"ชลน่าน" เปิดเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้การพัฒนารพ.ชุมชน ชวน ผอ.รพช.ทั่วปท. ร่วมพลิกโฉมระบบบริการสุขภาพ แนะปรับวิธีคิด วิธีทำงาน ใช้ดิจิทัลเต็มรูปแบบ ให้สอดรับกับบริบทการเปลี่ยนแปลง ย้ำพร้อมสนับสนุนเรื่องความก้าวหน้าและขวัญกำลังใจบุคลากร
วันที่ 13 ก.พ. 2567 นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยภายหลังเป็นประธานเปิดการประชุมเชิงปฏิบัติการการพัฒนาโรงพยาบาลชุมชนเพื่อขับเคลื่อนนโยบายยกระดับบัตรทอง 30 บาท และนโยบายกระทรวงสาธารณสุข พ.ศ. 2567 "พี่บอกน้อง พร้อมไปด้วยกัน" ว่า นโยบายของรัฐบาลที่แถลงต่อรัฐสภาในมิติด้านสุขภาพ ได้ให้ความสำคัญกับการเพิ่มคุณภาพชีวิตของประชาชนทุกคน ผ่านนโยบายยกระดับ 30 บาท นำมาสู่การกำหนดนโยบายการดำเนินงานของกระทรวงสาธารณสุขทั้ง 13 ประเด็น และจากที่ประชุมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ครั้งนี้ยังมีข้อเสนอทั้งการส่งเสริมสุขภาพ ป้องกันโรคและคุ้มครองผู้บริโภค, การพัฒนาระบบการแพทย์ปฐมภูมิ, การพัฒนาระบบบริการสุขภาพทุติยภูมิและตติยภูมิ, บุคลากร และการบริหารและธรรมาภิบาล ซึ่งหลายเรื่องหากมีการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้อย่างเต็มรูปแบบจะทำให้เกิดประโยชน์อย่างมาก
“ปัจจุบันบริบททางสังคมเปลี่ยนไป วิธีคิด วิธีการทำงาน จึงจำเป็นต้องเปลี่ยนตามไปด้วย และต้องสอดคล้องกับนโยบายและปัญหาของพื้นที่ โดยคำนึงถึงคุณภาพของบริการที่พี่น้องประชาชนจะได้รับเป็นสำคัญ ให้เกิดผลสัมฤทธิ์ครบทั้ง 4 มิติ ได้แก่ กาย ใจ จิตวิญญาณ/สติปัญญา และสุขภาพสังคม ขณะที่กระทรวงสาธารณสุขก็จะสนับสนุนบุคลากรทุกคนในเรื่องของความก้าวหน้าทางวิชาชีพและขวัญกำลังใจต่างๆ เพื่อให้ทุกคนมีพลังที่จะช่วยกันขับเคลื่อนให้เกิดการพลิกโฉมระบบบริการทางการแพทย์และสาธารณสุขของไทยต่อไป” นพ.ชลน่านกล่าว
ด้าน นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวเพิ่มเติมว่า การประชุมเชิงปฏิบัติการฯ ครั้งนี้ จัดขึ้นระหว่างวันที่ 12 - 13 กุมภาพันธ์ 2567 ในรูปแบบของการอภิปรายและการนำเสนอผลงานการพัฒนาโรงพยาบาลชุมชนที่เป็นเลิศใน 12 เขตสุขภาพ การแบ่งกลุ่มทบทวนผลการดำเนินงาน วิเคราะห์ปัญหาอุปสรรคและจัดทำข้อเสนอในการพัฒนาและเชิงนโยบาย เพื่อให้เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้แนวคิดทางการบริหาร องค์ความรู้ และนวัตกรรมต่างๆ รวมทั้งมีการสร้างเครือข่ายและใช้ทรัพยากรร่วมกันอย่างมีประสิทธิภาพ โดยมีผู้บริหาร คณะกรรมการพัฒนาโรงพยาบาลชุมชน และผู้อำนวยการโรงพยาบาลชุมชนทั่วประเทศ เข้าร่วมประชุมกว่า 300 คน
- 3437 views