กรมสุขภาพจิต ประชุมภาคีเครือข่ายนักสื่อสารสุขภาพจิต พัฒนาศักยภาพทีม MIT ทำงานร่วมทีม MCATT สื่อสารสถานการณ์วิกฤตในระดับพื้นที่ ลดปัญหาวิกฤตสุขภาพจิต ด้าน “หมอบุญศิริ” แนะแนวทางการสื่อสาร สิ่งที่ควรทำในการเผยแพร่ข่าวภาวะวิกฤต ย้ำ! ไม่ควรเสพข่าวเหตุสะเทือนขวัญเกิน 6 ชั่วโมงต่อวัน
สำนักความรอบรู้สุขภาพจิต กรมสุขภาพจิต ได้จัดโครงการประชุมเชิงปฏิบัติการพัฒนาภาคีเครือข่ายนักสื่อสารสุขภาพจิต หรือ MIT (Mental Influence Team) เขตสุขภาพที่ 1 เพื่อให้การทำงานเกิดประโยชน์สูงสุด เกิดกลไกการสื่อสารเพื่อลดปัญหาวิกฤตสุขภาพจิต แลกเปลี่ยนองค์ความรู้และรูปแบบของการสื่อสารในแขนงต่าง ๆ สร้างสังคมนักสื่อสารสู่การพัฒนาเชิงนโยบายในการสื่อสารสุขภาพจิต
การประชุมเชิงปฏิบัติการพัฒนาภาคีเครือข่าย นักสื่อสารสุขภาพจิต : Mental Influence Team เขตสุขภาพที่ 1 ในครั้งนี้ มีจุดมุ่งหมายที่จะชะลอเรื่องร้ายและกระจายข่าวดี โดยพัฒนาศักยภาพของเครือข่ายสื่อสารมวลชน สื่อสารสถานการณ์วิกฤตในระดับพื้นที่ เพื่อลดปัญหาวิกฤตสุขภาพจิต และเกิดความรอบรู้ด้านสุขภาพจิตจากการสื่อสารที่เชื่อถือได้
MIT นักสื่อสารสุขภาพจิต สถานการณ์วิกฤตในระดับพื้นที่
สำหรับการบรรยายหัวข้อ "ยุทธศาสตร์การสื่อสารสุขภาพจิต โดย ทีม MIT" โดย พญ.บุญศิริ จันศิริมงคล สาธารณสุขนิเทศน์เขตสุขภาพที่ 1 กล่าวว่า MIT (มิตร) : Mental Influence Team หมายถึง ทีมสื่อสารข้อมูลเกี่ยวกับสถานการณ์ ความรู้ในสถานการณ์วิกฤต และสนับสนุนการดำเนินงานของทีมช่วยเหลือเยียวยาจิตใจผู้ประสบภาวะวิกฤต (MCATT) ประสานงานสื่อสารประชาสัมพันธ์ต่าง ๆ ได้แก่
- ผู้บัญชาการ/ผู้อำนวยการ (Incident Command System: ICS) จังหวัด
- ฝ่ายสื่อสารในหน่วยงานสังกัดสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข
- ฝ่ายสื่อสารในหน่วยงานสังกัดกรมสุขภาพจิต
- ประชาสัมพันธ์จังหวัด
- ผู้นำระดับจังหวัด/พื้นที่
- สื่อมวลชนทั้งในส่วนกลาง และส่วนภูมิภาค
การจัดให้มีทีม MIT จะร่วมกับภาคีสื่อพื้นที่ นำเสนอข่าวความรู้สุขภาพจิตแก่ประชาชนทันเวลา ในช่วงเวลาที่ข่าววิกฤตในพื้นที่เกิดเหตุนั้น
MIT จึงเป็นทีมนักสื่อสารสุขภาพจิตที่จะช่วยสื่อสารสถานการณ์วิกฤตในระดับพื้นที่ ทำงานร่วมกับทีม MCATT (Mental Health Crisis Assessment and Treatment Team) ทีมสหวิชาชีพที่ให้การช่วยเหลือทางด้านจิตใจผู้ประสบภาวะวิกฤต ซึ่งการปฏิบัติงานของทีม MCATT จะแบ่งสีออกเป็น 4 สี ขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย ได้แก่ สีดำ ตอบสนองภายใน 1 ชั่วโมง เช่น เหตุการณ์ความสูญเสีย โศกเศร้าของคนในชาติ และการกราดยิง ส่วนสีอื่น ๆ สีแดง ตอบสนองภายใน 24 ชั่วโมง สีเหลือง ตอบสนองภายใน 72 ชั่วโมง และสีเขียว ตอบสนองภายใน 7 วัน
