“หมอทศพร” ประชุมกมธ.การสาธารณสุข สภาผู้แทนราษฎร เชิญทุกภาคส่วนถกปัญหาขาดแคลนกำลังคนด้านสุขภาพ  ด้าน สหภาพแพทย์ผู้ปฏิบัติงาน ดีใจเป็นสัญญาณดีภาครัฐให้ความสำคัญ เหลือเพียงแก้ปัญหาอย่างยั่งยืน ทั้งภาระงานหมออินเทิร์น ขาดแคลนบุคลากรหน้างาน ความเครียดสะสม ปัญหารุ่นพี่ข่มรุ่นน้อง ดูแลจิตใจนศพ.ป้องกันเหตุร้าย

 

เมื่อวันที่ 16 มกราคม นพ.ณัฐ ศิริรัตน์บุญขจร ตัวแทนสหภาพแพทย์ผู้ปฏิบัติงาน กล่าวว่า  คณะกรรมาธิการการสาธารณสุข สภาผู้แทนราษฎร โดยมีนพ.ทศพร เสรีรักษ์ เป็นประธานกมธ.การสาธารณสุข สภาฯ   ได้เชิญผู้ที่เกี่ยวข้องทุกภาคส่วนเข้าร่วมประชุมหารือเรื่องปัญหาขาดแคลนกำลังคนด้านสุขภาพ เมื่อวันที่ 11 มกราคม 2567 ที่ผ่านมา ซึ่งมีทั้งผู้แทนกระทรวงสาธารณสุข สำนักงานวิจัยและพัฒนากำลังคนด้านสุขภาพ กรมอนามัย ผู้แทนศูนย์นโยบายและการจัดการสุขภาพ คณะแพทยศาสตร์ รพ.รามาธิดบี มหาวิทยาลัยมหิดล และสหภาพแพทย์ผู้ปฏิบัติงาน รวมทั้งผู้เกี่ยวข้องภาคส่วนอื่นๆเข้าร่วม

นพ.ณัฐ กล่าวว่า  การหารือเป็นเรื่อง Health workforce หรือกำลังคนด้านสุขภาพ เนื่องจากที่ประชุมมองว่า ช่วงที่ผ่านมาบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุข ลาออกจากระบบจำนวนมาก จะมีทางออกอย่างไร ซึ่งทางสหภาพฯ ได้สะท้อนปัญหาที่ทางผู้ปฏิบัติงานในโรงพยาบาลพบเจอจริงๆ ไม่ว่าจะเป็น ค่าตอบแทนที่เป็นธรรม  สถานการณ์ขาดแคลนหน้างาน  การทำงานล่วงเวลา การดูแลแพทย์ extern และ intern รวมไปถึงการสร้างช่องทางให้คนหน้างานได้ feedback สถานการณ์หน้างานมากขึ้น ซึ่งจริงๆไม่ใช่แต่เพียงปัญหาของแพทย์เท่านั้น แต่รวมถึงวิชาชีพและเพื่อนร่วมงานอื่นๆที่ปฏิบัติงานในโรงพยาบาลควรได้รับความเป็นธรรมทั้งหมด

“นอกจากนี้ ที่ประชุมยังพูดถึงปัญหานักศึกษาแพทย์จบชีวิตตนเอง ซึ่งจะเห็นข่าวออกมาเรื่อยๆในช่วงที่ผ่านมา จึงมีการพิจารณาว่า มาจากหลายปัจจัย แต่ก็จะมีประเด็นเกี่ยวข้องกับความเครียด การเทรนนิ่งแพทย์ รวมไปถึงระบบการดูแลนักศึกษาแพทย์ การดูแลหมออินเทิร์น รวมไปถึงภาระการทำงาน และค่าตอบแทน ซึ่งประเด็นนี้ยังเกริ่นถึงวิชาชีพอื่นๆด้วย เช่น พยาบาล เป็นต้น” นพ.ณัฐ กล่าว

