ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

ผอ.องค์การเภสัชกรรม เผยหลังพ้นโควิด รพ.ติดหนี้ค่ายาจาก 7-8 พันล้านบาท เหลือ 5-6 พันล้านบาท ส่วนใหญ่เกิดช่วงปี 65 ขึ้นมา ส่วนหนี้ปี 61 มีราว 11 แห่ง จัดระบบติดตามรู้สาเหตุ พร้อมให้เครดิตเทอมยาว 

พญ.มิ่งขวัญ สุพรรณพงศ์ ผู้อำนวยการองค์การเภสัชกรรม (อภ.) ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีโรงพยาบาลรัฐค้างชำระค่ายาจาก อภ. ว่า ที่ผ่านมามีโรงพยาบาลรัฐที่ติดหนี้ค่ายา อภ.จำนวนมาก เมื่อก่อนเป็นหนี้รวมๆ ประมาณ 7-8 พันล้านบาท ซึ่งบางแห่งมีการติดหนี้มาตั้งแต่ปี 2561-2562 แต่ปัจจุบันยอดหนี้ลดลงไปเยอะ เหลือประมาณ 5-6 พันล้านบาท และตรงนี้ส่วนใหญ่เป็นหนี้ของตั้งแต่ปี 2565 ขึ้นมา ส่วนหนี้ที่เกิดขึ้นตั้งแต่ปี 2561-2562 เหลือน้อยมาก อยู่ที่ราวๆ ประมาณ 11 รพ.ไม่เกินจากนี้ อย่างไรก็ตาม เรามีการวิเคราะห์ว่า หลังจากผ่านพ้นสถานการณ์โควิด สภาวะเงินบำรุงของ รพ.รัฐต่างๆ ก็ดีขึ้น ทำให้มีการชำระหนี้ค่ายามากขึ้น

"ปัจจุบันเรามีระบบบริหารจัดการที่ทำให้ทราบว่า รพ.ไหนที่ยังไม่สามารถจ่ายค่ายาได้ ตั้งแต่ปีไหน และด้วยสาเหตุอะไร อย่างสมัยก่อนหากติดหนี้ช่วงปี 2561-2562  แต่จะไม่ทราบปัญหา เมื่อมีระบบตรงนี้ก็ทราบปัญหาว่า เพราะอะไรไม่จ่าย แล้วไปคุยกันให้เข้าใจปัญหาก็ตัดปิดเคสได้ อย่างทั้ง 11 โรงพยาบาลที่ยังติดหนี้ตั้งแต่ปี 2561-2562 เราก็จะทราบปัญหาเป็นเคสๆ เลยว่า แต่ละแห่งมีปัญหาอะไรสาเหตุจากอะไร" พญ.มิ่งขวัญกล่าว

เมื่อถามถึงกรณีโครงการที่ อภ.จะบริหารจัดการคลังยาแทน รพ.จะยิ่งเพิ่มภาระทางการเงินหรือไม่  พญ.มิ่งขวัญกล่าวว่า อภ.มีการดำเนินงานงาน "ชุมพรโมเดล" ในการดีลซื้อยาและบริหารจัดการคลังยา รพ.จังหวัด วึ่งนำร่องที่ รพ.ชุมพรเขตรอุดมศักดิ์ ซึ่งมียาเป็นพันรายการ จากกว่า 80 บริษัท การที่ อภ.ซื้อยาแทนก็จะทำให้เกิดการต่อรองราคาที่ลดลงมาได้ ซึ่งเราเริ่มมาตั้งแต่ ต.ค. 2566 แต่การจะสรุปโครงการว่าผลเป็นอย่างไรคงต้องรอประมาณ ก.พ.-มี.ค.ปีหน้า อย่างไรก็ตาม ตรงนี้เป็นการทำไปทดลองไปหรือ Action Research ดังนั้น เมื่อเรามาลงพื้นที่ อ.สบเมย จ.แม่ฮ่องสอน ได้รับทราบถึงปัญหาของ รพ.ชุมชนในการบริหารจัดการคลังยา ก็จะมีการหารือกับ ผอ.รพ.สบเมยและชมรม ผอ.รพ.ชุมชนแห่งประเทศไทย ว่าจะให้ อภ.ช่วยบริหารจัดการคลังยาของ รพ.ชุมชนแทนหรือไม่ รพ.ชุมชนหากเข้าร่วมก็เชื่อว่าจะบริหารจัดการง่ายกว่า

"รพ.ชุมชนต้องซื้อยาเองทั้งของ อภ.และบริษัทผู้ผลิตอื่นๆ อย่าง รพ.สบเมยใช้ยาประมาณ 300 ไอเท็ม ต้องดีลกับบริษัทยา 40-50 แห่ง หาก อภ.มาช่วยก็จะเหลือดีลกับแค่ อภ. ไม่ต้องไปประสานหลายบริษัท ซึ่ง 300 ไอเท็มก็ไม่ยาก เพราะเราทำระดับพันไอเท็มมาแล้ว และ 300 ไอเท็มนี้ก็น่าจะอยู่ในพันไอเท็มอยู่แล้ว และยิ่งหากซื้อรวมกันจำนวนมาก อำนาจต่อรองราคาก็จะสูงขึ้น แต่อาจจะลำบากในเรื่องของการขนส่งยา เพราะ อ.สบเมย ค่อนข้างไกล ใช้เวลา 4 ชั่วโมงจากเชียงใหม่ ส่วนเรื่องค้างชำระถือเป็นเรื่องธรรมชาติ เรามีการให้เครดิตเทอมอยู่แล้ว อย่างที่บอกว่าเรามีระบบในการบริหารจัดการ ให้รู้สาเหตุที่ รพ.ไม่สามารถชำระค่ายาได้ ถ้ามีความจำเป็นเราก็ให้เครดิตเทอมยาว ซึ่งก็พูดคุยกันได้" พญ.มิ่งขวัญกล่าว

เรื่องที่เกี่ยวข้อง