5 เสือภาคีระดับอำเภอ สู่การขับเคลื่อนระบบ CBTx  หรือ  ชุมชนล้อมรักษ์  แกนหลักขับเคลื่อนบำบัดรักษาและฟื้นฟูผู้ป่วยยาเสพติด ป้องกันปัญหากลับไปเสพซ้ำ ตัดวงจรค้ายารายเก่าและรายใหม่

“ชุมชนล้อมรักษ์”  หรือการปฏิบัติการขับเคลื่อนของชุมชนเพื่อร่วมแก้ไขปัญหายาเสพติด ที่เรียกกันว่า CBTx ได้จัดการประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อขับเคลื่อนการบำบัดรักษาและฟื้นฟูผู้ป่วยยาเสพติด โดยการมีส่วนร่วมของชุมชน ประจำปีงบประมาณ 2567 ที่อาคารอิมแพค ฟอรั่ม เมืองทองธานี ระหว่างวันที่ 24-25 มกราคม 2567 ที่ผ่านมา โดยมี นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วย นายชาดา ไทยเศรษฐ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย เปิดประชุม พร้อมมอบนโยบายไปแล้วนั้น

(ข่าวเกี่ยวข้อง : “ชลน่าน” ลั่นแก้ปัญหา 2 ใน 3 บำบัดแล้วกลับเสพซ้ำ! ชู 'ชุมชนล้อมรักษ์' ตัดวงจรยาเสพติด)

หลายคนอาจสงสัยว่า  “ชุมชนล้อมรักษ์”  หรือ CBTx คืออะไร

CBTx หรือ Community Based Treatment คือ การบำบัดฟื้นฟูผู้ใช้ยาเสพติดโดยใช้ชุมชนเป็นฐาน  เป็นกระบวนการบำบัดฟื้นฟูที่สามารถทำได้ในชุมชน ซึ่งสามารถคัดกรองผู้เสพแบ่งออกเป็น 3 ระดับ คือ “ผู้ใช้” ใช้เป็นครั้งคราว “ ผู้เสพ”  มีแนวโน้มเสพบ่อยขึ้น และ “ผู้ติด” หมกมุ่นในการเสพ  โดยผู้ใช้และผู้เสพ ให้การดูแลแบบการบำบัดฟื้นฟูผู้ใช้ยาเสพติดโดยใช้ชุมชนเป็นฐาน ส่วนผู้ติด มีปัญหาด้านสุขภาพกาย สุขภาพจิต ต้องส่งต่อสถานพยาบาล  เพื่อการดูแลอย่างเหมาะสมตามสภาพปัญหาของผู้ป่วย

อย่างไรก็ตาม การเสพติด เหมือนเป็นโรคเรื้อรัง   ผู้ติดมีโอกาสกลับมาเสพติดซ้ำ เมื่อผู้ป่วยกลับไปสู่สภาพแวดล้อมเดิม ประสบปัญหาเดิมๆ ในชีวิต ก็อาจกลับไปใช้ยาเสพติดซ้ำได้อีก การบำบัดรักษาจึงไม่สามารถใช้การแพทย์แต่เพียงอย่างเดียวแต่ต้องควบคู่ไปกับการแก้ไขปัญหาอื่นๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งปัจจัยด้านสังคมของผู้ป่วย  “ชุมชนล้อมรักษ์” จึง เป็นกระบวนการบำบัดฟื้นฟูที่สามารถทำได้ในชุมชน เป็นการแก้ไขปัญหาจากสาเหตุ กลไก และผลกระทบของปัญหายาเสพติด โดยคนในครอบครัวและชุมชนมีส่วนร่วมอย่างเต็มศักยภาพ เชื่อมโยงกับหน่วยบริการสาธารณสุขในชุมชน ภาคประชาสังคมและหน่วยงานสนับสนุนต่างๆ ซึ่งมีโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลร่วมดูแล ในปัจจุบันมีชุมชนที่ดำเนินการอย่างเป็นรูปธรรมเกิดผลสัมฤทธิ์ และสามารถเป็นต้นแบบแนวปฏิบัติในทุกภาค

