ที่ปรึกษากรมสุขภาพจิตเผยแนวโน้ม “เด็กพิเศษ” ก่อความรุนแรงน้อย เหตุข้อมูลทั่วโลก 95% คนใช้ความรุนแรงไม่ใช่คนที่ป่วย ปัญหาไม่อยู่ที่ป่วยหรือไม่ อยู่ที่ระบบต้องทบทวน ปรับแก้อย่าให้เกิดขึ้นซ้ำๆ ส่วนกรณีเคสเด็กม. 2 ถูกทำร้าย เพื่อนบอกคนทำพกอาวุธ ถูกบูลลี่ สิ่งสำคัญคือ โรงเรียนต้องทราบ ซึ่งข้อเท็จจริงมีระบบดูแลกลุ่มเด็กพิเศษ  

 

เมื่อวันที่ 29 มกราคม นพ.ยงยุทธ วงศ์ภิรมย์ศานติ์  ที่ปรึกษากรมสุขภาพจิต  ให้สัมภาษณ์กับทาง Hfocus ถึงกรณีสังคมออนไลน์มีการวิพากษ์วิจารณ์กรณีเด็กพิเศษไม่ควรเรียนร่วมกับเด็กปกติดหรือไม่ รวมทั้งปัญหาโรงเรียนไม่ดูแล เพราะอาจมีการบูลลี่ การใช้ความรุนแรงในโรงเรียนทำให้เด็กเก็บกด ว่า   เด็กพิเศษ มาจากคำเต็มว่า เด็กที่มีความต้องการพิเศษ ซึ่งหากเด็กในกลุ่มนี้ โรงเรียนต้องดูแลเป็นพิเศษ และต้องมี 2 ระบบ คือ ระบบปกติให้เด็กปรับตัวอยู่ในระบบได้ และระบบการดูแลพิเศษว่า มีปัญหาอะไรต้องปรับเปลี่ยนพฤติกรรม ซึ่งต้องทำไปด้วยกันทั้งสองระบบ

ความรุนแรงในโลกนี้ 95% ไม่ได้มาจากคนที่ป่วย

ผู้สื่อข่าวถามแนวโน้ม เด็กพิเศษ ก่อความรุนแรงได้หรือไม่ นพ.ยงยุทธ กล่าวว่า ความรุนแรงในโลกนี้ 95% ไม่ได้มาจากคนที่ป่วย คนที่ป่วยก่อความรุนแรงสัดส่วนเพียง 5% ดังนั้น ข่าวความรุนแรงส่วนใหญ่ไม่ได้มาจากคนป่วย ปัญหาว่าจะป่วยหรือไม่ ไม่ได้สำคัญ เพราะถ้าเขาเสี่ยงก่อความรุนแรงก็ต้องมีระบบดูแลช่วยเหลือ เพราะฉะนั้น เวลามีข่าวพวกนี้ แทนจะไปโทษเด็ก ควรจะกลับไปทบทวนระบบ ว่า ระบบเรามีจุดอ่อนตรงไหนควรปรับปรุง เพราะอย่างไรเสียย่อมเกิดขึ้นได้อีก ไม่ว่าจะป่วยหรือไม่ป่วย 

นพ.ยงยุทธ กล่าวอีกว่า  ยกตัวอย่าง เราควรไปดูว่าระบบการดูแลช่วยเหลือนักเรียนดีหรือไม่ เด็กกลุ่มไหนเป็นกลุ่มเสี่ยง และดูแลตั้งแต่เนิ่นๆ หรือไม่ มีการประเมินครอบครัว มีการเยี่ยมบ้านหรือไม่ ส่งเสริมให้เด็กทำกิจกรรม สอน ซ่อม เสริม เป็นระบบที่ต้องดูแล ซึ่งการศึกษาปัจจุบันเด็กน้อยลง แต่งบประมาณเท่าเดิม ครูก็เท่าเดิม เพราะฉะนั้นการดูแลเด็กก็ต้องปรับปรุงทบทวนให้ใกล้ชิดมากขึ้น

