สถาบันราชานุกูล เผยแพร่ความรู้ความเข้าใจ “เด็กพิเศษ” โดยนพ.ทวีศักดิ์ สิริรัตน์เรขา จิตแพทย์เด็กและวัยรุ่น และผู้อำนวยการโรงพยาบาลยุวประสาทไวทโยปถัมภ์ ซึ่งกลุ่ม Special Child แบ่งออกเป็น 3 กลุ่ม
เว็บไซต์สถาบันราชานุกูล กรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยบทความเรื่อง เด็กพิเศษ Special Child เขียนโดย นายแพทย์ทวีศักดิ์ สิริรัตน์เรขา จิตแพทย์เด็กและวัยรุ่น และผู้อำนวยการโรงพยาบาลยุวประสาทไวทโยปถัมภ์ กรมสุขภาพจิต
เด็กพิเศษ (Special Child) เริ่มเป็นคำที่คุ้นหูมากขึ้นในปัจจุบัน หลายคนอาจสงสัยว่าพวกเขาคือใคร และเด็กแบบไหนหรือที่เป็นเด็กพิเศษ เด็กกลุ่มนี้มีความสำคัญอย่างไร
เด็กพิเศษ เริ่มได้รับความสนใจ และการดูแลช่วยเหลืออย่างจริงจัง มาเมื่อไม่นานนี้ ทั้งๆ ที่เด็กกลุ่มนี้มีมานานแล้วเมื่อกล่าวถึงเด็กพิเศษ แต่ละคนก็มักมีความเข้าใจที่แตกต่างกันไป บางคนนึกถึงเด็กที่มีความสามารถพิเศษ บางคนนึกถึงเด็กที่มีความบกพร่อง
เด็กพิเศษ มาจากคำเต็มว่า “เด็กที่มีความต้องการพิเศษ” หมายถึงเด็กกลุ่มที่จำเป็นต้องได้รับการดูแล ช่วยเหลือเป็นพิเศษ เพิ่มเติมจากวิธีการตามปกติ ทั้งในด้าน การใช้ชีวิตประจำวัน การเรียนรู้ และการเข้าสังคม เพื่อให้เด็กได้รับการพัฒนาเต็มตามศักยภาพของเขาเอง โดยออกแบบการดูแล ช่วยเหลือเด็ก ตามลักษณะความจำเป็น และความต้องการของเด็กแต่ละคน
เด็กพิเศษ แบ่งออกเป็น 3 กลุ่มหลัก
ดังนี้
- เด็กที่มีความสามารถพิเศษ
- เด็กที่มีความบกพร่อง
- เด็กยากจนและด้อยโอกาส
เด็กแต่ละกลุ่ม มีความจำเป็นต้องได้รับการดูแลช่วยเหลือเป็นพิเศษเหมือนกัน แต่ด้วยวิธีการที่แตกต่างกัน ตามความเหมาะสมของเด็กแต่ละกลุ่ม แต่ละคน ในบทความนี้จะกล่าวถึงขอบเขตของเด็กพิเศษ แต่ละกลุ่มว่าเป็นอย่างไร เพื่อให้เกิดความเข้าใจที่ตรงกัน
1 ) เด็กที่มีความสามารถพิเศษ
เด็กกลุ่มนี้มักไม่ค่อยได้รับการดูแล ช่วยเหลืออย่างจริงจัง เนื่องจาก เรามักคิดว่าพวกเขาเก่งแล้ว สามารถเอาตัวรอดได้ บางครั้งกลับไปเพิ่มความกดดันให้มากยิ่งขึ้น เพราะคิดว่าพวกเขาน่าจะทำได้มากกว่าที่เป็นอยู่อีก วิธีการเรียนรู้ในแบบปกติทั่วไป ก็ไม่ตอบสนองความต้องการในเรียนรู้ของเด็ก ทำให้เกิดความเบื่อหน่าย ทำให้ความสามารถพิเศษที่มีอยู่ไม่ได้แสดงออกอย่างเต็มศักยภาพ
เด็กที่มีความสามารถพิเศษ แบ่งออกเป็น 3 กลุ่มย่อย ดังนี้
- เด็กที่มีระดับสติปัญญาสูง คือ กลุ่มเด็กที่มี ระดับสติปัญญา (IQ) ตั้งแต่ 130 ขึ้นไป
- เด็กที่มีความสามารถพิเศษเฉพาะด้าน อาจไม่ใช่เด็กที่มีระดับสติปัญญาสูง แต่มีความสามารถพิเศษเฉพาะด้านที่โดดเด่นกว่าคนอื่นในวัยเดียวกัน อาจเป็นด้าน คณิตศาสตร์ - ตรรกศาสตร์ การใช้ภาษา ศิลปะ ดนตรี กีฬา การแสดง ฯลฯ
- เด็กที่มีความคิดสร้างสรรค์
2 ) เด็กที่มีความบกพร่อง
มีการแบ่งหลายแบบ ในที่นี้จะยึดตามแนวทางของกระทรวงศึกษาธิการ ที่แบ่งออกเป็น 9 กลุ่ม ดังนี้
- เด็กที่มีความบกพร่องทางการมองเห็น
- เด็กที่มีความบกพร่องทางการได้ยิน
- เด็กที่มีความบกพร่องทางการสื่อสาร
- เด็กที่มีความบกพร่องทางร่างกาย และการเคลื่อนไหว
- เด็กที่มีความบกพร่องทางอารมณ์ และพฤติกรรม
- เด็กที่มีความบกพร่องทางสติปัญญา (Intellectual Disabilities)
- เด็กที่มีความบกพร่องทางการเรียนรู้ (Learning Disabilities)
- เด็กออทิสติก (รวมถึงความบกพร่องของพัฒนาการแบบรอบด้านอื่นๆ - PDDs)
- เด็กที่มีความพิการซ้อน
3 ) เด็กยากจนและด้อยโอกาส
คือ เด็กที่อยู่ในครอบครัวที่มีฐานะยากจน ขาดแคลนปัจจัยที่จำเป็นในการเจริญเติบโต และการเรียนรู้ของเด็ก และรวมถึงกลุ่มเด็กที่ด้อยโอกาสทางการศึกษาจากสาเหตุอื่นๆ เช่น เด็กเร่ร่อน เด็กถูกใช้แรงงาน เด็กต่างด้าว ฯลฯ
เด็กกลุ่มต่างๆที่กล่าวถึง เป็นเด็กที่มีความต้องการพิเศษ ควรได้รับการดูแลเพิ่มเติมด้วยวิธีการพิเศษ ซึ่งต่างไปจากวิธีการตามปกติ เพื่อช่วยให้สามารถพัฒนาได้เต็มตามศักยภาพที่มีอยู่ได้ เพื่อให้มีสุขภาพกาย สุขภาพจิตที่ดี มีโอกาสทางการศึกษาที่เท่าเทียม และได้รับการยอมรับในสังคม
คำว่า "เด็กพิเศษ" ในปัจจุบันมักหมายถึง กลุ่มเด็กที่มีความบกพร่องเท่านั้น ส่วนเด็กที่มีความสามารถพิเศษ กับกลุ่มเด็กยากจนและด้อยโอกาส มักไม่ค่อยเรียกว่าเป็นเด็กพิเศษ
ขอบคุณข้อมูลจาก สถาบันราชานุกูล กรมสุขภาพจิต
ขอบคุณภาพจากเว็บไซต์ happyhomeclinic
- 678 views