รมว.สาธารณสุข เผยผลติดตาม 30 บาทรักษาทุกที่ฯ  เฟสแรก 4 จังหวัด ไม่มีเสียงเรียกร้อง เสียงบ่นจากผู้ให้บริการ ไม่เป็นการเพิ่มภาระงานให้บุคลากร ยก จ.ร้อยเอ็ด แบ่งเบางาน เหตุใช้ระบบดิจิทัลเข้าช่วยลดกำลังคน  จากเดิมห้องบัตรใช้คน 20-30 คน ตอนนี้ลดเหลือไม่ถึง 10 คน 

เฟสแรกลดภาระบุคลากร

เมื่อวันที่ 5 มีนาคม นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวถึงการขับเคลื่อน "นโยบายยกระดับ 30 บาทรักษาทุกที่ด้วยบัตรประชาชนใบเดียว ระยะที่ 2" ว่า นโยบายยกระดับ 30 บาทรักษาทุกที่ ด้วยบัตรประชาชนใบเดียว คิกออฟระยะแรกเมื่อวันที่ 7 ม.ค.ที่ผ่านมา ใน 4 จังหวัดนำร่อง ได้แก่ แพร่ เพชรบุรี ร้อยเอ็ด และนราธิวาส ขณะนี้ผ่านมาแล้ว 2 เดือน จากการติดตามประเมินผลทุกมิติ พบว่า ประชาชนให้การตอบรับดีมาก มากกว่า 80% ขึ้นไป พึงพอใจในโครงการนี้ในการมารับบริการ เป็นไปตามวัตถุประสงค์ คือ สะดวก รวดเร็ว ลดความแออัด ภาระงานบุคลากรประเมินจากกายภาพข้อเท็จจริง ไม่มีเสียงบ่น เรียกร้องเรื่องภาระงานทั้ง 4 จังหวัด

(ข่าวเกี่ยวข้อง: เดินหน้า 30 บ.รักษาทุกที่ฯเฟสสอง 8 จังหวัด เริ่มแล้ว 1 มี.ค.ก่อนเพิ่มอีก 20 จังหวัด พ.ค. นี้)

หมดห่วง! ไร้ Shopping Around 

สิ่งที่มีข้อกังวลเรื่องการบริการข้ามเขต หรือใช้บริการตามอำเภอใจ Shopping Around มีผลการปฏิบัติงานชัดว่า การใช้บริการเพิ่มขึ้นทั้ง 4 จังหวัด ประมาณ 8.7% เทียบจากเวลาเดิมเมื่อปีที่แล้ว เมื่อดูบริการที่เพิ่มขึ้นใช้บริการข้ามเขตหรือไม่ พบเพิ่มขึ้น 6.9% บางแห่งไม่ถึง 5% บางแห่งติดลบด้วยซ้ำ ซึ่งไม่มีนัยสำคัญทางสถิติ เพราะปกติที่มีการใช้ข้ามเขตก็อยู่ประมาณนี้ บางที่รับได้ถึง 10% 

"จากการเฝ้าระวังติดตามรายงานการใช้บริการในพื้นที่ ชัดเจนว่า ไม่มีเสียงเรียกร้อง เสียงบ่นจากผู้ให้บริการ เจาะลึกลงไปการบริการที่เพิ่มขึ้น วัดอย่างชัดเจนว่าไม่เป็นการเพิ่มภาระงานให้แก่บุคลากร ที่จะรับได้เกินขีดความสามารถ บางที่ลดด้วย เพราะใช้ระบบดิจิทัลเข้ามาช่วยลดกำลังคนได้ เช่น จ.ร้อยเอ็ด ห้องบัตรเดิมใช้คน 20-30 คน ตอนนี้ลดเหลือไม่ถึง 10 คน และใช้เป็น One Stop Service สำหรับบริการอื่นในจุดนี้ด้วย เช่น ประกันสังคม แจ้งเกิดแจ้งตาย รวบยอดได้หมด" นพ.ชลน่านกล่าว

