กรมควบคุมโรค เผยผลสำรวจประชาชนมีทัศนคติเลือกปฏิบัติต่อผู้ติดเชื้อเอชไอวีถึง 27.9% ขณะที่ผู้ติดเชื้อเอชไอวีรายใหม่ 9,230 คน เป็นเยาวชนอายุ 15-24 ปี เกือบ50%ยังพบเยาวชนอายุ 18-24 ปี ตีตราตนเองสูงถึง 49.3% ถูกละเมิดสิทธิ 7.5% เปิดแคมเปญลดตีตรา รับ 1 มี.ค. เป็นวันครบรอบ 10 ปีวันยุติการเลือกปฏิบัติสากล
เมื่อวันที่ 1 มีนาคม 2567 ที่ กรมควบคุมโรค นพ.นิติ เหตานุรักษ์ รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวเปิดกิจกรรมรณรงค์เนื่องในวันยุติการเลือกปฏิบัติสากล (Zero Discrimination Day) โดยมีผู้แทนเยาวชนภาคประชาสังคม ภาคเอกชน ร่วมแสดงพลังคนรุ่นใหม่ “เยาวชน…ผู้นำการเปลี่ยนแปลง เพื่อสังคมไม่เลือกปฏิบัติ”ว่า ตนเคยเป็นแพทย์ผ่าตัด ที่ผ่านมาจะพบเคสผู้ป่วยเอชไอวีตลอด แต่หลังๆ ไม่ค่อยพบแล้ว เป็นผลมาจากการดำเนินการรณรงค์การป้องกันการติดเชื้อ อย่างไรก็ตาม จากปี 2535 ยอดอุบัติการณ์ปีละ 1.6 แสนราย วันนี้ 9 พันกว่าราย เป็นผลจากการดำเนินงาน และคาดหวังว่าปี 2573 จะยุติเอดส์ โดยมีเป้าหมายให้เคสใหม่ต้องน้อยกว่า 1,000 ราย ซึ่งกำลังสำคัญคือเยาวชน
คร.เดินหน้าลดการตีตรา หนึ่งในเป้าหมายยุติเอดส์
นพ.นิติ กล่าวว่า ทั้งนี้ ประเทศไทยมุ่งมั่นที่จะยุติปัญหาเอดส์โดยขับเคลื่อนยุทธศาสตร์แห่งชาติว่าด้วยการยุติปัญหาเอดส์ ปี พ.ศ. 2560 – 2573 โดยคำนึงถึงสิทธิมนุษยชนและความเสมอภาคระหว่างเพศ ซึ่งหนึ่งในเป้าหมายหลักที่จะยุติเอดส์ คือ ลดการตีตราและเลือกปฏิบัติ ให้เหลือไม่เกินร้อยละ 10 แต่จากผลสํารวจสถานการณ์เด็กและสตรี ประเทศไทย ปี พ.ศ. 2565 ยังพบว่าประชาชนมีทัศนคติในการเลือกปฏิบัติต่อผู้ติดเชื้อเอชไอวีถึงร้อยละ 27.9 และจากการคาดประมาณสถานการณ์เอชไอวี/เอดส์ ประเทศไทย ปี พ.ศ. 2565 คาดว่าผู้ติดเชื้อเอชไอวีรายใหม่ 9,230 คน ซึ่งเป็นเยาวชนอายุ 15-24 ปี จำนวน 4,379 คน นับเป็นเกือบครึ่งหนึ่งของผู้ติดเชื้อรายใหม่ทั้งหมด
สำรวจพบเยาวชนติดเอชไอวีตีตราตัวเองสูง
นอกจากนี้ ผลการสำรวจดัชนี ตีตราและเลือกปฏิบัติในผู้ติดเชื้อเอชไอวีประเทศไทยปี พ.ศ. 2566 พบว่า เยาวชนอายุ 18-24 ปี มีการตีตราตนเอง สูงถึงร้อยละ 49.3 ถูกละเมิดสิทธิร้อยละ 7.5 และถูกเลือกปฏิบัติในชุมชนร้อยละ 9.0 จากข้อมูลดังกล่าวชี้ให้เห็นว่า การตีตราและการเลือกปฏิบัติที่ยังมีอยู่ในสังคม ถือเป็นอุปสรรคที่สำคัญ ในการดำเนินงานเพื่อยุติปัญหาเอดส์ในประเทศไทย เนื่องจากการตีตราและการเลือกปฏิบัติ รวมทั้งการถูกละเมิดสิทธิด้านต่างๆ ส่งผลให้ประชากรกลุ่มเสี่ยงและผู้ติดเชื้อเอชไอวี หลีกเลี่ยงหรือเกิดความลังเลในการเข้าถึงบริการ ด้านสุขภาพ และอาจขาดโอกาสในการได้รับบริการป้องกัน การตรวจหาการติดเชื้อเอชไอวี และการดูแลรักษา ที่ถูกต้องและต่อเนื่อง ซึ่งส่งผลโดยตรงต่อสุขภาพและคุณภาพชีวิต
นพ.นิติ กล่าวว่า เพื่อให้การดำเนินงานมุ่งสู่เป้าหมายโดยเร็ว กรมควบคุมโรคร่วมกับภาคีเครือข่ายขับเคลื่อนการดำเนินงาน ดังนี้
1.สนับสนุนการยกเลิกกฎหมาย นโยบายและข้อจำกัดทางสังคมที่เป็นอุปสรรคในการเข้าถึงบริการด้านเอชไอวี สุขภาวะทางเพศและอนามัยการเจริญพันธุ์ในกลุ่มวัยรุ่นและเยาวชน
