“ชลน่าน” ลั่นนายกฯ สั่งแก้ยาเสพติดภายใน 1 ปี ยึด “ปลุก-เปลี่ยน-ปราบ” พร้อมแก้ปัญหา 2 ใน 3 บำบัดแล้วกลับไปเสพซ้ำ ตั้งเป้าติดตาม 1 ปี ทำสำเร็จให้ได้ 62 ต่อ 100 คน ย้ำ! ครอบครองไม่เกิน 5 เม็ดเป็นผู้เสพ หากไม่สมัครใจบำบัดต้องดำเนินคดี ฝากฝ่ายปกครองเท่าทันพวกเหลี่ยมจัด ใช้ช่องถือครอง 2 เม็ดปฏิเสธรักษา เมื่อกลับคืนสังคมอาจเสพอีก หรือกลายเป็นผู้ค้ารายย่อย ชูกลไก “ชุมชนล้อมรักษ์” ช่วยกันสอดส่องดูแล ดึงพวกเขาเปลี่ยนใจบำบัด ไม่หวนคืนวงจร

 

เมื่อวันที่ 24 มกราคม ที่อิมแพ็ค ฟอรั่ม เมืองทองธานี จ.นนทบุรี นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วย นายชาดา ไทยเศรษฐ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย เปิดประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อขับเคลื่อนการบำบัดรักษาและฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติด โดยการมีส่วนร่วมของชุมชน (CBTx) “ชุมชนล้อมรักษ์” ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 โดยมี นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข คณะที่ปรึกษากระทรวงสาธารณสุข คณะผู้บริหาร และภาคีเครือข่ายทั้งภาครัฐและเอกชน อาทิ กระทรวงกลาโหม กระทรวงมหาดไทย สำนักงานตำรวจแห่งชาติ กรมการส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่น เข้าร่วม

นายกฯ เข้มแก้ยาเสพติดภายใน 1 ปี ยึด “ปลุก-เปลี่ยน-ปราบ”

นพ.ชลน่าน กล่าวเปิดงานบนเวทีตอนหนึ่ง ว่า รัฐบาลโดยนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ได้ให้ความสำคัญกับการแก้ไขปัญหายาเสพติดและกำหนดให้เป็นวาระแห่งชาติที่ต้องดำเนินการอย่างจริงจังและเด็ดขาด โดยให้ทุกภาคส่วนบูรณาการทำงานร่วมกัน ภายใต้นโยบาย “ปลุกชุมชนให้เข้มแข็ง เปลี่ยนผู้เสพเป็นผู้ป่วย ปราบปรามสกัดกั้นยึดทรัพย์ผู้ค้า ขจัดข้าราชการทุจริตพัวพันยาเสพติดให้สิ้น” ให้เห็นผลภายใน 1 ปี  โดยในส่วนของกระทรวงสาธารณสุข ได้ให้ความสำคัญกับการบำบัดฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติด ด้วยกระบวนการบำบัดรักษาผู้ติดยาเสพติดโดยชุมชนมีส่วนร่วม (CBTx) หรือเรียกว่า “ชุมชนล้อมรักษ์” ร่วมกับการรักษาทางการแพทย์ เนื่องจากการติดยาเสพติดถือเป็นความเจ็บป่วยที่ซับซ้อน ทั้งด้านสุขภาพกาย สุขภาพจิต สังคมและการดำเนินชีวิต และเป็นโรคเรื้อรังที่กลับเป็นซ้ำได้อีก จึงต้องได้รับการบำบัดรักษาที่มีประสิทธิภาพแบบรอบด้านและต่อเนื่อง เพื่อให้ผู้ป่วยยาเสพติดสามารถกลับมาใช้ชีวิตอยู่ในสังคมได้อย่างปลอดภัยทั้งต่อตนเอง ครอบครัวและชุมชน

