“ชลน่าน” มอบทีมลงพื้นที่ติดตามผลดำเนินงาน “ 30 บาทรักษาทุกที่” เฟสแรก  ผอ.รพ.ร้อยเอ็ด เผยผู้ป่วยเพิ่ม 5% ไม่มาก ตอกย้ำไม่ได้ทำให้คนใช้บริการมากเกินจริง และไม่เป็นภาระบุคลากรทางการแพทย์เกินไป ส่วนปชช.ตื่นตัวใช้สิทธิกว่า 70,000 ครั้ง ยืนยันตัวตนแล้วมากกว่า 6 แสนคน บุคลากรฯยืนยัน Provider ID  3,379 คน มีหมอ ทันตแพทย์ เภสัชฯ เทคนิคการแพทย์  

 

เมื่อวันที่ 31 มกราคม น.ส.ตรีชฎา ศรีธาดา โฆษกกระทรวงสาธารณสุข ฝ่ายการเมือง  แถลงภายหลังลงพื้นที่ติดตามการดำเนินงานตามนโยบาย 30 บาทรักษาทุกที่ ด้วยบัตรประชาชนใบเดียวหลังจากคิกออฟเฟสแรก 4 จ.นำร่อง คือ ร้อยเอ็ด แพร่ เพชรบุรี นราธิวาส  ว่า นายกรัฐมนตรี ติดตามการใช้บริการของพี่น้องประชาชนในการรับบริการสุขภาพ เริ่มที่จังหวัดร้อยเอ็ด ซึ่งเป็น 1 ใน 4 จังหวัดนำร่องในการดำเนินการตามนโยบาย 30 บาทรักษาทุกที่ ด้วยบัตรประชาชนใบเดียว จึงได้มีข้อสั่งการให้นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธาณณสุข มอบทีมติดตามลงพื้นที่ทั้ง 4 จังหวัดนำร่อง ก่อนที่จะมีการขยายผลไปอีก 8 จังหวัดในเดือนมีนาคม และอีก 20 จังหวัดในเดือนเมษายน ก่อนที่จะครอบคลุมทั้งประเทศภายในปี 2567 นี้ 

ร้อยเอ็ดยืนยัน Health ID  604,268 คน จากเป้าหมาย 8 แสนคน

น.ส.ตรีชฎา ยังกล่าวอีกว่า หลังจากมีการ KICK OFF  โครงการ “30 รักษาทุกที่ ด้วยบัตรประชาชนใบเดียว” โดยพณฯนายกรัฐมนตรี นายเศรษฐา ทวีสิน และ นางสาวแพทองธาร ชินวัตร ในฐานะรองประธานคณะกรรมการพัฒนาระบบสุขภาพแห่งชาติ ไปเมื่อวันที่ 7 มกราคม 2567 ที่ผ่านมา ในส่วนของจังหวัดร้อยเอ็ดขณะนี้ ได้รับข้อมูลว่า สามารถเชื่อมโยงข้อมูล PHR ครบทุกแห่งในเครือข่ายสุขภาพ ประวัติสุขภาพอิเล็กทรอนิกส์, สมุดสุขภาพ ในระบบ MOPH Data Hub ของประชาชน ได้ครบ 100 % และ มีประชาชนผู้ลงทะเบียนยืนยันตัวตนหรือ Health ID ผ่านแอปพลิเคชันหมอพร้อมแล้ว จำนวน 604,268 คน จากประชากรเป้าหมาย 800,000 คน คิดเป็นร้อยละ 75.53 

บุคลากรทางการแพทย์ยืนยัน Provider ID แล้ว 3,379 คน  

ในส่วนของบุคลากรทางการแพทย์ของจังหวัดร้อยเอ็ด สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดร้อยเอ็ด ได้ดำเนินการให้บุคลากรผู้ให้บริการ  ยืนยันตัวตนเป็นผู้ให้บริการ ในระบบ Provider ID ของจังหวัดแล้ว ทั้งหมด  3,379 คน รวมทั้งมีหน่วยบริการ โรงพยาบาล คลินิกเวชกรรม ร้านยา ที่มีลายมือชื่ออิเล็กทรอนิกส์แล้ว จำนวน 35 แห่ง ประกอบด้วย แพทย์ 190 คน ทันตแพทย์ 86 คน เภสัชกร 176 คน เทคนิคการแพทย์ 120 คน มีการออกใบรับรองแพทย์แบบออนไลน์แล้ว ทั้งหมด 257 ใบ       

ร้อยเอ็ดเดินหน้าจัดส่งยา Health Rider 100%                                                    

น.ส.ตรีชฎา ยังกล่าวอีกว่า ในส่วนของการรับบริการภายหลังมีการเปิดตัว Kick Off โครงการ 30 บาทรักษาทุกที่ ด้วยบัตรประชาชนใบเดียว พี่น้องประชาชนชาวจังหวัดร้อยเอ็ด ได้ใช้บริการตรวจรักษาภายใต้นโยบายนี้แล้วถึง 55,244 ราย จำนวนการรับบริการ 70,767 ครั้ง มีการจัดส่งยาที่บ้านโดย Health Rider ซึ่งส่วนใหญ่เป็นพี่น้องอสม.แล้วถึง 709 ครั้ง โดยจังหวัดร้อยเอ็ดกำลังเร่งเดินหน้าให้มีการจัดส่งยาโดย Health Rider ให้ครบ 100 % จากที่ดำเนินการได้ในปัจจุบัน 15 โรงพยาบาลจาก 20 โรงพยาบาล หรือคิดเป็น 75 % 