2.พัฒนาระบบข้อมูลและกลไก การรับเรื่องร้องเรียนและคุ้มครองการละเมิดสิทธิด้านเอดส์ ด้วยเว็บแอป “สวัสดีปกป้อง” ระบบจัดการปัญหาการ ถูกละเมิดสิทธิและการให้ความช่วยเหลือที่สะดวก เข้าถึงง่าย
3.รณรงค์สร้างความเข้าใจกับคนรุ่นใหม่ ใช้สื่อโซเซียลมีเดีย เป็นพลังในการขับเคลื่อนแนวคิดของคนในสังคมให้เห็นว่าเอชไอวี อยู่ร่วมกันได้ ลดการตีตรา และเลือกปฏิบัติต่อผู้ที่มีเอชไอวี
4.พัฒนาระบบบริการสุขภาพที่เป็นมิตรต่อเยาวชนที่มีเอชไอวี โดยการมีส่วนร่วมของเยาวชนในการจัดบริการสุขภาพ
5.พัฒนาศักยภาพเพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการตีตราและเลือกปฏิบัติ โดยจัดการเรียนรู้ในรูปแบบ E-learning แก่นักศึกษาแพทย์และนักศึกษาพยาบาล ซึ่งจะเป็นผู้ให้บริการทางสุขภาพในอนาคต สามารถนำความรู้ไปใช้ในการป้องกันและแก้ไขปัญหาการตีตราและการเลือกปฏิบัติในสถานบริการสุขภาพ
นพ.นิติ ยังกล่าวอีกว่า ขอเชิญชวนให้ทุกท่านร่วมกันสร้างการเปลี่ยนแปลงและสร้างกระแสสังคม โดยรณรงค์ผ่านสื่อโซเชียลมีเดีย สานพลังเยาวชนคนรุ่นใหม่ ยุติการเลือกปฏิบัติ ยุติเอดส์ประเทศไทย พร้อมติด แฮชแท็ก #ทุกคนเท่ากัน #ไม่เลือกปฏิบัติ #changeforall เพื่อสร้างกระแสสังคมให้ทุกคน ทุกภาคส่วน ร่วมเป็น ส่วนหนึ่งในการยุติการตีตราและเลือกปฏิบัติ สร้างความเข้าใจ สร้างความตระหนักว่าเอชไอวีหรือเอดส์สามารถอยู่ร่วมกันได้ และมีความเท่าเทียม เพื่อให้เกิดสังคมที่ไม่เลือกปฏิบัติ สร้างคุณภาพชีวิตที่ดีของผู้ติดเชื้อเอชไอวี และมุ่งสู่เป้าหมายการยุติเอดส์ภายในปี พ.ศ. 2573 สอดคล้องกับแนวคิดสากล “To protect everyone’s health, protect everyone’s rights : ปกป้องสิทธิ เพื่อปกป้องสุขภาพของทุกคน”
ด้าน พญ.ชีวนันท์ เลิศพิริยสุวัฒน์ ผู้อำนวยการกองโรคเอดส์และโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ กล่าวว่า ประเทศไทยได้แสดงเจตนารมณ์อย่างมุ่งมั่นที่จะยุติปัญหาเอดส์ ภายในปี 2573 หนึ่งในเป้าหมายหลัก คือ การลดการรังเกียจและการเลือกปฏิบัติที่เกี่ยวเนื่องจากเอชไอวีและเพศภาวะให้เหลือไม่เกิน 10% ในปัจจุบัน พบว่าเกือบ 1 ใน 3 ของประชาชนไทยยังมีทัศนคติที่เลือกปฏิบัติต่อผู้ติดเชื้อเอชไอวี และพบว่าเยาวชนที่อยู่ร่วมกับเอชไอถูกเลือกปฏิบัติจากการรรับบริการด้านสุขภาพ และจากชุมชน รวมทั้งยังถูกละเมิดสิทธิในการเข้าเรียนหรือรับทุนการศึกษา หรือการสมัครงาน และเกือบครึ่งหนึ่งของเยาวชนมีการตีตราตนเอง ซึ่งการตีตราและเลือกปฏิบัติ รวมทั้งการละเมิดสิทธิมนุษยชน เป็นอุปสรรคสำคัญในการเข้าถึงบริการสุขภาพที่เหมาะสมของประชาชน
ดังนั้น การสร้างความเข้าใจและสานพลังจากทุกภาคส่วนในสังคมเพื่อยุติดการเลือกปฏิบัติและปกป้องสิทธิของประชาชนเป็นทางที่จะช่วยปกป้องสุขภาพของทุกคนและนำไปสู่การยุติเอดส์ได้
“วันที่ 1 มีนาคม เป็นวันครบรอบ 10 ปีของวันยุติการเลือกปฏิบัติสากล กรมควบคุมโรค ศูนย์ความร่วมมือไทย - สหรัฐด้านสาธารณสุข โครงการเอดส์แห่งสหประชาชาติประจำประเทศไทย และมูลนิธิเดอะลิ้งค์ ร่วมกันจัดงานขึ้นเพื่อรณรงค์และสร้างกระแสสังคม ตามประเด็นสื่อสารเนื่องในวันยุติการเลือกปฏิบัติสากล ปี 2567 คือ ปกป้องสิทธิ เพื่อปกป้องสุขภาพของทุกคน โดยนำพลังของเยาวชนร่วมกันสร้างพลังในการเปลี่ยนแปลงเพื่อสังคมไม่เลือกปฏิบัติ” พญ.ชีวนันท์ กล่าว
- 976 views