ผู้เกี่ยวข้องยาเสพติดกว่า 1.5 ล้านคน ส่วนหนึ่งพร้อมเป็นผู้ค้า  

นพ.ชลน่าน กล่าวว่า ท่านนายกฯ เน้นคำว่า ปลุก เปลี่ยน ปราบ เพื่อให้การจัดการยาเสพติดสำเร็จให้ได้ โดย 1. ปลุก คือ ปลุกชุมชนให้เข้มแข็ง ซึ่งชุมชนล้อมรักษ์ เป็นตัวช่วย โดยมีคณะกรรมการพัฒนาคุณภาพชีวิตระดับอำเภอ(พชอ.) หน่วยงานขับเคลื่อนสำคัญ 2.เปลี่ยน คือ เปลี่ยนผู้เสพเป็นผู้ป่วย ให้โอกาสทั้ง 3 กลุ่ม คือ ผู้ใช้ ผู้เสพและผู้ติด โดยหากทั้ง 3 กลุ่มสมัครใจในการบำบัดรักษา เราให้โอกาสเพื่อให้เข้าสู่การบำบัดรักษาจนผ่านการรับรอง เพื่อให้กลับคืนสู่สังคมอยู่ได้อย่างปกติ ส่วนที่ว่าครอบครองกี่เม็ดเท่าไหร่อย่างไร ก็มีดราม่าพอสมควร แต่ว่าแนวคิดหลักๆ เราเชื่อว่า ถ้าเปลี่ยนผู้เสพเป็นผู้ป่วยจะตัดวงจรในเรื่องการค้ายาเสพติด โดยเฉพาะรายย่อย ปัจจุบันมีผู้เกี่ยวข้องทั้งหมดตัวเลขประมาณ 1.5 ล้านคน ซึ่งมีผู้ใช้ที่พร้อมเป็นผู้ค้าได้ตลอด ส่วนผู้เสพที่มีอาการก็เข้าสู่การบำบัดทางการแพทย์ มีสถานบำบัดรองรับ ทั้งสถาบันธัญญารักษ์ มินิธัญญารักษ์ สถาบันจิตเวชต่างๆ โรงพยาบาลศูนย์โรงพยาบาลทั่วไป พร้อมรองรับบำบัดรักษา

เดินหน้าแก้ปัญหา 2 ใน 3 บำบัดแล้วกลับไปเสพซ้ำ

อย่างการรักษาระยะเฉียบพลันที่มีอาการคลุ้มคลั่ง ก็จะใช้เวลารักษา 1-2 สัปดาห์ เปลี่ยนให้เป็นระยะรองเฉียบพลัน รักษาประมาณไม่เกิน 2 สัปดาห์ รวมๆแล้วไม่เกิน 3 สัปดาห์ จากนั้นเมื่อหายแล้วก็เข้าสู่การบำบัดระยะยาว ซึ่งมีมินิธัญญารักษ์มารองรับเกือบทุกอำเภอแล้ว ดูแลลองเทิร์มแคร์ อาจจะ 3-4 เดือน เป็นต้น ทั้งนี้ เมื่อต้องเข้าสู่ศูนย์ฟื้นฟูทางสังคมก็จะอยู่ประมาณ 2 สัปดาห์ เป็นการฟื้นฟูสภาพร่างกาย จิตใจ อาชีพ แต่เราก็พบว่าเมื่อพวกเขากลับสู่ชุมชน มี 2 ใน 3 กลับไปเสพซ้ำ จึงต้องอาศัยชุมชนมาช่วย ที่เรียกว่า ชุมชนล้อมรักษ์ มาช่วยเหลือกันเพื่อไม่ให้ผู้เสพที่รักษาหายแล้วกลับไปเสพอีก  สิ่งสำคัญคือ ชุมชนต้องทำงานต่อเนื่องอย่างยั่งยืน ซึ่งพชอ.มีส่วนสำคัญมาก ในการขับเคลื่อนเรื่องนี้ มีหลายชุมชนเป็นต้นแบบช่วยเหลือจัดการปัญหายาเสพติดอย่างดี อย่างสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส.) ให้การสนับสนุนและมอบรางวัลให้แก่ชุมชนที่เข้มแข็ง สามารถทำเรื่องนี้ได้อย่างยั้งยืน

ตั้งเป้าติดตามป้องกันเสพซ้ำให้ได้ 62 ต่อ 100 คน

 “การที่พวกเขาจะอยู่ในสังคมได้ คือต้องได้รับการรักษาทางกาย ทางปัญญา ทางใจ และอาชีพ ซึ่งสิ่งเหล่านี้จะทำให้เขาอยู่ในสังคมได้  สิ่งที่ทำให้อยู่ในสังคมไม่ได้ ส่วนหนึ่งคือไม่มีอาชีพ ไม่ได้รับการยอมรับ ถูกตีตรา สังคมตัดเขาออกไป ทำให้ต้องกลับไปเสพซ้ำ ดังนั้น 5 ภาคีเครือข่าย และทุกภาคส่วนต้องช่วยกันเพื่อให้ผู้เสพได้รับการบำบัดรักษาและกลับคืนสู่สังคมโดยได้รับการยอมรับให้ได้ ซึ่งอัตราการกลับสู่สังคมได้ เรามีเป้าหมายขอให้ได้ 62 จาก 100 คนที่ผ่านกระบวนการและติดตามอย่างต่อเนื่อง 1 ปีโดยต้องไม่กลับไปเสพซ้ำ ซึ่งผมเชื่อว่าความเป็นชุมชนเข้มแข็งจะอยู่ได้มากกว่า 1 ปี ดังนั้น มิติแห่งการเปลี่ยนผู้เสพเป็นผู้ป่วยเพื่อเข้าสู่การบำบัดจึงสำคัญมาก”  รมว.สาธารณสุข กล่าว และว่า  ป.ที่ 3 คือ การปราบปรามสกัดกั้น  โดยการปราบปรามสกัดกั้น ยึดทรัพย์ผู้ค้า และปราบข้าราชการทุจริตที่เกี่ยวกับยาเสพติด ท่านนายกฯ ให้ความสำคัญทั้งหมด คือ ปลุก เปลี่ยน ปรับ

