กรมควบคุมโรค ชวนทุกหน่วยงาน ร่วมสร้างการเปลี่ยนแปลง “หยุดบังคับตรวจ หยุดใช้เอชไอวีเป็นเงื่อนไข หยุดการตีตราและเลือกปฏิบัติ” ย้ำหากถูกละเมิดสิทธิ หรือเผยสถานะการติดเชื้อเอชไอวี ให้พิมพ์คำว่า “สวัสดีปกป้อง” ใน Google เพื่อเข้าสู่ระบบข้อมูลและกลไกการรับเรื่องร้องเรียน
วันนี้ 20 พฤษภาคม 2567 นายแพทย์วีรวัฒน์ มโนสุทธิ นายแพทย์ทรงคุณวุฒิ โฆษกกรมควบคุมโรค กล่าวว่า ประเทศไทยมุ่งมั่นที่จะยุติปัญหาเอดส์ให้สำเร็จ ภายในปี 2573 โดยคำนึงถึงสิทธิมนุษยชน และความเสมอภาคระหว่างเพศ แต่หนึ่งในความท้าทายของการดำเนินงานในปัจจุบัน คือ ลดการตีตรา และเลือกปฏิบัติที่เกี่ยวเนื่องกับเอชไอวีและเพศภาวะที่ยังมีอยู่ในสังคม หลายคนเคยถูกแบ่งแยก ถูกปฏิเสธการเข้าร่วมกิจกรรมในสังคม ถูกละเมิดสิทธิมนุษยชนด้านต่าง ๆ รวมถึงการบังคับตรวจเลือดหาเชื้อเอชไอวี เพื่อนำมาใช้เป็นเงื่อนไขในการทำงาน สมัครเรียน หรือการบวชพระ เป็นต้น สอดคล้องกับผลการสำรวจดัชนีตีตราและเลือกปฏิบัติในผู้ติดเชื้อเอชไอวี ประเทศไทย ปี 2566 ที่ยังพบการถูกบังคับตรวจหรือเปิดเผยสถานะเพื่อรับ
การดูแลสุขภาพ ร้อยละ 5.2 เพื่อใช้สมัครงาน ร้อยละ 4.3 เพื่อขอวีซ่าหรือยื่นขอพำนักอาศัย/เป็นพลเมืองในประเทศ ร้อยละ 1.6 และเพื่อเข้าเรียนในสถาบันการศึกษา หรือรับทุนการศึกษา ร้อยละ 1.2
นายแพทย์วีรวัฒน์ กล่าวต่ออีกว่า เอชไอวี ติดต่อผ่าน 3 ช่องทางเท่านั้น คือ เพศสัมพันธ์ ที่ไม่ปลอดภัย ทางเลือด และการถ่ายทอดเชื้อจากมารดาสู่ทารกในครรภ์ อีกทั้ง เมื่อติดเชื้อเอชไอวี เชื้อไวรัสจะทำลายระบบภูมิคุ้มกันของร่างกาย แต่หากได้รับยาต้านเอชไอวีโดยเร็วและกินยาสม่ำเสมอ จะช่วยกดปริมาณไวรัสในกระแสเลือดได้ ร่างกายยังแข็งแรง และสามารถทำงานและใช้ชีวิตได้ตามปกติ แต่ถ้าไม่ได้กินยาโดยเร็วเมื่อภาวะภูมิคุ้มกันของร่างกายต่ำลงมาก จนไม่สามารถต่อสู้เชื้อโรคหรือสิ่งแปลกปลอมที่เข้าสู่ร่างกาย หรือที่เรียกว่าเป็นโรคเอดส์ จะทำให้เกิดโรคต่าง ๆ ที่เป็นอันตรายถึงแก่ชีวิตได้ง่ายกว่าคนทั่วไป ดังนั้น การใช้ชีวิตประจำวันร่วมกัน เช่น การกินข้าวด้วยกัน เรียนห้องเดียวกัน ทำงานด้วยกัน ใช้รถสาธารณะ หรือกิจกรรมอื่น ๆ ในชีวิตประจำวันนั้น ไม่มีโอกาสที่จะทำให้ติดเชื้อเอชไอวี
การขับเคลื่อนงานเพื่อลดการตีตราและการเลือกปฏิบัติที่เกี่ยวเนื่องกับเอชไอวีและเพศภาวะ ต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ซึ่งนับเป็นที่น่ายินดีอย่างยิ่งที่มหาเถรสมาคมรับทราบความเห็นจากกระทรวงสาธารณสุขว่าการติดเชื้อเอชไอวีหรือโรคเอดส์ไม่เข้าข่ายโรคติดต่อที่น่ารังเกียจ จึงได้มีมติมหาเถรสมาคมในคราวประชุมครั้งที่ 10/2567 เมื่อวันที่ 10 เมษายน 2567 ในการไม่ตรวจหาเชื้อเอชไอวีกรณีบรรพชาอุปสมบท และมอบสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ แจ้งเจ้าคณะใหญ่ทราบ และแจ้งพระอุปัชฌาย์ ถือปฏิบัติตามมติมหาเถรสมาคม นับเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีของการขับเคลื่อนการไม่ใช้การตรวจเอชไอวี เพื่อเป็นเงื่อนไขในการทำงาน เรียน บวช หรือกิจกรรมอื่นใด เพื่อยุติการตีตราและการเลือกปฏิบัติในเรื่องเอชไอวีและเพศภาวะ โดยคำนึงถึงศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ที่เท่าเทียมกัน และเคารพในสิทธิมนุษยชน จะนำไปสู่การยุติปัญหาเอดส์ของประเทศได้
กรมควบคุมโรคขอเชิญชวนร่วมสร้างการเปลี่ยนแปลง เพียงเริ่มต้นจากทุกคน ทุกหน่วยงาน ทุกสังคม ไม่เลือกปฏิบัติ ไม่ว่าคน ๆ นั้นจะอยู่ในสถานะใด รวมถึงการรักษาการติดเชื้อหรือโรคใดอยู่ก็ตาม เพื่อการเปลี่ยนผ่านไปสู่สังคมที่ปราศจากการตีตราและเลือกปฏิบัติ หากถูกละเมิดสิทธิ ถูกบังคับตรวจเอชไอวี ถูกเปิดเผยสถานะการติดเชื้อเอชไอวี หรือถูกเลือกปฏิบัติเนื่องจากเป็นกลุ่มเปราะบาง ให้พิมพ์คำว่า “สวัสดีปกป้อง” ใน Google เพื่อเข้าสู่ระบบข้อมูลและกลไกการรับเรื่องร้องเรียนและคุ้มครองการละเมิดสิทธิ ด้านเอดส์ หรือ CRS เป็นระบบจัดการปัญหาการถูกละเมิดสิทธิด้านเอดส์ ให้ความช่วยเหลือได้จริง สะดวก เข้าถึงง่าย บริการอย่างเท่าเทียมไม่ตีตราและเลือกปฏิบัติ
- 200 views