รมว.สธ. ย้ำยาเสพติดต้องสกัดตั้งแต่ต้นน้ำ เตรียมเคาะกฎกระทรวงลดจำนวนถือครองยาบ้า 16 พ.ค.นี้ แม้เหลือ 1 เม็ดก็ต้องถูกจับ ยึดทรัพย์ หากไม่ใช่ผู้เสพ ต้องตรวจสอบข้อมูลย้อนหลังเชิงลึก ส่วนประเด็นกัญชา พร้อมหารือร่วมกับเครือข่ายภาคประชาชนสัปดาห์นี้
16 พ.ค.พิจารณาร่างกฎกระทรวงจำนวนถือครองยาบ้า
เมื่อช่วงเช้าวันที่ 13 พฤษภาคม ที่โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล(รพ.สต.) ธงชัย อ.เมือง จ.เพชรบุรี นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ถึงการพิจารณาการลดจำนวนการถือครองยาบ้า 5 เม็ด ระหว่างลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมศูนย์คัดกรองบำบัดยาเสพติด ว่า จะเรียกประชุมผู้ที่เกี่ยวข้องในวันที่ 16 พฤษภาคมนี้ จากนั้นจะนำร่างกฎกระทรวงเผยแพร่ทางเว็บไซต์กระทรวงสาธารณสุข เพื่อรับฟังความคิดเห็นของประชาชน ตามกฎหมายในวันที่ 17 พฤษภาคม จนครบกำหนดประกาศ 15 วัน จากนั้นจะเสนอที่ประชุมครม.รับทราบต่อไป
ผู้สื่อข่าวถามกรณีที่กระทรวงกลาโหม ยินดีเปิดพื้นที่ค่ายทหารให้ใช้เป็นสถานบำบัดผู้ติดยาเสพติด นายสมศักดิ์ กล่าวว่า ต้องประสานงานกับกระทรวงกลาโหม ทั้งนี้ เรื่องการบำบัดถือเป็นเรื่องปลายน้ำ มีกระทรวงสาธารณสุข กระทรวงกลาโหมและกระทรวงศึกษาธิการที่ได้รับงบประมาณมาบูรณาการทำงานร่วมกันในเรื่องดังกล่าว และต้องทำให้เกิดผลให้เป็นรูปธรรม โดยควบคู่กับกระบวนการยุติธรรม เมื่อถูกส่งขึ้นศาลแล้วต้องรอให้ศาลมีคำคำสั่งว่าจะส่งไปบำบัดหรือเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม ส่วนเรื่องการคัดกรองผู้เสพนั้น ขณะนี้สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) จะหารือถึงการปรับยาของผู้เสพกลุ่มอาการสีส้มและสีแดง
สกัดตั้งแต่ต้นน้ำ เม็ดเดียวก็ผิด
“นายกรัฐมนตรีกำชับเกี่ยวกับยาเสพติด ต้องทำตั้งแต่ต้นน้ำ คือสกัดกั้นนำเข้าบริเวณชายแดน ตรวจสอบผู้ค้าผู้ผลิตและยึดทรัพย์คนที่อยู่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ ไม่ว่าใครที่มียาบ้าในครอบครองแค่เม็ดเดียวก็ต้องถูกจับและยึดทรัพย์และต้องตรวจสอบย้อนลงไปด้วยว่ายุ่งเกี่ยวกับยาเสพติดมานานแค่ไหน มีรายได้จากการขายยาเท่าไหร่ และยึดทรัพย์รวมไปถึงที่อยู่ในมรดก สิ่งเหล่านี้ต้องเข้มงวดโดยคณะกรรมการ ป.ป.ส. เพื่อนำไปสู่ขั้นตอนตำรวจและศาลต่อไป” รมว.สาธารณสุขกล่าว
พิจารณาจากข้อมูลปัญหากัญชา