นพ.ภาคี ทรัพย์พิพัฒน์ ผู้อำนวยการสำนักงานเลขานุการคณะกรรมการบำบัดรักษาและฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติด กระทรวงสาธารณสุข(สธ.) ให้ข้อมูลกับทาง Hfocus ว่า   การจะเป็น ชุมชนล้อมรักษ์ นั้น หลายชุมชนมีความพร้อม แต่อาจจะยังต้องการข้อมูลหรือตัวอย่างในการดำเนินการ  ซึ่งในการประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อขับเคลื่อนการบำบัดรักษาและฟื้นฟูผู้ป่วยยาเสพติดครั้งนี้ จึงได้เชิญของคณะกรรมการพัฒนาคุณภาพชีวิตระดับอำเภอ (พชอ.) ซึ่งมาจากหน่วยงานและภาคส่วนต่างๆ ระดับอำเภอ เป็นแกนหลักในการประสานและสนับสนุนการบูรณาการการทำงานร่วมกันของ 5 ภาคีเครือข่ายเข้มแข็ง ที่เรียกว่า 5 เสือ ได้แก่ ทหาร ตำรวจ นายอำเภอ นายก อบต. และสาธารณสุขอำเภอ ซึ่งจะทราบว่าชุมชนนั้นๆเข้มแข็งหรือไม่ มีศักยภาพหรือไม่ หรือมีปัญหาเสพยา ปัญหาจิตเวชในพื้นที่หรือไม่ การคัดเลือกชุมชนล้อมรักษ์ มาร่วมทำงานจึงเกิดจากระดับอำเภอเป็นแกนหลัก

 เมื่อ พชอ. วิเคราะห์ว่า พื้นที่ไหนน่าจะขับเคลื่อนเป็น ชุมชนล้อมรักษ์ หรือ CBTx ก็จะลงไปตรวจสอบ ตั้งทีมระดับอำเภอ มีกำนันผู้ใหญ่บ้าน เข้าสู่กระบวนการ CBTx ซึ่งไม่ตายตัวแต่เป็นกรอบกว้างๆ เช่น วิเคราะห์ชุมชน ประชาคมหมู่บ้าน ให้ทุกคนในหมู่บ้านยอมรับว่า ยาเสพติดเป็นปัญหา ถ้าจะสู้ต้องช่วยกันทุกคน เมื่อเป็นประชาคมหมู่บ้าน ก็จะนำไปสู่การคัดกรอง ค้นหา ว่า ใครเสพ ใครเสี่ยงและเชิญชวนคนเหล่านั้นเข้าสู่กิจกรรมบำบัดต่างๆ เช่น ดนตรีบำบัด สาธารณประโยชน์ต่างๆ หรือพระอาจารย์มาสอนการรู้สติมากขึ้น ซึ่งปัจจุบันมีกรอบตัวอย่างของชุมชนที่ทำมาก่อน สามารถนำไปเป็นต้นแบบได้ ซึ่งปัจจุบันมี CBTx หลายพันแห่งทั่วประเทศ

จริงๆ ระบบ CBTx ซึ่งเราเรียกว่า  “ชุมชนล้อมรักษ์”    เราไม่ได้มุ่งบำบัดคนติด เพราะมีระบบบำบัดทางการแพทย์และระบอื่นๆอยู่ แต่คนที่จะเข้าระบบ CBTx เป็นเหมือนลองยา มาเกี่ยวข้องแต่ยังไม่ติดด้วยซ้ำไป เรียกว่า กลุ่มสีเขียว สีเขียวอ่อน บางทีหักดิบเองก็เลิกได้ แต่ที่เราต้องทำ CBTx เพื่อให้ชุมชนรับรู้ว่า ภายในชุมชนมีปัญหา ทุกคนต้องลุกขึ้นมาให้ความสำคัญ สนใจและให้กำลังใจคนเกี่ยวข้อง พร้อมดึงให้เขาเข้าสู่บำบัด ตัดวงจรการค้า ไม่ให้เกิดผู้ค้ารายใหม่

“นี่เป็นกระบวนการทำให้ชุมชนเข็มแข็งขึ้น ซึ่งเรื่องนี้มีการขับเคลื่อนมาตลอดโดยใช้ชุมชนเป็นฐาน เพียงแต่เป็นการนำร่องทางวิชาการ แต่ปัจจุบันรัฐบาลให้ความสำคัญและเป็นนโยบาย ทำให้การดำเนินการเป็นรูปธรรมมากขึ้น” ผอ.สำนักงานเลขานุการคณะกรรมการบำบัดรักษาและฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติด กล่าวทิ้งท้าย