สปสช.ชวนหน่วยบริการเอกชนร่วมให้บริการ ชี้! ขั้นตอนไม่ยาก ขอให้มั่นใจ สามารถจ่ายเงินได้จริงภายใน 72 ชั่วโมง เผยข้อมูล 5 วันแรกหลังเริ่มนโยบาย “บัตรประชาชนใบเดียวรักษาได้ทุกที่ 4 จังหวัด” โอนเงินค่าบริการให้หน่วยบริการแล้วกว่า 3.16 ล้านบาท
เมื่อวันที่ 12 มกราคม 2567 ที่สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ทพ.อรรถพร ลิ้มปัญญาเลิศ รองเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) พร้อมด้วยนายประเทือง เผ่าดิษฐ ผู้ช่วยเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ได้รับมอบหมายจาก นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ในฐานะประธานกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ และ นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ แถลงข่าวเรื่อง “การจ่ายเงินให้หน่วยบริการ ในโครงการยกระดับบัตรทอง บัตรประชาชนใบเดียวรักษาได้ทุกที่” เพื่อสร้างความมั่นใจการร่วมให้บริการกับหน่วยบริการที่เข้าร่วมให้บริการ
ทพ.อรรถพร กล่าวว่า ขณะนี้โครงการยกระดับบัตรทอง "บัตรประชาชนใบเดียวรักษาได้ทุกที่" ซึ่งได้มีพิธีเปิดโดยนายกรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 7 ม.ค. 2567 ในพื้นที่ 4 จังหวัดนำร่อง คือ จ.แพร่ จ.ร้อยเอ็ด จ.เพชรบุรี และ จ.นราธิวาส นอกจากหน่วยบริการของภาครัฐแล้ว ยังมีหน่วยบริการภาคเอกชนเข้าร่วมให้บริการแก่ประชาชนผู้มีสิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ หรือ บัตรทอง 30 บาท อีกจำนวนมาก อาทิ คลินิกเวชกรรม คลินิกพยาบาล คลินิกทันตกรรม คลินิกเทคนิคการแพทย์ คลินิกแพทย์แผนไทย และ ร้านยา ฯลฯ
ในอดีตที่ผ่านมาแม้ว่า หน่วยบริการเอกชนจะได้รับการเชิญชวนให้เข้ามาร่วมบริการผู้มีสิทธิบัตรทอง แต่ยังรอความชัดเจนโดยเฉพาะรอบระยะเวลาการจ่ายเงินชดเชยหลังให้บริการ ซึ่ง สปสช. กำหนดไว้ 2 ครั้ง/เดือน ซึ่งหน่วยบริการเอกชนอาจมองว่าล่าช้าเกินไป ไม่ตอบสนองต่อการหมุนเวียนบัญชีรายรับรายจ่ายและการบริหารจัดการได้อย่างมีประสิทธิภาพได้ จากเสียงสะท้อนที่ได้รับนี้ สปสช. ตระหนักถึงข้อกังวลดังกล่าวและได้ดำเนินการปรับปรุงระบบการเบิกจ่ายเงินให้รวดเร็วขึ้น โดยล่าสุดในการดำเนินการ “โครงการบัตรประชาชนใบเดียวรักษาได้ทุกที่” สปสช. ปรับกรอบระยะเวลาการเบิกจ่ายที่รวดเร็วด้วยระบบมีประสิทธิภาพ โดยประกาศยืนยันกับหน่วยบริการที่ร่วมให้บริการว่าสามารถเบิกจ่ายชดเชยค่าบริการได้ภายใน 72 ชั่วโมงหลังยืนยันการเข้ารับบริการ
