สปสช. เปิดเวทีระดมสมอง ชวนภาคีเครือข่ายเอชไอวี/เอดส์ ร่วมหารือจัดทำข้อเสนอเพื่อขับเคลื่อนยุติเอดส์ในประเทศไทย ด้านผู้เชี่ยวชาญด้านเอดส์ระบุ ไทยมีศักยภาพยุติเอดส์ก่อนเป้าหมายในปี 2573 มีความพร้อมทั้งนโยบายและการให้บริการที่เกี่ยวกับเอชไอวี แต่ต้องแก้ไขปัญหาที่เป็นอุปสรรคก่อน ขยายช่องทางเข้าถึงยาต้านไวรัสในกรณีรักษาและป้องกันที่ร้านยา หน่วยบริการภาคประชาสังคม และเพิ่มจุดตรวจหาเชื้อเอชไอวีที่ รพ.สต. ด้วยชุดตรวจ HIV self-test
เมื่อวันที่ 15 ธันวาคม 2566 ที่ผ่านมา ในการประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อกำหนดแนวทางเร่งรัดยุติปัญหาเอดส์และการสนับสนุนภาคประชาสังคมร่วมดำเนินงานอย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืน จัดโดยสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ร่วมกับเครือข่ายองค์กรภาคประชาสังคมด้านเอดส์ กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข นักวิชาการ ผู้เชี่ยวชาญ องค์กรต่างประเทศผู้ให้ทุน สมาคมโรคเอดส์แห่งประเทศไทย และหน่วยงานอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง โดยมีวัตถุประสงค์ในการระดมความคิดเห็นเพื่อจัดทำข้อเสนอสู่การยุติปัญหาเอดส์ในประเทศไทยภายในปี 2573 ณ โรงแรม ทีเค. พาเลซ แอนด์ คอนเวนชัน
รศ.ดร.ภก.ยุพดี ศิริสินสุข รองเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวว่า สปสช. มีนโยบายให้ความสำคัญต่อการขับเคลื่อนแผนยุทธศาสตร์แห่งชาติว่าด้วยการยุติปัญหาเอดส์มาอย่างต่อเนื่อง ที่ผ่านมานอกจากสิทธิประโยชน์ที่ครอบคลุมการดูแลผู้ติดเชื้อเอชไอวี/เอดส์อย่างทั่วถึงแล้ว ได้มีการสนับสนุนการทำงานของหน่วยงานต่างๆ เพื่อมุ่งไปสู่เป้าหมาย เช่นเดียวกับการประชุมเชิงปฏิบัติในวันนี้ สปสช.จัดขึ้นเพื่อเปิดพื้นที่ให้หน่วยงานต่างๆ ตลอดจนภาคีเครือข่ายด้านเอดส์ ทั้งกรมควบคุมโรค ภาคประชาสังคม และองค์กรสนับสนุนเงินทุน ได้สะท้อนปัญหาของการทำงานในด้านต่างๆ และมาร่วมวางแนวทางในการดำเนินการร่วมกัน รวมถึงการจัดทำข้อเสนอของการขับเคลื่อน ซึ่งเชื่อว่าด้วยพลังของทุกคนและทุกภาคส่วนที่ได้มาร่วมกันระดมความคิดเห็นในวันนี้จะเป็นส่วนสำคัญที่นำไปสู่พันธกิจร่วมกัน เพื่อให้ประเทศไทยยุติปัญหาเอดส์ได้ตามเป้าหมายในปี 2573
ด้าน ศ.นพ.ประพันธ์ ภานุภาค ที่ปรึกษาอาวุโสด้านการวิจัยและนโยบาย สถาบันเพื่อการวิจัยและนวัตกรรมด้านเอชไอวี (IHRI) กล่าวว่า ไทยมีศักยภาพที่จะยุติเอดส์ใได้ก่อนเป้าหมายในปี 2573 เนื่องจากมีความพร้อมทั้งนโยบายและการให้บริการที่เกี่ยวกับเอชไอวี/เอดส์เพื่อสนับสนุน ไม่ว่าจะเป็นการตรวจหาเชื้อเอชไอวี/เอดส์ที่ให้สิทธิปีละ 2 ครั้ง การรับยาต้านไวรัสภายใน 24 ชม. หลังตรวจพบเชื้อ และการให้ยาป้องกันเอชไอวีก่อนการสัมผัสโรค (PreP) ในผู้ที่ผลตรวจไม่พบเชื้อแต่ยังมีพฤติกรรมเสี่ยง ซึ่งล้วนเป็นสิทธิประโยชน์ในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ รวมถึงมีนโยบายลดการตีตราและการเลือกปฏิบัติที่ช่วยให้ทุกคนเข้าถึงการดูแลได้