หากมีการพกอาวุธ ทางโรงเรียนต้องรู้และจัดระบบป้องกัน

เมื่อถามว่าจากนี้ควรต้องมีมาตรการให้โรงเรียนตรวจอาวุธหรือไม่ เพราะอย่างเคสม.2 ถูกทำร้าย มีเพื่อนนักเรียนบอกว่า เด็กที่ทำพกมีดตลอด นพ.ยงยุทธ กล่าวว่า  ปัญหาคือ เด็กพกอาวุธ แสดงว่าเรารู้มาตลอดใช่หรือไม่ อย่างหากกรณีเพื่อนรู้ แล้วทำไมโรงเรียนไม่รู้ เพราะจริงๆกรณีหากเด็กพกอาวุธจริง ก็ควรเชิญผู้ปกครองมาคุย เพื่อช่วยกันปรับเปลี่ยนพฤติกรรม ดังนั้น เมื่อเกิดขึ้นแล้วก็ควรมาทวนสอบระบบว่า มีบทเรียนอะไรที่เราจะปรับปรุงได้

ถามอีกว่าจำเป็นหรือไม่ต้องมีครูมาดูแลเด็กพิเศษเฉพาะในทุกโรงเรียนต่อจากนี้ ที่ปรึกษากรมสุขภาพจิต กล่าวว่า ขึ้นกับระดับความพิเศษของกลุ่มเด็ก หากมีความซับซ้อนมาก ทางโรงเรียนขนาดใหญ่ก็จะมีครูการศึกษาพิเศษ หากโรงเรียนขนาดเล็กที่ไม่มีก็ต้องมีระบบการศึกษาพิเศษ มาเป็นที่ปรึกษาของครู คือ จะสรุปว่าต้องมีหรือไม่ อยู่ที่ขนาดโรงเรียนด้วย อย่างโรงเรียนเล็กๆ จะมีครูให้เพียงพอคงยาก สิ่งสำคัญต้องมีที่ปรึกษาเพื่อให้คำแนะนำครูในระบบ

เมื่อเกิดเหตุ ถือเป็นโอกาสทบทวนระบบปรับปรุงแก้ไข

เมื่อถามว่าจะสังเกตพฤติกรรมเด็กพิเศษ อย่างไร นพ.ยงยุทธ กล่าวว่า โรงเรียนมีระบบคัดกรอง ความเสี่ยงของเด็กอยู่แล้ว  เพราะเรื่องนี้มีการทำงานร่วมกันมานาน ระหว่างกรมสุขภาพจิต และกระทรวงศึกษาธิการ ปัญหาคือ เมื่อเราคัดกรองแล้ว ก็ต้องมาดูว่า ใครเสี่ยง ไม่ว่าจะสมาธิสั้นก็มีการคัดกรอง และเมื่อคัดแล้วก็ต้องมาดูแลช่วยเหลือ ไม่ใช่คัดแล้วนำไปกรองไว้

“การมีเหตุเกิดขึ้น ถือเป็นโอกาสในการทบทวนระบบเพื่อปรับปรุงแก้ไข” นพ.ยงยุทธ กล่าว

ผู้สื่อข่าวถามว่ากรณีลักษณะนี้สุดท้ายจะเข้าคำว่า วัวหายล้อมคอก หรือไม่ นพ.ยงยุทธ กล่าวว่า ถ้าโทษเป็นเรื่องๆ ก็ไม่ได้แก้ปัญหา แต่หากใช้เหตุการณ์ทุกครั้งมาทบทวนระบบ ไม่ใช่เฉพาะโรงเรียนที่เกิดเหตุ แต่ระบบการศึกษาทั้งหมดต้องทบทวนตัวเอง ว่ามีปัญหาตรงไหน ก็จะช่วยป้องกันปัญหาในอนาคตได้