30 บาทรักษาทุกที่ ลดค่าใช้จ่ายเดินทาง

นพ.ชลน่านกล่าวว่า การจัดระบบริการแบบนี้ การบริการข้ามเขต หรือพี่น้องมารับบริการ สามารถลดค่าใช้จ่ายการเดินทางมากมาย แต่ต้องประเมินตัวเลขกลับมาอีกทีให้เห็นชัดว่า ภาระค่าใช้จ่ายที่ลดลงไป มีผลต่อด้านเศรษฐกิจ การประหยัดงบประมาณได้อย่างไร

สิทธิอื่นได้โอกาสบันทึกข้อมูลสุขภาพ ปูทางอนาคต

นพ.ชลน่านกล่าวว่า โครงการนี้นอกจากให้สิทธิบัตรทอง 50 ล้านคนแล้ว สิทธิอื่นก็ได้โอกาสไปด้วย ในการบันทึกข้อมูลสุขภาพในการมาใช้บริการ มี PHR เข้าสู่ระบบทั้งหมด ไม่ว่ามีสิทธิใดประกันสังคม ข้าราชการ ก็มีข้อมูลทั้งหมด ต่อไปก็ไปใช้บริการที่ไหนก็ได้ แต่การเชื่อมต่อระบบเบิกจ่ายยังใช้สิทธิใครสิทธิมันอยู่ ในอนาคตจะใช้เป็นโอกาสอำนวยความสะดวกประชาขนทุกสิทธิ ที่จะใช้การเบิกจ่ายผ่านระบบดิจิทัล เชื่อมโยงข้อมูลกันในฐานการเบิกจ่าย Financial Data Hub เสมือนมีเคลียริงเฮาส์ตรงกลางใหญ่ กระจายยิงไปแต่ละกองทุนให้ไปเบิกตามสิทธิได้เลย ไม่ต้องใช้ระบบเบิกจ่ายตามปัจจุบัน จะก็อำนวยความสะดวก หน่วยบริการ และกองทุน จะเห็นข้อมูลทั้งหมด จะเห็นว่าการเบิกจ่ายสมเหตุสมผลไหม บริการจริงหรือไม่ มีบันทึกการเข้ารับบริการที่สามารถบยืนยันได้ ไม่ซ้ำซ้อน เป็นผลดีกับประเทศโดยรวมดูแลค่าใช้จ่ายในมิติสุขภาพ 

"ยืนยันว่าไม่ใช่ของแถม แต่เป็นความตั้งใจ เราใช้ 30 บาทรักษาทุกที่นำร่องให้สิทธิเข้ามาร่วมจัดบริการกับเราโดยสมัครใจ ไม่ต้องบังคับ เมื่อก่อนเขียนไว้ในกฎหมายหลักประกันฯ มาตรา 9 และมาตรา 10 ว่า 3 กองทุนจะมาจัดบริการร่วมกันให้ไปคุยและออกพระราชกฤษฎีกา 20 ปีที่ผ่านมาไม่เคยคุย เพราะต่างคนต่างหวงกองทุนตัวเอง แต่พอจัดระบบริการแบบนี้ทุกฝ่ายจะเข้ามาร่วมด้วยเพาะเราไม่ได้ไปแตะกองทุนเขา เรามาอำนวยความสะดวกเรื่องระบบการจ่ายและการดูแลข้อมูลเท่านั้น ขอให้ประชาชนมั่นใจนโยบายนี้ เรายกระดับไม่เฉพาะเปลี่ยนจากระบบพื้นฐานด้วยมือมาเป็นดิจิทัล เพียงบัตรประชาชนใบเดียว ไม่ใช่แค่นั้น บัตรประชาชนเป็นแค่ช่องทางการใช้ แต่สิทธิประโยชน์ก็พัฒนายกระดับขึ้นมากมาย" นพ.ชลน่านกล่าว