"ขณะนี้สถานการณ์สุขภาพจิต หลังมีการเข้าถึงบริการ ก็ยังมีเปอร์เซ็นต์ที่สูงขึ้นทุกปี ยิ่งเข้าถึงจะทำให้ได้รู้ว่า เคสสุขภาพจิตมีอยู่เยอะ ตอนนี้มีทุกคืนทุกจังหวัด เห็นได้จากสถานการณ์ผู้เข้ารับบริการด้านสุขภาพจิต โรงพยาบาล สธ. (กระทรวงสาธารณสุข) จำนวนผู้ป่วยโรคจิตเวชที่เข้าถึงบริการ ปี 2565-2566 ผู้ป่วยนอกเยอะมาก ผู้ป่วยในไม่เยอะแต่เป็นเคสที่หายยาก และส่วนใหญ่เกี่ยวข้องกับยาเสพติด"
พญ.บุญศิริ กล่าวอีกว่า ปัจจุบันการสื่อสารสุขภาพจิตพบกับความท้าทายใหม่ ๆ เช่น การเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีดิจิทัล การพัฒนา AI การเกิดโรคระบาด การใช้ความรุนแรง การใช้สารเสพติด และการตีตรา ที่จะต้องหาแนวทางการสื่อสารให้เหมาะสม สำหรับก้าวต่อไป จะต้องพัฒนานวัตกรรมเสริมความรอบรู้ด้านสุขภาพจิตด้วยเทคโนโลยีดิจิทัล มีแบบประเมินผลและติดตามข้อมูลความรอบรู้ด้านสุขภาพจิต พัฒนาโปรแกรมการลดการตีตราทางสุขภาพจิต
สำหรับการเผยแพร่ข่าวในภาวะวิกฤต พญ.บุญศิริ แนะนำถึงสิ่งที่ควรทำและไม่ควรทำ ดังนี้
สิ่งที่ควรทำในการเผยแพร่ข่าวภาวะวิกฤต
กระจายข่าวดี ปรับความคิดและพฤติกรรม เยียวยาจิตใจ ให้พลังใจ ส่งเสริมความรู้ พฤติกรรมด้านสุขภาพจิตที่ดี ในแต่ละระยะ
- ระยะแรกหรือหลังการเผชิญเหตุ ภายในระยะ 6 ชั่วโมง และเฝ้าระวังตลอด 1 เดือน หรือมากกว่า
- ระยะการมีปัญหาสุขภาพจิต เช่น รู้สึกเครียด ซีมเศร้า วิตกกังวลต่อเหตุการณ์
- ระยะการติดตามดูแลช่วยเหลือทางด้านสังคมจิตใจ เพื่อป้องกัน PTSD (Post-Traumatic Stress Disorder สภาวะป่วยทางจิตใจเมื่อเผชิญกับเหตุการณ์ที่กระทบกระเทือนจิตใจอย่างร้ายแรง) และผลกระทบต่าง ๆ
สิ่งที่ไม่ควรทำในการเผยแพร่ข่าวภาวะวิกฤต
- สำหรับผู้ที่เสพข่าว ไม่ควรเสพข่าวเหตุสะเทือนขวัญต่อเนื่อง เกินครั้งละ 2 ชั่วโมง หรือ 6 ชั่วโมงต่อวัน
- ไม่ควรเชื่อข้อมูลง่าย โดยไม่ได้ตรวจสอบที่มาหรือข่าวลือที่สร้างความสับสน
- ไม่เผยแพร่ข้อมูลหรือภาพสะเทือนใจที่ส่งผลกระทบต่อผู้อื่น
ด้านประเด็นความท้าทายการสื่อสารในภาวะวิกฤตสุขภาพจิต พญ.บุญศิริ เสริมว่า มีอยู่หลายประเด็น เช่น ความกดดันจากเวลา ความเป็นส่วนตัวและรักษาความลับ ความหลากหลายทางวัฒนธรรมและภูมิหลังของผู้เผชิญเหตุ และความตื่นตระหนกของสื่อ ประเด็นต่างเหล่านี้เป็นความท้าทายและอุปสรรคในการสื่อสาร ซึ่งต้องหาวิธีแก้และจัดการข้อมูลต่าง ๆ ของทีมสื่อสาร เพื่อนำเสนอต่อไป
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง:
กรมสุขภาพจิต สร้าง MIT นักสื่อสารสุขภาพจิต ดึง Hfocus ร่วมนักสื่อสารหลายภาคส่วนให้ความรู้เพียบ
- 483 views