กรมสุขภาพจิต จับมือกรมการแพทย์ บูรณาการ “รพ.ธัญญารักษ์-รพ.จิตเวช” 3 จังหวัดนำร่องเคลื่อนงานบำบัดรักษาผู้ป่วยจิตเวช-ยาเสพติด ขณะเดียวกันเดินหน้าเพิ่มบุคลากร จัดหลักสูตรระยะสั้น หลักสูตรเวชศาสตร์ป้องกันฯ เป็นไปตามมติ ครม.เห็นชอบโครงการพัฒนาเครือข่ายดูแลสุขภาพจิตระยะเวลา 5 ปี
เมื่อวันที่ 18 มีนาคม นพ.ศิริศักดิ์ ธิติดิลกรัตน์ รองอธิบดีกรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข(สธ.) ให้สัมภาษณ์ถึงการบำบัดรักษาผู้ป่วยจิตเวชจากปัญหายาเสพติด เพื่อให้ผู้เสพที่สมัครใจบำบัดรักษาได้กลับคืนสู่สังคม ไม่หวนคืนเสพอีกครั้ง ว่า ปัจจุบันกรมสุขภาพจิตมีสถานพยาบาลหรือโรงพยาบาลจิตเวช 20 แห่ง ซึ่งจะให้บริการบำบัดรักษากลุ่มอาการรุนแรง หรือกลุ่มสีแดง และยังมีโรงพยาบาลของกรมการแพทย์ หรือ รพ.ธัญญารักษ์อีก 6-7แห่ง มีหน้าที่บำบัดรักษาผู้ป่วย จากนั้นก็จะส่งต่อไปยังชุมชน อีกทั้ง กรมฯยังเป็นพี่เลี้ยงให้แก่โรงพยาบาลศูนย์/โรงพยาบาลทั่วไป(รพศ./รพท.) ที่มีวอร์ด(แผนก) จิตเวชอีกด้วย เนื่องจากขณะนี้ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ได้สั่งการให้มีวอร์ดจิตเวชทุกรพ. ทางกรมฯจึงเข้ามาเป็นพี่เลี้ยง เพื่อให้การบริการเป็นไปตามมาตรฐาน
ส่วนมินิธัญญารักษ์จะเป็นในส่วนของกรมการแพทย์ แต่ทางกรมสุขภาพจิตก็เข้าไปร่วมทำงานเช่นกัน อีกทั้ง กรมฯ ยังเข้าไปร่วมกับชุมชนในการออกแบบกิจกรรมบำบัดในพื้นที่ ที่เรียกว่า ชุมชนล้อมรักษ์(CBTx) เป็นการร่วมออกแบบกิจกรรมที่เหมาะสมในแต่ละพื้นที่
นพ.ศิริศักดิ์ กล่าวอีกว่า นอกจากนี้ กรมสุขภาพจิต ยังร่วมกับ รพ.ธัญญารักษ์ ในการทำงานร่วมกันเรียกว่า เป็นธัญญารักษ์+จิตเวช มี 3 แห่งที่ตั้งเป้าทำงานร่วมอย่างเข้มข้น คือ จังหวัดแม่ฮ่องสอน อุดรธานี และปัตตานี ซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีความพร้อมในการทำงานร่วมกัน และพื้นที่มีความต้องการ ประกอบกับในจังหวัดยังไม่มีรพ.จิตเวช ทั้ง 3 แห่ง อย่างจ.แม่ฮ่องสอน จะเดินทางมารักษารพ.จิตเวช ต้องมาถึงรพ.สวนปรุง จ.เชียงใหม่ รวมถึงปัตตานีก็เช่นกัน ทำให้เกิดความร่วมมือให้เป็นรพ.ที่รวมระหว่างธัญญารักษ์ และจิตเวช บูรณาการร่วมกันเพื่อบำบัดดูแลคนไข้ในแห่งเดียว
เมื่อถามว่าทั้ง 3 แห่งเป็นเพราะมีปัญหาผู้ป่วยจิตเวชสูงด้วยหรือไม่ หรือปัญหายาเสพติดเพิ่มขึ้น นพ.ศิริศักดิ์ กล่าวว่า เป็นส่วนหนึ่ง แต่ต้องบอกว่า ผู้ป่วยจิตเวชอย่างเดียวไม่ค่อยมีปัญหาก่อความรุนแรง หรือก่อเหตุรุนแรงใดๆ นอกจากจะขาดยาบำบัดรักษาอาการจิตเวช หรือไปเสพยาเสพติดก็จะกระตุ้นได้ อย่างไรก็ตาม 3 แห่งดังกล่าวเป็นการทำงานร่วมกันและขณะนี้เริ่มขับเคลื่อนแล้ว
นพ.ศิริศักดิ์ กล่าวว่า นอกจากนี้ ในส่วนของบุคลากร ทางกรมสุขภาพจิตเล็งเห็นความสำคัญ ทั้งการผลิตจิตแพทย์เพิ่มขึ้น ซึ่งก็ต้องหารือร่วมกับราชวิทยาลัยจิตแพทย์แห่งประเทศไทย ยังมีหลักสูตรเวชศาสตร์ป้องกันด้านสุขภาพจิตด้วย ซึ่งต้องจบแพทย์และมาต่อหลักสูตรนี้ ซึ่งจะมีเงื่อนไขกำหนด อีกทั้ง ยังมีหลักสูตรเฉพาะทางด้านสุขภาพจิตยาเสพติด เป็นหลักสูตรระยะสั้นที่พยาบาลก็สามารถมาเรียนได้ โดยทั้งหมดเป็นเพียงส่วนหนึ่งที่ก่อนหน้านี้ ครม.เห็นชอบโครงการพัฒนาเครือข่ายระบบด้านการดูแลสุขภาพจิต สำหรับปีงบประมาณ พ.ศ.2566 – 2570
- 457 views