รมว.สาธารณสุขส่งทีม MCATT ลงพื้นที่เหตุนักเรียนแทงกัน เร่งดูแลจิตใจนักเรียน-ครู  48 คนมีภาวะเครียด  ด้านอธิบดีกรมสุขภาพจิต ขออย่าตัดสินผู้กระทำว่าเป็น เด็กพิเศษ รอผลการสอบสวนก่อน มีหลายขั้นตอน สิ่งสำคัญต้องร่วมกันหาวิธีป้องกันเหตุซ้ำ  ชี้ความก้าวร้าวไม่ได้มาจากปัจจัยเดียว แนะครอบครัวดูแลอย่างเหมาะสมได้ 3 วิธี  

 

จากกรณีเด็กนักเรียนม.2 ถูกทำร้ายร่างกายจากเพื่อนนักเรียนด้วยกันระหว่างเข้าแถวหน้าธงชาติ ที่โรงเรียนย่านพัฒนาการ จนอาการสาหัสและเสียชีวิตลง ขณะที่เด็กผู้กระทำถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่ามีภาวะเด็กพิเศษ แต่ทางการแพทย์ยังไม่มีการยืนยันเรื่องนี้ แต่มีเสียงวิพากษ์วิจารณ์จากนักเรียนคนอื่นๆว่า เด็กผู้กระทำถูกกลั่นแกล้งบูลลี่ ทำให้มีการพกอาวุธ และอาจเป็นสาเหตุก่อความรุนแรงหรือไม่นั้น

ครู-นักเรียน 48 คนประเมินสุขภาพจิตพบเครียด

ล่าสุดเมื่อวันที่ 30 มกราคม นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยถึงกรณีดังกล่าว ว่า     กรมสุขภาพจิต โดยทีม MCATT สถาบันสุขภาพจิตเด็กและวัยรุ่นราชนครินทร์ สถาบันราชานุกูล ศูนย์สุขภาพจิตที่ 13 และ สำนักอนามัยกรุงเทพมหานคร โดยศูนย์บริการสาธารณสุขที่ 37 ร่วมลงพื้นที่เพื่อปฏิบัติภารกิจช่วยเหลือเยียวยาจิตใจนักเรียน ณ ที่เกิดเหตุ โดยร่วมวางแผนประเมินสุขภาพใจ และให้การปฐมพยาบาลทางจิตใจเบื้องต้นกับนักเรียนและบุคลากรครู ทั้งสิ้น 67 คน แบ่งเป็นนักเรียน 55 คน และบุคลากรครู 12 คน พบว่านักเรียน จำนวน 36 คน และครูจำนวน 12 คน มีภาวะความเครียด โดยได้จัดให้มีการให้การปรึกษารายบุคคล รวมถึงวางแผนเยียวยาจิตใจร่วมกับผู้บริหารโรงเรียนในการดูแลจิตใจในระยะยาวต่อไป ซึ่งจะมีการส่งเจ้าหน้าที่จากสถาบันจิตเวชศาศาตร์สมเด็จเจ้าพระยา เข้าร่วมปฏิบัติงานเพิ่มเติม โดยเป้าหมายคือดูแลสุขภาพจิตผู้ได้รับผลกระทบอย่างครอบคลุม

อย่าตัดสินผู้กระทำว่าเป็น เด็กพิเศษ รอผลการสอบสวนมีหลายขั้นตอน  

นพ.พงศ์เกษม ไข่มุกด์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวถึงกรณีสังคมมองว่า หากผู้กระทำเป็นเด็กพิเศษ ไม่ควรให้เรียนร่วมกับเด็กทั่วไป ว่า เรื่องนี้อยู่ระหว่างการสอบสวนของเจ้าหน้าที่ตำรวจ สิ่งสำคัญไม่ควรมองว่าเป็นเด็กพิเศษหรือไม่อย่างไร เพราะปัจจัยที่ก่อเหตุมีหลายอย่าง อีกทั้ง ยังเกี่ยวเนื่องกับสิทธิมนุษยชน ดังนั้น การนำเสนอต้องระวัง และกรณีนี้ก็ยังไม่ชัดเจนว่า เป็นเด็กพิเศษ เพราะต้องมีการตรวจสอบให้ชัดเจนก่อน โดยเคสคดีเด็กและเยาวชน จะมีกระบวนการต่างๆตามขั้นตอนของกฎหมายของศาลเยาวชนและครอบครัว ที่สำคัญต้องมีสหวิชาชีพ นักสังคมสงเคราะห์ร่วมด้วย  

