“ชลน่าน” ลั่นเดินหน้า 30 บาทรักษาทุกที่ฯ เฟสสอง 8 จังหวัด เริ่มแล้ว 1 มี.ค.  นายกฯเปิดทางการสิ้นเดือนนี้ จากนั้น พ.ค. เพิ่มเป็น 20 จ. ก่อนครบทั้งประเทศในปี 67 เผยผลเฟสแรกปชช. 4 จ.พอใจสูงสุด  โดยเฉพาะ Health Rider  ไม่กระทบภาระงานบุคลากร สธ.

เมื่อวันที่ 5 มีนาคม 2567 ที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.)  นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข แถลงข่าวความพร้อมการขับเคลื่อน "นโยบายยกระดับ 30 บาทรักษาทุกที่ด้วยบัตรประชาชนใบเดียว ระยะที่ 2" ว่า นโยบายยกระดับ 30 บาทรักษาทุกที่ด้วยบัตรประชาชนใบเดียว เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีของประชาชน ซึ่งกระทรวงสาธารณสุข  ดำเนินการไปแล้ว  โดยคิกออฟระยะแรกไปเมื่อวันที่ 7 มกราคมที่ผ่านมา ใน 4 จังหวัดนำร่อง ได้แก่ แพร่ เพชรบุรี ร้อยเอ็ด และนราธิวาส ขณะนี้ผ่านมาประมาณ 2 เดือน พบว่า ประชาชนให้การตอบรับดีมาก เนื่องจากเข้ารับบริการทางการแพทย์และสาธารณสุขได้สะดวก รวดเร็ว และใกล้บ้าน ลดระยะเวลาในการรอคอย จากการลงทะเบียนยืนยันตัวตนผู้รับบริการ (Health ID) และมีการเชื่อมโยงข้อมูลประวัติสุขภาพอิเล็กทรอนิกส์ส่วนบุคคล (PHR) ทำให้เรียกดูประวัติการรักษาได้ทุกสถานบริการ อีกทั้งมีระบบบริการดิจิทัล ทั้งการออกใบรับรองแพทย์ การนัดหมายออนไลน์ การแพทย์ทางไกลและเภสัชกรรมทางไกล รวมถึงจัดส่งยาและเวชภัณฑ์ถึงบ้านผ่าน Health Rider ไม่ต้องรอรับยาที่โรงพยาบาล 

ความพึงพอใจHealth Rider

โดยผลสำรวจความพึงพอใจการรับบริการ Health Rider ระหว่างวันที่ 23 กุมภาพันธ์ -1  มีนาคม 2567 พบว่า ภาพรวมพึงพอใจสูงถึง 99.6% แบ่งเป็น ด้านความรวดเร็ว 99.2% ด้านเจ้าหน้าที่ส่งยา 99.5% ความสมบูรณ์ของพัสดุ 100% ความมีประโยชน์ 99.8% และช่วยลดระยะเวลารอคอย 99.5%

"ส่วนข้อกังวลเรื่องผู้ป่วยจะเข้ารับบริการเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะโรงพยาบาลใหญ่ จากข้อมูลพบว่าเพิ่มขึ้นเพียง 8.7% ซึ่งเป็นสัดส่วนที่ไม่มาก การใช้บริการข้ามพื้นที่เพิ่มประมาณ 6.9% บางแห่งไม่เกิน 5% ไม่มีผลกระทบต่อภาระงานและบุคลากร ขณะที่การเบิกจ่ายค่าบริการสาธารณสุขของหน่วยบริการ 49 แห่ง ตั้งแต่วันที่ 7 มกราคม - 1 มีนาคม 2567 มียอดเรียกเก็บรวม 624,437,769.19 บาท จาก 545,283 ราย" นพ.ชลน่านกล่าว