“ปัญหาอุปสรรคที่พบส่วนใหญ่เป็นปัญหาที่สามารถแก้ไขได้ โดยจังหวัดร้อยเอ็ดจะเร่งดำเนินการให้ประชาชนที่มีสมาร์ทโฟนทุกรายดาวน์โหลด Application หมอพร้อม เพื่อเชื่อมต่อการเข้ารับบริการกับสถานบริการได้อย่างสะดวกรวดเร็วมากยิ่งขึ้นพร้อมจัดทำระบบการป้องกันข้อมูลส่วนบุคคลของประชาชนให้มีประสิทธิภาพมากขึ้นด้วย” โฆษกกระทรวงสาธารณสุขฝ่ายการเมือง กล่าว 

ร้อยเอ็ด ตั้งวอร์รูมติดตาม 30 บาทรักษาทุกที่   

น.ส.ตรีชฎา กล่าวอีกว่า ส่วนที่เป็นปัญหาอุปสรรคเล็กๆน้อยนั้น จังหวัดร้อยเอ็ดได้จัดตั้ง War Room ติดตามการดำเนินงาน มีศูนย์บริการประชาชน นโยบาย “30 บาทรักษาทุกที่” จังหวัดร้อยเอ็ด จำนวน 24 คู่สาย เพื่อรับรายงานปัญหา/เรื่องร้องเรียน พร้อมทั้งให้คำแนะนำเกี่ยวกับนโยบาย “30 บาทรักษาทุกที่” แก่ผู้รับบริการและประชาชนทั่วไป รวมทั้งจัดตั้งจุดรับเรื่องร้องเรียน กรณีเกิดปัญหาการเข้าใช้บริการมี Call Center  24 ชั่วโมง รัฐบาลและกระทรวงสาธารณสุขขอให้ประชาชนอีกหลายๆพื้นที่อดใจรออีกนิดเดียว รัฐบาลและกระทรวงสาธารณสุขจะพัฒนาและขยายการบริการให้พี่น้องประชาชนสามารถใช้บริการ 30 บาทรักษาทุกที่ทั้งประเทศภายได้สิ้นปี 2567 ได้อย่างแน่นอน  

“สิ่งที่ประชาชนพึงพอใจมากที่สุดนอกจากความสะดวกสบายแล้ว จากการสอบถามพี่น้องประชาชนชาวจังหวัดร้อยเอ็ด 100 % มีความสบายใจที่รัฐบาลสามารถปลดล็อกปัญหาเรื่องใบส่งตัวในการเข้ารับการรักษาพยาบาลได้ โดยประชาชนในจังหวัดร้อยเอ็ดเกือบ 100 % มีการลงทะเบียนยืนยันตัวตนที่เรียกว่า Health ID ที่เพียงแค่เสียบบัตรประชาชนที่ตู้คีออสของโรงพยาบาลทุกแห่งในร้อยเอ็ด แพทย์ พยาบาลก็สามารถที่จะเห็นประวัติการรักษา ทำให้สามารถทำการรักษาได้อย่างรวดเร็วมากขึ้น” น.ส.ตรีชฏา กล่าว

 

สสจ.ร้อยเอ็ด เพิ่มสมาร์ท อสม. หาประชาชนช่วยขึ้นทะเบียน Health ID

นพ.สุรเดชช ชวะเดช นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดร้อยเอ็ด  กล่าวว่า สสจ.ร้อยเอ็ดควบคุมมาตรฐานและนำหน่วยบริการเข้าสู่โครงการ 30 บาทรักษาทุกที่ฯ มี รพ.รัฐ 20 แห่ง คือ รพ.ร้อยเอ็ด และรพ.ชุมชน 19 แห่ง, รพ.ค่ายสังกัดกลาโหม, รพ.สต. 229 แห่งที่ถ่ายโอน อบจ.แล้ว ศูนย์บริการสุขภาพชุมชุนของเทศบาลเมืองร้อยเอ็ด 2 แห่ง และรพ.เอกชน 1 แห่ง คือ รพ.กรุงเทพจุรีเวช ส่วนหน่วยบริการนวัตกรรม เช่น คลินิกเวชกรรมทั้งหมด 607 แห่งทั้งจังหวัด เข้าร่วม 253 แห่งกระจายทุกอำเภอ คลินิกทันตกรรม 31 แห่ง โดยเรามีแผนเชิญชวนให้หน่วยเอกชน ทั้งคลินิกเอกชน คลินิกทันตกรรม ร้านขายยา คลินิกกายภาพบำบัด คลินิกการแพทย์แผนไทย คลินิกเทคนิคการแพทย์ที่มี 6 แห่งในร้อยเอ็ด เข้าร่วมบริการ เพื่อเพิ่มการเข้าถึงบริการตอบสนองว่า 30 บาทรักษาทุกที่ได้จริงๆ ทั้งนี้ จะมีการทำอินโฟกราฟิกและคิวอาร์โคดที่สามารถสแกนแล้วเห็นรายชื่อว่า คลินิก ร้านขายยา คลินิกพยาบาล คลินิกกายภาพแห่งไหนที่พร้อมให้บริการ หรือในแอปฯ หมอพร้อมก็มีปุ่มให้กดดูว่าหน่วยบริการใดเข้าร่วม 30 บาทรักษาทุกที่ฯ