นพ.ชลน่านกล่าวว่า เราจะดำเนินการโครงการนี้ให้จบในสิ้นปี 2567  ครบทุกจังหวัดครบทุกเครือข่ายที่เข้าสู่ระบบบริการ เพราะฉะนั้น แนวทางดำเนินการเฟส 1 จบไปแล้ว เราจะเริ่มเฟสสองอีก 8 จังหวัด  ได้แก่ เพชรบูรณ์ นครสวรรค์ สิงห์บุรี สระแก้ว หนองบัวลำภู นครราชสีมา อำนาจเจริญ และพังงา เปิดบริการไปแล้วตั้งแต่วันที่ 1 มี.ค.ที่ผ่านมา  และ จะเชิญนายกฯ เป็นประธานคิกออฟเฟสสอง ที่ จ.นครราชสีมา ในวันที่ 30 มี.ค.นี้ 

ผลประเมิน 2 เดือนเฟสแรก

ด้าน นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัด สธ. กล่าวว่า จากการคิกออฟ 30 บาทรักษาทุกที่ฯ ระยะแรก 4 จังหวัดนำร่อง ภายใน 2 เดือน ภาพรวมการดำเนินงานพบว่า 1.การพัฒนาระบบเชื่อมโยงข้อมูลสารสนเทศ เพื่อให้ประชาชนเข้าถึงข้อมูลสุขภาพตนเอง รับบริการไร้รอยต่อ หน่วยงานในสังกัด สำนักงานปลัด สธ. 49 แห่ง ส่งข้อมูลเข้าสู่ฐานข้อมูล MOPH PHR เชื่อมโยงระบบได้ครบ 100%  2.การพัฒนาระบบยืนยันตัวตน การเข้าถึงข้อมูล มีผู้รับบริการยืนยันตัวตน Health ID 1.3 ล้านคน และบุคลากรสาธารณสุขยืนยันตัวตน Provider ID รวม 12,695 ราย ลงทะเบียนต่อบุคลากรสูงสุดที่ จ.เพชรบุรี  78.7%  3.การพัฒนาระบบบริการแก่ประชาชน ออกลายมือชื่ออิเล็กทรอนิกส์ 4 วิชาชีพ รวม 1,230 คน ออกใบรับรองแพทย์ดิจิทัลสะสม 2,911 ใบ ให้บริการส่งยาและเวชภัณฑ์ผ่าน Health Rider 83.7% จัดส่งแล้ว 7,816 ครั้ง นราธิวาสสูงสุด 4,453 ครั้ง ประชาชนพอใจสูงสุด 99% นัดหมายออนไลน์ 43 แห่งจาก 49 แห่ง บริการการแพทย์ทางไกลเภสัชกรรมทางไกล 3,168 ครั้ง

4.การพัฒนา รพ.อัจฉริยะ Smart Hospital ความปลอดภัยไซเบอร์ตามมาตรฐานสากล ผ่านเกณฑ์ประเมิน รพ.อัจฉริยะระดับเพชร 5 แห่ง ระดับเงิน 44 แห่ง ผ่านประเมินความปลอดภัยครบถ้วนทุกแห่ง แพร่ยกระดับความปลอดภัยระดับดีครบ 100% ทั้งจังหวัด 5.การเบิกจ่ายค่าชดเชยกับ สปสช. ผ่าน Financial Data Hub ทุกแห่ง มียอดเรียกเก็บ 624,437,769 บาท จาก 545,283 เคส อนุมัติแล้ว 80,893 เคส คิดเป็นร้อยละ 14.8% แพร่ส่งข้อมูลเบิกชดเชยมากที่สุด 191,373 เคส และ 6.จากการเฝ้าระวังจากการขับเคลื่อนนโยบาย 17 ก.พ. - 1 มี.ค. 2567 พบส่วนใหญ่เป็นเรื่องเชิงบวก 86% ส่วนใหญ่ให้กำลังใจบุคลากรและ สธ. อยากให้ขยายผลครอบคลุมทุกพื้นที่ บางส่วนมีความกังวลเรื่องความปลอดภัยของข้อมูลบ้าง และพบปัญหาหน้างาน เช่น การลงทะเบียนการใช้งานที่พชรบุรี มีระบบตรวจสอบและแก้ไขทันที