ขอบคุณภาพจากกมธ.การสาธารณสุข สภาฯ

ผู้สื่อข่าวถามว่าที่ประชุมมองว่าการจบชีวิตของนักศึกษาแพทย์ที่ผ่านมา ส่วนหนึ่งมาจากปัจจัยอะไร เช่น ความเครียดจากการเรียน จากการทำงานหนักด้วยหรือไม่ นพ.ณัฐ กล่าวว่า น่าจะมีส่วน เพียงแต่สาเหตุแต่ละคนก็จะแตกต่างกันไป ไม่ใช่ว่าเพราะการทำงานหนักเพียงอย่างเดียว แต่ยังมีปัจจัยอื่นๆ สิ่งสำคัญระบบการดูแล ปัจจัยครอบครัวก็มีผลด้วย

เมื่อถามว่ามีการพูดถึงประเด็นอำนาจนิยมในที่ทำงานหรือไม่ เนื่องจากที่ผ่านมาเคยมีหมออินเทิร์นออกมาพูดว่า ถูกรุ่นพี่ข่ม พูดจาไม่ดี กดขี่ นพ.ณัฐ กล่าวว่า  เรื่องนี้เป็นส่วนหนึ่งขอความเครียด ตนสามารถพูดได้จากประสบการณ์ส่วนตัว เพราะเคยเจอ อย่างอาจารย์ที่ปรึกษา รุ่นพี่บางคนดีมากๆ แต่บางคนก็ไม่ดี อย่างเวลารุ่นน้องโทรไปปรึกษา แต่กลับโทรด่ากลับมาทางโทรศัพท์

“ประเด็นการพูดจาไม่ดีบั่นทอนกำลังใจมาก ไม่ใช่แค่ผม แต่คนอื่นๆหลายคนเจอกันเยอะ ซึ่งที่ประชุมก็รับทราบเรื่องนี้ ทางกระทรวงสาธารณสุขก็รับทราบ ซึ่งปกติแต่ละโรงพยาบาลมีการดูแลน้องๆอินเทิร์นอยู่แล้ว แต่ที่ผ่านมาถือเป็นเรื่องดีมาก เพราะผู้บริหารกระทรวงสาธารณสุข ได้มีการกำชับเรื่องนี้และขอให้มีการดูแลเอาใจใส่น้องๆมากขึ้น ซึ่งในการประชุมคณะกรรมาธิการฯ รอบนี้ยังไม่ได้พูดถึงแนวทางแก้ไข แต่เป็นการสะท้อนปัญหา จากนั้นจะรวบรวมและนำสู่การประชุมครั้งต่อไป เพื่อหาทางออกร่วมกัน” ผู้แทนสหภาพแพทย์ฯกล่าว

เมื่อถามว่าจากการเรียกร้องปัญหาขาดแคลนแพทย์และบุคลากรด้านสุขภาพ มองว่า ภาครัฐมีการขับเคลื่อนก้าวหน้ามากขึ้นหรือไม่ นพ.ณัฐ กล่าวว่า  ก้าวหน้ากว่าเดิมมาก เพราะสังคมตื่นรู้มากขึ้น ประชาชนรับทราบถึงภาระงานของบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขมากขึ้น หลายคนเข้าใจและเห็นใจว่า หมอ พยาบาล วิชาชีพต่างๆทำงานกันหนัก ขณะที่กระทรวงสาธารณสุข ก็ทราบปัญหาและมีการขับเคลื่อนเรื่องนี้ จะเห็นจากแผนงาน หรือในการประชุมต่างๆก็มีการพูดถึงการจัดการกำลังคนด้านสุขภาพมากขึ้น ถือเป็นสัญญาณดี

“ เรารู้แล้วว่า กำลังคนด้านสุขภาพเป็นปัญหาจริงๆ  ส่วนขั้นตอนต่อไปก็อยู่ที่ว่า จะศึกษาและหาทางแก้ปัญหาให้ยั่งยืนอย่างไร โดยการแก้ไขเชิงระบบ ตรงนี้เป็นโจทย์ของคณะกรรมาธิการฯ และทางกระทรวงสาธารณสุขที่ต้องหารือร่วมกันกับทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องอย่างจริงจังต่อไป” นพ.ณัฐ กล่าว

เมื่อถามย้ำว่ายังยืนยันจะขอเข้าพบนพ.ชลน่าน ศรีแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขอีกหรือไม่ นพ.ณัฐ กล่าวว่า ขณะนี้กำลังรวบรวมข้อมูล และจะประสานเพื่อขอเข้าพบรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขต่อไป