อย่างไรก็ตามในการดำเนินงานตามนโยบาย “ตรวจเร็ว รู้ผลและรักษาเร็ว” ที่ผ่านมายังพบปัญหาต่างๆ ที่เป็นอุปสรรคอยู่ เช่น คนที่ควรตรวจไม่มาตรวจเพราะคิดว่าไม่เสี่ยง ไม่รู้จะไปรับบริการที่ไหน ไม่รู้ว่าตรวจฟรีหรือไม่ รวมถึงกลัวถูกตีตรา ซึ่งจำเป็นต้องประชาสัมพันธ์ให้รับรู้มากขึ้น รวมถึงสร้างความตระหนักในการป้องกัน ตลอดจนการเปลี่ยนทัศนคติมองการตรวจเชื้อเอชไอวีเป็นเรื่องปกติ
ขณะที่หน่วยงานรัฐเองเพื่อให้บรรลุเป้าหมาย จะต้องสนับสนุนภาคประชาสังคมในการทำงานกับกลุ่มเป้าหมายมากขึ้น ลดหรือขจัดอุปสรรคทุกด้านเพื่อให้ภาคประชาชนร่วมให้บริการ นอกจากนี้ต้องกระจายการบริการตรวจเอชไอวี โดยให้โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) ให้บริการด้วยชุดตรวจ HIV self-test ได้ ที่ช่วยเพิ่มการเข้าถึงได้
ส่วนด้านการรักษานั้น ศ.นพ.ประพันธ์ กล่าวว่า ยังมีข้อจำกัดอยู่ เช่น ยังคงมีแพทย์ที่รอดูผลแล็บ CD4 ก่อนให้ยาต้านไวรัส ซึ่งไม่ได้ทำตามแนวทาง Same Day ART ที่ให้เริ่มการรักษาด้วยยาต้านเอชไอวีภายในวันเดียวกับวันที่ตรวจวินิจฉัยการติดเชื้อเอชไอวี ทั้งการให้ยาต้านไวรัสยังจำกัดให้แพทย์บางคนเท่านั้นที่จ่ายได้ นอกจากนี้ยังพบความไม่เท่าเทียมในการให้บริการจากสิทธิรักษาพยาบาลที่ต่างกัน ขณะที่ด้านสิทธิการรักษาพยาบาลนั้น ต้องกำหนดให้ชัดเจนว่า ผู้ป่วยบัตรทองสามารถรับยาต้านไวรัสได้ที่ทุกโรงพยาบาลและต้องทำได้จริงในทางปฏิบัติ ดังนั้นผู้ที่มีสิทธิประกันสังคมและข้าราชการควรได้รับยาต้านไวรัสหลังการตรวยืนยันภายใน 24 ชม. เช่นเดียวกับผู้ใช้สิทธิบัตรทอง นอกจากนี้ควรสนับสนุนให้แพทย์เวชปฏิบัติทั่วไป พยาบาลที่ดูแลผู้ติดเชื้อ ร้านยาในระบบบัตรทอง และองค์กรภาคประช่าสังคมสามารถจ่ายยา PreP หรือตามที่แพทย์สั่งได้ ซึ่งปัญหาที่กล่าวมาแล้วหากมีการปรับปรุงอย่างจริงจัง จะทำให้ไทยบรรลุเป้าหมายยุติเอดส์ในประเทศได้
ขณะที่ นพ.ปฏิภาคย์ นมะหุต ผู้อำนวยการฝ่ายกำกับติดตามประเมินผล กลุ่มภารกิจกำกับติดตามประเมินผล สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ กล่าวว่า ปัญหาท้าทายการทำงานด้านเอดส์ในอนาคต มองว่าจำเป็นต้องมีการจัดการฐานข้อมูล โดยคาดหวังว่าในอนาคตจะมีระบบสารสนเทศระดับชาติ (National Information System) เป็นแหล่งอ้างอิงข้อมูลของทั้งประเทศในด้านเอชไอวี/เอดส์ เพราะที่ผ่านมาการมีฐานข้อมูลหลายแหล่งยังไม่ได้บูรณาการข้อมูล ซึ่งส่งผลต่อการวิเคราะห์สถานการณ์เพื่อวางแนวทางแก้ปัญหาได้ รวมทั้งยังมีโจทย์กรณีผู้ติดเชื้อเอชไอวีไม่มารับบริการตามนัดหมาย (Loss to follow up) ซึ่งต้องมาดูว่าเกิดปัญหาจากอะไร เพื่อนำไปสู่การแก้ไขปัญหา และเกี่ยวข้องกับการเก็บข้อมูลที่อาจไม่ครบถ้วนหรือไม่
นอกจากนี้ในส่วนของอัตราของคนที่รู้ว่าตัวเองติดเชื้อเอชไอวีและเข้าสู่กระบวนการรักษา รวมถึงอัตราของผู้ติดเชื้อที่รับการรักษาแล้วสามารถกดเชื้อได้สำเร็จ ยังเป็นส่วนที่เราต้องทำงานต่อไป เนื่องจากเป็นแนวทางที่ทำให้การยุติเอดส์ประสบผลสำเร็จ เช่นเดียวกับตัวเลข CD4 หลังได้รับการวินิจฉัยว่าติดเชื้อเอชไอวี ที่ค่าเฉลี่ยจะอยู่ที่ 200 ต่อเนื่องมาหลายปีแล้ว บ่งชี้ถึงการเข้าสู่การรักษาขอที่ล่าช้า ก็ควรต้องมีแนวทางเพื่อให้เข้าถึงคนที่มีภาวะเสี่ยงติดเชื้อให้เร็วที่สุดเช่นกัน
- 135 views