ปลัดสธ.เผยแพทย์ไทยไม่ขาดแคลนเท่าอดีต แต่ติดปัญหากระจายตัว พบราว 200 อำเภอใน  3 เขตสุขภาพเร่งกระจายแพทย์สัดส่วนให้เหมาะสมในแต่ละพื้นที่ พร้อมย้ำมติ อ.ก.พ.สป.สธ.ให้สิทธิแพทย์ประจำบ้าน 13 สาขาลาเรียนไม่แป๊กเงินเดือน ไม่กระทบบริการ เพราะมีการหมุนเวียน เติมเต็มในระบบ

 

ตามที่นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เผยถึงมติคณะอนุกรรมการสามัญประจำสำนักปลัดกระทรวงสาธารณสุข (อ.ก.พ.สป.สธ.)  เมื่อวันที่ 25 ธันวาคมที่ผ่านมา เห็นชอบให้สิทธิแพทย์ประจำบ้าน 13 สาขาที่ขอลาศึกษาให้เสมือนไปปฏิบัตราชการ มีการพิจารณาเงินเดือนได้อย่างต่อเนื่อง ซึ่งมติดังกล่าวยังเป็นการสร้างแรงจูงใจให้มีการเรียนแพทย์สาขาเหล่านี้เพิ่มขึ้น เนื่องจากยังเป็นสาขาขาดแคลนนั้น

 

เตรียมออกรายละเอียด ‘หมอ 13 สาขา’ ลาเรียนไม่ขาดราชการเริ่มปี 67

 

เมื่อวันที่ 28 ธันวาคม นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข(สธ.) กล่าวถึงขั้นตอนหลังมติ อ.ก.พ.สป.สธ.เรื่องแพทย์ 13 สาขาลาศึกษาเหมือนปฏิบัติราชการปกติ ว่า ตามขั้นตอนกำหนดเริ่มในช่วงปีการศึกษาหน้าประมาณเดือนมิถุนายน 2567 เป็นต้นไป ระหว่างนี้จะมีการออกรายละเอียดการดำเนินการต่างๆเพิ่มเติม อย่างไรก็ตาม เรื่องระบบให้แพทย์ลาศึกษานั้น ไม่ต้องกังวลว่าจะกระทบต่อภาระงาน เนื่องจากทุกอย่างเป็นไปตามเกณฑ์ และมีขั้นตอนดำเนินการอยู่แล้ว  อย่างต้องปฏิบัติงานในรพ.ตามระยะเวลากำหนด ซึ่งการลาไปเรียนเมื่อจบก็จะกลับมาทำงาน วนแบบนี้มาตลอด แต่ในอดีตที่ผ่านมาเมื่อลาไปศึกษา แพทย์กลุ่มนี้ถูกแป๊กเงินเดือน ทั้งๆที่การไปเรียนเป็นการเพิ่มพูนความรู้ความเชี่ยวชาญเฉพาะสาขา ซึ่งจะมีประโยชน์ต่อการดูแลสุขภาพผู้ป่วยโรคต่างๆ มากขึ้น

 

“จริงๆ ทุกอย่างเป็นไปตามระบบวนรอบของแพทย์อยู่แล้ว อย่างหมออินเทิร์นจบใหม่ เฉลี่ยปีหนึ่งจบประมาณ 3,000 คน กระจายปฏิบัติงานต่างๆ  ส่วนหมอที่ลาไปเรียนเมื่อครบ 3 ปีก็จะกลับมา วนเป็นลูปแบบนี้ เป็นเรื่องปกติของระบบ เพียงแต่ของใหม่ คือ หมอ 13 สาขาที่ไปเรียนไม่ต้องถูกแป๊กเงินเดือน แต่เสมือนไปปฏิบัติราชการ มีการพิจารณาเงินเดือนตามปกติ  ขณะที่หมอในกระทรวงสาธารณสุขก็เพิ่มทุกปีปีละ 500-1,000 คน” ปลัดสธ.กล่าว

แพทย์ไม่ขาดแคลนเหมือนในอดีต แต่มีปัญหากระจายตัว

 