เมื่อถามถึงความคืบหน้าขั้นตอนการนำ “กัญชา” กลับเป็นยาเสพติด เห็นว่ามีความเห็นต่าง นายสมศักดิ์ กล่าวว่า ต้องเรียนว่า ตนเป็นผู้เสนอกฎหมายยาเสพติดฉบับล่าสุด ที่เรียกว่า ประมวลกฎหมายยาเสพติด ซึ่งมีมาตรหนึ่งพูดถึงยาเสพติดประเภทที่ 5 เรียกว่า ซอฟ์ตดรัก ซึ่งในกฎหมายยกตัวอย่าง ฝิ่น ส่วนที่เหลือรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ให้รับฟังความเห็นของส่วนราชการและออกประกาศว่าอะไรเข้าข่ายยาเสพติดประเภทที่ 5 ซึ่งก็ต้องใช้เวลาในการรับฟังความคิดเห็น ประชาพิจารณ์ต่างๆ ประมาณ 3 เดือน แต่ไม่ใช่จบแค่นั้น ต้องมีกฎกระทรวง ทำขึ้นมา และต้องทำประกาศอีกฉบับ ซึ่งเป็นเรื่องของแพทย์ แพทย์แผนไทย แพทย์แผนปัจจุบัน ว่าต้องใช้อย่างไร และแนวทางการดำเนินการต่างๆ ต้องทำให้ครบถ้วน
“ ในการประชุมคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด(ป.ป.ส.) ที่มีนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน ซึ่งในอดีตมีข่าวว่า ผมไม่เห็นด้วย ขอเรียนว่า การทำงานกับพรรคร่วมรัฐบาล ว่า อะไรที่ไม่ชัดเจนจริงๆ เราไม่มีสิทธิ์ไปค้าน แต่นอกรอบบางครั้ง คนไม่เห็นด้วยก็มี อย่างกระทรวงต่างประเทศ ตำรวจ ฯลฯ ที่เกี่ยวข้อกับอนุสัญญาระหว่างประเทศ แต่ท้ายที่สุดข้อมูลที่ผ่านมาทำให้เห็นว่า มีแนวโน้มเสพมากขึ้น อย่างวัยรุ่นอายุ 17-18 ปี เพิ่มขึ้นเป็น 10 เท่า ไอคิวเด็กก็ลดลง 8-9 จุดจากข้อมูลของสหรัฐ” นายสมศักดิ์ กล่าว และว่า สิ่งสำคัญ เมื่อมีการคุยกันทั้งนอกรอบและในรอบ ไม่ได้มีการคัดค้านอะไร เราให้เกียรติกัน ซึ่งการดำเนินการใดๆ ก็ต้องอาศัยข้อมูล ผ่านมากว่า 2 ปี 3 ปี แล้วก็ต้องนำข้อมูลมาดูกันและยอมรับข้อเท็จจริง ซึ่งรัฐบาลให้แนวทางว่า ยึดประชาชนเป็นหลัก
ขอหารือก่อนฟันส่วนไหนของกัญชา กลับเป็นยาเสพติด
ผู้สื่อข่าวถามว่ามีข้อมูลล่าสุดหรือไม่ว่าจะนำกัญชาทุกส่วน หรือส่วนใดกลับคืนยาเสพติด นายสมศักดิ์ กล่าวว่า ทั้งหมดอยู่ที่การพูดคุยกัน ซึ่งคนที่มีธุรกรรมกัญชาอยู่ก็ต้องมาหารือกัน ก่อนที่จะทำกฎกระทรวงสาธารณสุขออกมา ขอย้ำว่า จะต้องหารือร่วมกันทุกฝ่ายเพื่อให้ได้ข้อมูลอย่างครบถ้วน ซึ่งกระบวนการนั้น ตามที่นายกรัฐมนตรีให้เวลาถึงสิ้นปีนี้ อย่างประกาศกระทรวงฯ ไม่ต้องเข้าครม. โดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา แต่หากเป็นกฎหมายรอง หรือกฎกระทรวงฯ ต้องเข้าครม. ซึ่งอาจต้องใช้เวลา เพราะต้องฟังความคิดเห็น
“ส่วนเครือข่ายกัญชาฯ ที่จะมากระทรวงสาธารณสุข ผมยินดีคุย ถ้าเครือข่ายไม่มา ผมก็จะไปคุยเอง เพราะเรื่องนี้ต้องหารือทุกฝ่ายให้ชัดเจน” นายสมศักดิ์ กล่าว
ข่าวเกี่ยวข้อง : เครือข่ายกัญชาฯ บุก สธ.16 พ.ค. นี้ พบ “สมศักดิ์” พร้อมปักหลักค้างคืนหากคืนกลับยาเสพติด
- 337 views