สาเหตุความก้าวร้าว ไม่ได้มาจากปัจจัยเดียว แนะวิธีจัดการอารมณ์

นพ.พงศ์เกษม กล่าวอีกว่า สาเหตุของความก้าวร้าว มักไม่ได้มาจากปัจจัยเดียว เกิดได้จากหลายปัจจัย ตั้งแต่ปัจจัยส่วนตัวที่มีปัญหาการจัดการอารมณ์ การจัดการความโกรธ ความใจร้อนหุนหันพลันแล่น หรือเป็นโรคที่ยับยั้งชั่งใจ คุมตัวเองยาก ปัจจัยจากครอบครัวที่มีความก้าวร้าวทางร่างกาย วาจา อารมณ์ ทำให้เรียนรู้ว่าสามารถแก้ไขความไม่พอใจด้วยความก้าวร้าวได้ หรือ บางครั้งดูแลตามใจจนเด็กไมได้ฝึกควบคุมตนเอง เมื่อไม่พอใจก็แสดงความก้าวร้าวใส่ผู้อื่น ปัจจัยทางโรงเรียน สังคมที่อยู่รอบตัว การกลั่นแกล้งรังแก การอยู่ในกลุ่มเพื่อนที่นิยมความรุนแรง การใช้สารเสพติด ก็เป็นสิ่งที่หล่อหลอมให้ใช้ความรุนแรงในชีวิตประจำวัน และปัจจุบัน มีปัจจัยด้านสื่อออนไลน์ ที่สามารถสร้างอารมณ์การเกิดความรุนแรงได้ง่าย ดังนั้น การแก้ไขและป้องกันปัญหาความรุนแรง จึงต้องแก้ไขทุกปัจจัยไปพร้อมกัน ได้แก่ การให้เด็กรู้อารมณ์และจัดการอารมณ์ มีข้อแนะนำ 3 ข้อ ดังนี้

1.ผู้ใหญ่ควรควบคุมให้เด็กหยุดความก้าวร้าวด้วยความสงบ เช่น ใช้การกอดหรือจับให้เด็กหยุด หลังจากที่เด็กอารมณ์สงบแล้ว ควรพูดคุยถึงสาเหตุที่ทำให้เด็กไม่พอใจจนแสดงความก้าวร้าว เพื่อให้เด็กได้ระบายออกเป็นคำพูด

2. ควรเริ่มฝึกฝนเด็กตั้งแต่อายุ 3 ขวบให้รู้จักควบคุมอารมณ์ตัวเองเช่นฝึกให้แยกตัวเมื่อรู้สึกโกรธ

3. ฝึกให้เด็กรู้จักเห็นอกเห็นใจ มีจิตใจโอบอ้อมอารีแก่ คน สัตว์ หรือสิ่งมีชีวิตอื่นๆ

ครอบครัวดูแลอย่างเหมาะสมได้ 3 วิธี

ทั้งนี้ การดูแลอย่างเหมาะสมของครอบครัวสามารถทำได้ 3 วิธีคือ 1.ต้องไม่ใช้ความรุนแรงเข้าไปเสริม การลงโทษอย่างรุนแรงในเด็กที่ก้าวร้าวไม่ช่วยให้ความก้าวร้าวดีขึ้น เด็กอาจหยุดพฤติกรรมชั่วครู่ แต่สุดท้ายก็จะกลับมาแสดงพฤติกรรมนั้นอีก อาจเรื้อรังไปจนโตเป็นผู้ใหญ่ได้ 2.ไม่ควรมีข้อต่อรองกันขณะเด็กมีพฤติกรรมก้าวร้าว 3.หลีกเลี่ยงการตำหนิว่ากล่าวเปรียบเทียบ เพราะจะทำให้เด็กมีปมด้อย รวมทั้งการข่มขู่หลอกให้กลัว หรือยั่วยุให้เด็กมีอารมณ์โกรธ เนื่องจากเด็กจะซึมซับพฤติกรรมและนำไปใช้กับคนอื่นต่อ ในปัจจุบันมีการพัฒนาร่วมกันระหว่างโรงเรียนและกระทรวงสาธารณสุขในการคัดกรองกลุ่มเสี่ยงเพื่อดูแลและส่งต่อ และท้ายที่สุดสิ่งที่มีผลต่อเด็กคือสังคมออนไลน์ที่ไม่ควรเป็นตัวอย่างของความก้าวร้าว