ผู้สื่อข่าวถามว่าเมื่อแพทย์เพิ่มขึ้นทุกปี แสดงว่าขณะนี้ไม่ขาดแคลนแพทย์แล้วหรือไม่ นพ.โอภาส กล่าวว่า หากเทียบจำนวนก็ไม่ขาดแคลนเหมือนในอดีต อย่างปัจจุบันมีแพทย์กว่า 3 หมื่นราย ซึ่งความขาดแคลนไม่ได้ขนาดเท่าอดีต แต่ถามว่าเพียงพอหรือไม่ ก็ต้องบอกว่า มีมากย่อมดีในแง่การบริการประชาชนได้เพิ่มขึ้น ปัญหาคือ การกระจายตัวมากกว่า ซึ่งหากพิจารณาพื้นที่ที่ขาดและต้องมีการกระจายเพิ่มเข้าไปก็จะเป็นพื้นที่ที่คนไม่ค่อยอยากไปอยู่ เช่น เขตสุขภาพที่ 8 แถวอีสานตอนบน เขตสุขภาพที่ 2 และเขตสุขภาพที่ 10  ซึ่งเมื่อเทียบกับเขตสุขภาพอื่นๆ พบว่า 3 เขตนี้จะน้อยที่สุด จึงตั้งเป้าจะเติมอัตรากำลังลงไป 3 เขตสุขภาพนี้ โดยสธ.จะออกหลักเกณฑ์ต่างๆออกมา

 

เร่งเติมหมอ 200 อำเภอ

 

“แต่ละเขตแต่ละจังหวัด การกระจายตัวก็ไม่เหมือนกัน อย่างเมืองใหญ่ก็จะมีการจูงใจเรื่องเศรษฐกิจ หมอจะไปอยู่เยอะ จึงให้ผู้ตรวจราชการฯ หมุนเวียนในพื้นที่ของตนเอง โดยกระทรวงฯ จะดูระดับเขต ส่วนผู้ตรวจก็ต้องดูในพื้นที่ เน้นกระจายให้ทั่วถึงไล่ลำดับกันไป  ซึ่งพบว่ามีประมาณ 200 อำเภอที่ต้องเติมหมอลงไป ยังขาดอยู่ เนื่องจากเราตั้งเป้าว่า อำเภอเล็กที่มีประชากรน้อยกว่า 30,000 คนต้องมีหมออย่างน้อย 4-6 คน ส่วนอำเภอที่มีประชากรเกินกว่า 30,000 คนให้มีหมออยู่ราว 8-10 คน ยกเว้นรพ.เปิดใหม่ที่ไม่มีผู้ป่วยในอาจมีหมอ 1-2 คน โดยแนวนี้เริ่มปี 2567 เป็นต้นไป” ปลัดสธ.กล่าว

 

สัดส่วนแพทย์ไทยยังน้อย 7.94  : 10,000 คน

 

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ข้อมูลจากกระทรวงสาธารณสุขรวบรวมไว้เมื่อปี 2565  กรณีบุคลากรด้านสาธารณสุข 1 คนต่อจำนวนประชากร พบว่า ประเทศไทยมีสัดส่วนแพทย์ 1 ต่อ 1,265.8  โดยข้อมูลกำลังคนสาธารณสุขภาพรวมประเทศ พบว่า แพทย์รวม 52,497 คน คิดเป็นสัดส่วนแพทย์ต่อประชาชนที่  7.94  : 10,000 คน  ซึ่งอยู่ในกระทรวงสาธารณสุข 49%  ภาคเอกชน 43% รัฐอื่นๆ 2% และอยู่ในกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม(อว.) 6%  

 

ทั้งนี้ สัดส่วนบุคลากรสาธารณสุขต่อประชาชนของประเทศไทย เมื่อเทียบกับประเทศกลุ่มตะวันตกและเอเชียยังถือว่าน้อย เนื่องจากกลุ่มประเทศตะวันตก อย่างสหราชอาณาจักรจะมีแพทย์สัดส่วนที่ 58.2ต่อ 10,000 คน ส่วนกลุ่มประเทศเอเชีย อย่างญี่ปุ่นจะมีสัดส่วนแพทย์ที่ 24.8ต่อ 10,000 คน เป็นต้น