ถามถึงกรณีสิ้นปี 2567 จะขยายให้ครบทุกสิทธิ และจะมีหน่วยงานใดเป็นเคลียริงเฮาส์ นพ.ชลน่านกล่าวว่า ถือเป็นเป้าหมายดำเนินการให้เสร็จในสิ้นปี 2567 โดยเฟส 4 อิงกับการใช้เม็ดเงินงบประมาณปี 2568 ที่ออก ต.ค. 2567 ที่จะเข้ามาสนับสนุนโครงการ โดยเฟส 1-2 ใช้งบประมาณ 2566 ไปพลางก่อนส่วนหนึ่ง อีกส่วนหนึ่งเป็นบริการนวัตกรรมใหม่เราของบกลาง เฟส 1 รวม 300 กว่าล้านบาท เฟสสอง 800 กว่าล้านบาท พอเฟส 3-4 เข้างบประมาณปกติ จึงกำหนดให้สิ้นสุดในสิ้นปี ส่วนสิทธิอื่นๆ จะเข้ารับบริการทั้งหมดหรือไม่ ยืนยันว่าเราวาง 30 บาทรักษาทุกที่ เป็นโครงการของบัตรทอง แต่สิทธิไหนก็ตาม เอาบัตรประชาชนมารักษาจะถูกบันทึกข้อมูล PHR ในระบบ มี Health ID  ต่อไปใช้บริการก็สามารถเอาบัตรประชาชนใบเดียวไปใช้ได้ทุกกที่ แต่ต้องต่อเตินระบบการจ่ายเงิน เพราะแต่ละสิทธิจะมีกองทุนของตัวเอง ทำอย่างไรให้การจ่ายเงินง่าย สะดวก ผ่านศูนย์หรือเซ็นเตอร์ใหญ่เสมือนเป็นหน่วยเคลียริงเฮาส์ให้ แต่เงินอยู่กับแต่ละที่เลย

"เมื่อก่อน สปสช. เป็นเคลียริงเฮาส์ให้สิทธิ UCEP ฉุกเฉินวิกฤตรักษาฟรี 72 ชั่วโมง สปสช.เรียกเก็บจากแต่ละกองทุน ต่อไปไม่ต้องตามจ่ายแบบนี้ เพราะระบบดิจิทัลสามารถยิงตัวเลขเข้าไปแล้วก็จ่ายกันได้เลย นี่คือการพัฒนาเชิงระบบ ส่วนหน่วยงานที่จะเป็นจุดกลาง Financial Data Hub จะมีกองเศรษฐกิจสุขภาพดูแลอยู่ ก็จะยิงเชื่อมทุกกองทุนมาตรงกลาง ทำให้เบิกจ่ายสะดวก เพราะเป็นแบบเรียลไทม์" นพ.ชลน่านกล่าว

ถามย้ำว่าเฟส 1-2 ใช้ได้ภายในจังหวัด ส่วนเฟส 3 จะเป็นระดับเขต ใน 4 เขตสุขภาพใช่หรือไม่ นพ.ชลน่านกล่าวว่า ถ้าเปิดครบทั้ง 4 เขตสุขภาพครบ 27 จังหวัด เขตสุขภาพที่ 1 มี 8 จังหวัด เขตสุขภาพที่ 4 มี 8 จังหวัด เขตสุขภาพที่ 9 มี 4 จังหวัด และเขตสุขภาพที่ 12 มี 7 จังหวัด รวม 27 จังหวัด ประชาชนสามารถไปใช้บริการจังหวัดไหนก็ได้ถ้าจำเป็น เช่น ไปเที่ยวภาคใต้ ต้องเข้าไปนราธิวาส รพ.ไหนก็ได้ เหมือนใช้ที่ร้อยเอ็ดหรือแพร่ คือ ความสะดวกของประชาชน