เปิดวิธีสังเกตพฤติกรรมลูกหลาน เปลี่ยนแปลงอย่างไร

ด้านพญ.วิมลรัตน์ วันเพ็ญ ผู้อำนวยการสถาบันสุขภาพจิตเด็กและวัยรุ่นราชนครินทร์ กล่าวว่า วิธีการสังเกตว่าจะมีความรุนแรง คือการเปลี่ยนแปลงทางความคิด อารมณ์ พฤติกรรม เช่น คิดว่าตนเองไม่ดี คนอื่นไม่ดี คิดอยากทำร้ายตนเองหรือผู้อื่น อารมณ์หงุดหงิดง่าย หรือ ซึมเศร้า พฤติกรรมก้าวร้าว พูดคำหยาบคาย หรือแยกตัว ซึ่งหากสงสัยว่าบุตรหลานของตนอาจเป็นผู้ที่ได้รับผลกระทบจากความรุนแรง โดยมีข้อแนะนำ 3 ประการดังนี้

1. สังเกตร่องรอยการถูกทำร้ายตามร่างกาย พฤติกรรม หรืออารมณ์ที่เปลี่ยนแปลงไปของเด็ก เช่น มีอาการหวาดกลัว มีพฤติกรรมถดถอย ก้าวร้าว ซึมเศร้าหรือกลัวการแยกจากผู้ปกครองมากขึ้น

2. ใส่ใจรับฟัง ใช้เวลาพูดคุยมากขึ้น เข้าใจในสิ่งที่ลูกกำลังสื่อสารโดยไม่ด่วนตัดสิน อาจเริ่มต้นจากคำถามง่าย เช่น "วันนี้เป็นอย่างไรบ้าง" "วันนี้มีความสุขกับอะไรบ้าง" "วันนี้เพื่อนและครูเป็นอย่างไรบ้าง" "วันนี้ไม่ชอบอะไรที่สุด" และเมื่อสงสัยว่าลูกถูกกระทำความรุนแรง สามารถใช้การสนทนาด้วยประโยคง่ายๆ เช่น "ถ้ามีใครทำให้ลูกเจ็บหรือเสียใจ เล่าให้พ่อแม่ฟังได้นะ เราจะได้ช่วยกัน" ในกรณีที่เด็กไม่สามารถเล่าหรือตอบได้ อาจใช้ศิลปะหรือการเล่นผ่านบทบาทสมมุติเพื่อเป็นเครื่องมือในการช่วยสื่อสารได้

3. สร้างพื้นที่ปลอดภัยในครอบครัว ให้ลูกสามารถสื่อสาร หรือเล่าเรื่องราวต่างๆ ได้ โดยไม่ถูกบ่นหรือตำหนิ หลีกเสี่ยงการใช้การลงโทษที่ใช้ความรุนแรงทางกายภาพและทางอารมณ์ เน้นการใช้แรงเสริมทางบวกเพื่อเพิ่ม

พฤติกรรมที่ดีแทน ซึ่งหากเด็กและเยาวชนในการดูแลมีพฤติกรรม อารมณ์ ความคิด ที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างมาก ควรพาไปปรึกษาผู้เชี่ยวชาญ จิตแพทย์เด็กและวัยรุ่นหรือกุมารแพทย์พัฒนาการ ได้ที่สถานพยาบาลต่างๆ ใกล้บ้าน หรือโทรปรึกษาสายด่วนสุขภาพจิต 1323 ฟรีตลอด 24 ชั่วโมง