"ร้อยเอ็ดมีการวางแผนร่วมผู้ว่าราชการจังหวัดและนายก อบจ.ที่ดูแล รพ.สต. จะเพิ่มสมาร์ท อสม.ให้ลงไปหาประชาชนที่ยังไม่ได้ลงทะเบียน Health ID เช่น กลุ่มเด็กอายุต่ำกว่า 7 ปีที่ยังไม่มีบัตรประชาชน กลุ่มผู้ป่วยติดบ้านติดเตียง ผู้สูงอายุ ที่อาจยังไม่เข้าถึงสมาร์ทโฟน ซึ่งการจะให้พี่น้องเข้าถึงมากที่สุดจะเกิดประโยชน์ นอกจากข้อมูลใน รพ.รัฐแล้ว ข้อมูลจากคลินิกเอกชน รพ.เอกชน ร้านขายยา จะเพิ่มความสะดวกสบายประชาชน อย่างเรื่องแพ้ยา โรคประจำตัวก็จะรู้ครบ ทางหมอเองก็สบายใจ เพราะเมื่อก่อนอาจจะต้องงมหรือถามญาติพี่น้องว่า มีโรคประจำตัวอะไรหรือไม่ แพ้ยาอะไรหรือไม่ แต่นี่เชื่อมข้อมูลจะเห็นหมด เราจะมีการขับเคลื่อนเก็บตกลงทะเบียน Health ID ต่อไป" นพ.สุรเดชชกล่าว

บริการเพิ่มขึ้น 5%   ถือว่าไม่มาก และไม่เป็นภาระบุคลากร

นพ.ชาญชัย จันทร์วรชัยกุล ผู้อำนวยการรพ.ร้อยเอ็ด กล่าวว่า ผลการดำเนินการของรพ.มาเกือบ 1 เดือน พบว่า มีประชาชนเข้ามารับบริการเพิ่มขึ้น 5% เทียบแล้วคือประมาณ 200 คน/วัน ซึ่งเป็นสิทธิหลักประกันสุขภาพฯ ถือว่าไม่มาก แต่เพิ่มการเข้าถึงบริการของประชาชน และไม่เป็นภาระของบุคลากรทางการแพทย์มากนัก ซึ่งในความคิดตน ถ้ามีคลินิกและร้านยาให้บริการ คนไข้อาจไปที่นั่นมากขึ้น และ รพ.มีคนไข้ลดลงเพื่อลดความแออัด แต่ช่วงนี้ระยะแรกอาจมีผลการดำเนินงานว่า รพ.มีคนไข้เพิ่มขึ้น 5% แต่ก็ยังไม่ได้ทำให้เดือดร้อนอะไร หรือโครงการนี้หลายคนเป็นห่วงว่าใช้ได้ทุกที่ ประชาชนตามหัวเมือง อำเภอต่างๆ จะแห่เข้ามา รพ.จังหวัด ก็พิสูจน์ว่าไม่มากขึ้นเท่าไร ไม่เป็นที่น่ากังวล

ย้ำ! โครงการไม่ได้ทำให้คนใช้บริการมากเกินจริง

ส่วนการให้บริการดูแลคนไข้ ก็ไม่ใช่พวกโรคอย่างไข้หวัดเล็กน้อยแล้วข้ามเขตมาจากอำเภอไกลๆ ดูแล้วก็เป็นอาการที่สมควรมา รพ.จังหวัด ทำให้เราตอบได้ว่า โครงการนี้ไม่ได้ทำให้คนใช้บริการสาธารณสุขมากเกินจริง หรือผิดไปจากระบบสุขภาพที่อยากให้มีหมอใกล้บ้านใกล้ใจ เพราะประชาชนเจ็บป่วยเล็กน้อยก็ได้สถานีอนามัยหรือ รพ.สต.ดูแลก่อน เมื่อไรเจ็บป่วยเพิ่มขึ้นหรือต้องหาหมอก็ไปใช้ รพ.ชุมชนที่เรามีทุกอำเภอ ใครที่เจ็บป่วยมากขึ้นก็มา รพ.จังหวัด ยังเป็นไปตามระบบเดิม และไม่ได้ทำให้เกิดปัญหาระบบสุขภาพของประเทศไทยแต่อย่างใด