นพ.ชลน่าน กล่าวต่อว่า สำหรับการเดินหน้ายกระดับ 30 บาทรักษาทุกที่ ด้วยบัตรประชาชนใบเดียว ระยะที่ 2 ใน 8 จังหวัด ได้แก่ เพชรบูรณ์ นครสวรรค์ สิงห์บุรี สระแก้ว หนองบัวลำภู นครราชสีมา อำนาจเจริญ และพังงา ขณะนี้มีความพร้อม 100% และได้เปิดบริการไปแล้วตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคมที่ผ่านมา ซึ่งแต่ละจังหวัดเป็นตัวแทนของแต่ละเขตสุขภาพ โดยเพชรบูรณ์ เป็นตัวแทนของเขตสุขภาพที่ 2  ,นครสวรรค์ เป็นตัวแทนของเขตสุขภาพที่ 3   ,สิงห์บุรี  เป็นตัวแทนของเขตสุขภาพที่ 4 ,  สระแก้ว เป็นตัวแทนของเขตสุขภาพที่  6, หนองบัวลำภู  เป็นตัวแทนของเขตสุขภาพที่  8, นครราชสีมา เป็นตัวแทนของเขตสุขภาพที่   9, อำนาจเจริญ เป็นตัวแทนของเขตสุขภาพที่ 10  และพังงา เป็นตัวแทนของเขตสุขภาพที่  11


 
นพ.ชลน่าน กล่าวอีกว่า ทั้งหมดได้เชื่อมโยงข้อมูล PHR ของโรงพยาบาลในสังกัดกระทรวงสาธารณสุขครบทุกแห่งและทุกกองทุนสุขภาพแล้ว ภาพรวม 8 จังหวัด มีประชาชนลงทะเบียน Health ID แล้ว มากกว่า 2 ล้านคน จังหวัดพังงาลงทะเบียนสูงสุดเกือบ 50% บุคลากรทางการแพทย์ยืนยันตัวตน Provider ID แล้ว 3.9 หมื่นคน โดยนครราชสีมาและสระแก้ว ยืนยันมากกว่า 90% มีการให้บริการออกใบรับรองแพทย์ดิจิทัล การแพทย์ทางไกลและเภสัชกรรมทางไกล ครบทั้ง 8 จังหวัด จัดส่งยาและเวชภัณฑ์ผ่าน Health Rider แล้ว 62 แห่ง ใน 6 จังหวัด คิดเป็น 64.6% รวม 1,719 ออเดอร์ โดยสระแก้วและพังงาอยู่ระหว่างดำเนินการ ส่วนบริการนัดหมายออนไลน์ผ่านหมอพร้อมอยู่ระหว่างดำเนินการให้ครอบคลุมทุกโรงพยาบาล

สำหรับเรื่องความปลอดภัยทางไซเบอร์ ได้ประเมินความเสี่ยงของโรงพยาบาลในระยะที่ 2 ทั้ง 96 แห่ง เพื่อยกระดับการป้องกันและสร้างความปลอดภัย โดยมีการอัปเกรดคอมพิวเตอร์และระบบปฏิบัติการของโรงพยาบาลให้รองรับระบบการให้บริการใหม่ เพิ่มศักยภาพบุคลากรด้านเทคโนโลยีดิจิทัล พร้อมสื่อสารประชาสัมพันธ์ทั้งบุคลากรและประชาชน รวมทั้งมอบหมายให้ สปสช.เร่งทำข้อสรุปหลักเกณฑ์และกระบวนการเบิกจ่าย การยืนยันตัวตน การเปิดสิทธิ์ ปิดสิทธิ์ ให้มีความชัดเจน เพื่อให้หน่วยบริการภาคเอกชนมั่นใจและเข้าร่วมโครงการ ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรีจะเป็นประธานคิกออฟยกระดับ 30 บาทรักษาทุกที่ ด้วยบัตรประชาชนใบเดียว ระยะที่ 2 อย่างเป็นทางการ ที่จังหวัดนครราชสีมา ในวันที่ 30 มีนาคม และในเดือนพฤษภาคมจะเพิ่มเป็น 20 จังหวัด จากนั้นขยายครอบคลุมทั้งประเทศ ภายในปี 2567 นี้

ข่าวเกี่ยวข้อง 

"ชลน่าน“ เผยผลประเมิน 30 บ.รักษาทุกที่ฯ เฟสแรก ไร้เสียงบ่นจากบุคลากร 4 จ.