ชมรมผอ.รพ.ชุมชน เผย"โครงการบัตรปชช.ใบเดียวรักษาทุกที่" ตอบโจทย์ผู้ใช้บริการ เตรียมปรับระบบการเบิกจ่ายรับเฟส 2 ชี้ต้องเร่งพัฒนา รพช. ให้มีประสิทธิภาพ เพื่อให้บริการได้อย่างมีคุณภาพ ส่วนการถ่ายโอนรพ.สต.เน้นวางแผนบูรณาการเรื่องคน-เงิน-ของ
เมื่อวันที่ 13 ก.พ. 2567 ที่ผ่านมา ณ ศูนย์การประชุมอิมแพ็ค ฟอรั่ม เมืองทองธานี อําเภอปากเกร็ด จังหวัดนนทบุรี มีการจัดการประชุมเชิงปฏิบัติการการพัฒนาโรงพยาบาลชุมชนเพื่อขับเคลื่อนนโยบายยกระดับบัตรทอง 30 บาท และนโยบายกระทรวงสาธารณสุข พ.ศ. 2567 โดยมี นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธานเปิดการประชุม และคณะผู้บริหารเยี่ยมชมนิทรรศการรับฟังการนําเสนอผลงานการพัฒนาโรงพยาบาลชุมชนที่เป็นเลิศตามนโยบายกระทรวงสาธารณสุข รวมถึง นพ.ปวิตร วณิชชานนท์ ผอ.รพ.ละงู ประธานชมรมผู้อำนวยการโรงพยาบาลชุมชน เข้าร่วมอภิปรายด้วยเช่นกัน
ภายหลังอภิปราย นพ.ปวิตร ให้สัมภาษณ์ถึงการเตรียมความพร้อมการขับเคลื่อนนโยบายยกระดับบัตรทอง 30 บาท ว่า จริงๆกระทรวงสาธารณสุขได้ดําเนินการในเรื่องนี้มาตั้งแต่เฟสแรกแล้วและเฟสสองจะขยายเป็น 8 จังหวัด สำหรับในความพร้อมอื่นๆ ทางสายบริการสาธารณสุขเรามีเรื่อง 3 หมอ ซึ่งสามารถดูแลไปถึงรพ.สต.ได้ รวมทั้งมีหมอครอบครัวอยู่ด้วย เพราะฉะนั้นเรื่องของการเตรียมความพร้อม เราเองจะเน้นเตรียมเรื่องไอทีหรือเทคโนโลยีต่างๆมากกว่า ส่วนเรื่องบุคลากรคิดว่าไม่น่าจะมีปัญหา แต่เรื่องไอทีก็อาจจะต้องมีการปรับระบบต่างๆเพื่อให้เข้าสู่ในเรื่องของการเบิกจ่ายในการที่จะดูแลผู้ป่วยได้ดียิ่งขึ้น
เตรียมบูรณาการเรื่องคน เงิน ของ รองรับถ่ายโอนรพ.สต. ไป อบจ.
ส่วนการถ่ายโอนโรงพยาบาลส่งเสริมสุขสภาพตําบล (รพ.สต.) จริงๆแล้วเรามีการดําเนินงานในเรื่องของการถ่ายโอนมาอยู่เรื่อยๆ ดังนั้นเรื่องนี้ในช่วงแรกเราได้มีการเตรียมการในลักษณะที่ว่าจะมีการดูแลบูรณาการอย่างไรในเรื่องของ คน เงิน ของ จากรพช.ที่จะไปช่วย รพ.สต. หรือว่าลงไปดูเรื่องงบประมาณโดยให้ อบจ.เป็นผู้จัดการ ซึ่งตอนนี้ยังสามารถดำเนินการได้ไม่เกิดปัญหาอะไร
สําหรับโรงพยาบาลชุมชน "คําว่าโรงพยาบาลชุมชนก็คืออยู่ในชุมชน" เพราะฉะนั้นในเรื่องหลักๆก็ต้องมีการรักษาส่งเสริมป้องกันและฟื้นฟู ซึ่งการรักษาพยาบาลก็เป็นส่วนหนึ่งที่ทางกระทรวงสาธารณสุขเองพยายามเน้นในเรื่องของการรักษาพยาบาลให้มีมาตรฐานและมีคุณภาพมากขึ้น ซึ่งปัจจุบันทางโรงพยาบาลชุมชนก็จะมีโรงบาลแม่ข่ายซึ่งสามารถที่จะมีห้องผ่าตัด ห้องไอซียู มีอุปกรณ์เครื่องมือการแพทย์ที่ทันสมัย ฯลฯ ซึ่งอาจจะเป็นกระบวนการหรือสิ่งที่ทําให้พัฒนาคุณภาพบริการรักษาพยาบาลได้ดีขึ้น
"โครงการบัตรประชาชนใบเดียวรักษาทุกที่ ตามหลักจริงๆก็ดีต่อประชาชน เพราะประชาชนจะได้เข้ารับการรักษาที่ไหนก็ได้โดยไม่ต้องมีสิ่งกีดขวางหรือว่าสิ่งกีดกั้นทางด้านของสิทธิต่างๆ แต่ขณะเดียวกันทางหน่วยงานราชการรวมถึงโรงพยาบาลชุมชนต้องปรับตัวว่าเราจะทํายังไงให้ประชาชนสามารถที่จะไปรับบริการที่ไหนก็ได้หรือเราเพิ่มพัฒนาบริการเพื่อให้มารักษาบริการที่เรา แล้วเราจะมีระบบเบิกจ่ายหรือมีอะไรต่างๆที่จะต้องควบคุมติดตามกันยังไง เพราะฉะนั้นก็คงต้องอยู่ในช่วงปรับตัว ถ้าถามว่าดีต่อโรงพยาบาลชุมชนหรือไม่ ผมว่าดีในแง่ของการที่ประชาชนเข้าถึงบริการได้อย่างมีคุณภาพ โรงพยาบาลชุมชนเองก็ต้องปรับตัวเพื่อพัฒนาให้เป็นตัวเลือกของประชาชนต่อไป" นพ.ปวิตร กล่าว
- 516 views