ครอบครองไม่เกิน 5 เม็ดเป็นผู้เสพ หากไม่สมัครใจบำบัดต้องดำเนินคดี

นพ.ชลน่าน กล่าวอีกว่า สำหรับกฎหมายใหม่เรื่องครอบครองไม่เกิน 5 เม็ดเป็นผู้เสพ ที่บำบัดรักษาได้  หากไม่สมัครใจบำบัดก็เข้าสู่กระบวนการยุติธรรม ว่ากันไปตามกฎหมาย โทษครอบครองติดคุกไม่เกิน 2 ปี ปรับไม่เกิน 4 หมื่นบาท ส่วนเสพติดคุกไม่เกิน 1 ปี ปรับไม่เกิน 2 หมื่นบาท หากไม่ได้ครอบครองแต่พบว่าเสพ มีโทษ เพียงแต่มีเรื่องกระบวนการทางกฎหมายว่า หากสมัครใจรักษา ก็เข้าสู่กระบวนการรักษาจนเสร็จ มีสถาบันบำบัดรักษารับรองก็ถือว่า ไม่ต้องรับผิด 

“ แม้เราใช้กฎหมายเต็มที่ แต่คนก็มีเหลี่ยมเยอะมาก   เช่น เมื่อให้สิทธิผู้เสพ เป็นผู้ป่วยต้องเข้าสู่การบำบัดแบบสมัครใจ กลับพบว่า บางคนปฏิเสธบำบัด ไม่สมัครใจรักษา แต่พบว่าครอบครองยาบ้า 2 เม็ด ก็จะมีโทษครอบครอง  ศาลก็ใช้ดุลยพินิจ มี 2 เม็ดไม่จำคุก แต่มีโทษปรับและปล่อยกลับคืน  ดังนั้น ชุมชนล้อมรักษ์ ต้องใช้กลไกที่เข้มแข็งดึงพวกเขาให้สมัครใจบำบัดให้ได้ ตัดวงจรเสพซ้ำๆ และไม่ให้กลายเป็นผู้ค้ารายย่อย ถึงแม้เขาจะหาช่องเลี่ยงยังไง แต่เขายังอยู่ในชุมชน พวกเราจึงต้องช่วยกัน” นพ.ชลน่านกล่าว   

ผู้สื่อข่าวถามเพิ่มว่าการค้นหาเพื่อเข้ากระบวนการบำบัดต้องยึดเกณฑ์ครอบครองต่ำกว่า 5 เม็ดเป็นผู้เสพหรือไม่ นพ.ชลน่าน กล่าวว่า  ไม่ยึดตรงนั้นเป็นหลัก ใครมีพฤติกรรมเกี่ยวข้อง เราจะมาดูรายละเอียด หากมีมากกว่า 5 เม็ดก็สันนิษฐานว่าเป็นผู้ค้า แต่หากมี 5 เม็ดลงมาให้สันนิษฐานเบื้องต้นว่า ครอบครองเพื่อเสพ ก็เข้าสู่กลไกบำบัดรักษา

 

นพ.ชลน่าน กล่าวต่อว่า สำหรับการขับเคลื่อนภารกิจ “ชุมชนล้อมรักษ์” ให้บรรลุเป้าหมาย จะใช้กลไกของคณะกรรมการพัฒนาคุณภาพชีวิตระดับอำเภอ (พชอ.) ซึ่งมาจากหน่วยงานและภาคส่วนต่างๆ ในพื้นที่ เป็นแกนหลักในการประสานและสนับสนุนการบูรณาการการทำงานร่วมกันของ 5 ภาคีเครือข่ายเข้มแข็ง ได้แก่ ทหาร ตำรวจ นายอำเภอ นายก อบต. และสาธารณสุขอำเภอ ให้เป็นไปในทิศทางเดียวกันอย่างประสิทธิภาพ เพื่อสร้าง “ชุมชนล้อมรักษ์” ในทุกอำเภอ โดยในการประชุมครั้งนี้ มี 5 ภาคีเครือข่ายเข้มแข็ง จาก 200 อำเภอ ใน 31 จังหวัด จำนวนทั้งสิ้น 1,095 คน มาร่วมกันแลกเปลี่ยนเรียนรู้ประสบการณ์การทำงานด้านยาเสพติด เพื่อพัฒนารูปแบบการดำเนินงานด้านการบำบัดรักษาและฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติดโดยชุมชนมีส่วนร่วม (CBTx) ภายใต้แนวคิด “สร้างความสุข เติมความรัก โอบอุ้มสังคมให้อบอุ่น เพื่อเป้าหมาย คืนคนสู่สังคมอย่างปลอดภัย” ต่อไป

อ่านต่อ :  รู้จัก CBTx  ‘ชุมชนล้อมรักษ์’  คืออะไร