแห่งตอนนี้เกิดความเข้าใจดีขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งความกังวลในเรื่องค่าใช้จ่าย ทั้งนี้เราก็อยากจะให้ระบบเป็นอย่างที่ท่านผู้ว่าฯ กล่าวถึงว่า "เส้นเลือดฝอยเข้มแข็ง" มองว่าเป็นอีกระยะหนึ่ง ช่วงนี้ก็ให้ความมั่นใจอยากให้หน่วยต่างๆมีความมั่นใจ และบางเรื่องเรากําลังส่งหนังสือไปยังหน่วยที่เป็นผู้บังคับบัญชาด้วยอยู่แล้ว
เท่าที่เราตามและทุกคนได้คุยงานรับฟังจากการสื่อสารตรงนี้เชื่อว่าในเร็ววันนี้ก็น่าจะดีขึ้น ต้องเรียนว่าหลังจากวันที่ 1 มีนาคม เป็นต้นมา ที่มีคนร้องเรียนเข้ามา 1330 แต่สถานการณ์ตอนนี้ลดลงไปเยอะ อย่างไรก็ตามเราต้องเดินหน้าต่อไปแต่ถามว่าเร็ววันแค่ไหนก็ขอความร่วมมือทุกฝ่ายในการให้ความร่วมมือกับระบบที่เราวางไว้
เมื่อถามว่าถ้าใบส่งตัวหมดอายุแล้วประชาชนกลับไปขอใบส่งตัวที่ศูนย์บริการสาธารณสุขตอนนี้ทำได้แล้วหรือไม่ นพ.จเด็จ กล่าวว่า กลับไปยังหน่วยบริการปฐมภูมิที่อยู่ใกล้ที่สุดเราเชื่อว่าก็จะได้รับการดูแลส่งต่อ อย่างถ้าเขาดูแลได้เราก็ยังอยากสนับสนุนให้หน่วยบริการปฐมภูมิหรือศูนย์บริการดูแลต่อ แต่ถ้าดูแลไม่ได้แม้ใบส่งตัวเดิมหมดอายุ ควรจะออกใบใหม่เพื่อรับใบส่งตัวตามความจําเป็นไม่ใช่ตามความประสงค์ของใครคนใดคนหนึ่ง นี่คือหลักที่มันควรจะเป็น
- 412 views