"ในช่วง 5 วันที่ผ่านมา หลังจากเริ่มโครงการฯ อย่างเป็นทางการ เมื่อวันที่ 7 ม.ค. มีหน่วยบริการที่ร่วมให้บริการได้ทยอยส่งข้อมูลเพื่อเบิกจ่ายค่าบริการเข้ามาแล้ว โดยยอดรวมล่าสุดเมื่อวานนี้ (11 ม.ค.) สปสช.ได้มีการโอนจ่ายค่าบริการให้กับหน่วยบริการไปจำนวนทั้งสิ้น 3,161,685 บาท ในจำนวนนี้เป็นการโอนจ่ายให้กับหน่วยบริการเอกชนจำนวน 873,505 บาท ซึ่งเป็นไปตามที่ สปสช. ประกาศไว้ว่าจะดำเนินการจ่ายภายใน 72 ชั่วโมง ดังนั้นท่านสามารถให้บริการดูแลผู้มีสิทธิได้เต็มที่โดยไม่ต้องกังวลเรื่องการเบิกจ่าย” รองเลขาธิการ สปสช. กล่าว
ทพ.อรรถพร กล่าวต่อว่า จากการปรับประสิทธิภาพการเปิกจ่ายค่าบริการที่ สปสช. ทำได้จริงนี้ วันนี้ขอเชิญชวนหน่วยบริการเอกขนที่ยังไม่ได้สมัครเข้าร่วมโครงการฯ ขอให้มั่นใจว่าท่านจะได้รับการจ่ายเงินค่าบริการที่รวดเร็วภายใน 72 ชั่วโมง เป็นสิ่งที่ สปสช. ทำได้จริง และหากหน่วยบริการใดที่สนใจก็สามารถสมัครเข้าเป็นหน่วยบริการในระบบหลักประกันสุขภาพได้ทุกเมื่อ โดย สปสช. มีความยินดีอย่างยิ่งเพื่อจะได้มีหน่วยบริการเข้ามาร่วมดูแลประชาชนเพิ่มมากขึ้น
นอกจากนี้ จะเห็นได้ว่าตั้งแต่วันที่ 7-9 มกราคม มีประชาชนเข้ามารับบริการแล้ว 3,500 กว่าคน ซึ่ง 2,200 คนอยู่ในภาครัฐ และ 1,300 อยู่ในภาคเอกชน จะเห็นได้ว่าภาคเอกชนมีผู้มาใช้บริการมากพอสมควร ขณะนี้พบว่าภาคเอกชนให้ความสนใจในการเข้าร่วมโครงการไม่น้อยเลยที่เดียวและมีอีกหลายที่ยังรอดูระบบเบิกจ่ายค่าบริการว่าทำได้จริงหรือไม่ มั่นใจว่าหลังจากที่เราโชว์ผลงานไม่ว่าจะเป็นเรื่องการเชื่อมข้อมูล ช่องทางในการให้บริการ หน่วยบริการอีกหลายแห่งให้ความสนใจในการเข้าร่วมโครงการแน่นอน
หลังจากให้บริการ 5 วันที่ผ่านมาต้องยอมรับว่ากระทรวงสาธารณสุขมีความพร้อมค่อนข้างดี เพราะยังไม่พบปัญหาข้อบกพร่องสักเท่าไหร่ แต่มีเพียงปัญหาเล็กน้อย ทั้งนี้อยากเชิญชวนให้หน่วยบริการเอกชนเข้าร่วมโครงการ เพื่อให้พี่น้องประชาชนมีทางเลือกในการเข้ารับบริการได้มากขึ้นและขอให้มั่นใจได้เลยว่าเราทำได้จริงเบิกจ่ายได้จริงใน 72 ชั่วโมง
ด้าน นายประเทือง กล่าวว่า การเพิ่มประสิทธิภาพการเบิกจ่ายค่าบริการให้กับหน่วยบริการเอกชนภายใน 3 วันนี้ เป็นผลมาจากการพัฒนาระบบที่ สปสช. ได้มีการเชื่อมโยงข้อมูลของหน่วยบริการ ทำให้ง่ายต่อการดึงข้อมูลที่มีความแม่นยำ ถูกต้อง สามารถตรวจสอบและประเมินผลได้อย่างรวดเร็ว คู่ขนาดกับการรักษาความปลอดภัยด้านข้อมูลของประชาชน แต่ทั้งนี้หน่วยบริการที่สามารถเบิกจ่ายค่าบริการได้ภายใน 72 ชั่วโมงนั้น จะต้องดำเนินการตรงตามเงื่อนไขที่ สปสช. กำหนด กล่าวคือ 1.มีการยืนยันตัวตนผู้รับบริการ เพื่อแสดงว่ามีผู้มารับบริการจริง 2.เกิดการให้บริการขึ้นจริง 3.การให้บริการเป็นไปตามเงื่อนไขที่ สปสช.กำหนด
นอกจากนี้หน่วยบริการที่เข้าร่วมต้องมีการเชื่อมระบบข้อมูลบริการกับ สปสช. ซึ่งหากหน่วยบริการดำเนินการตามเงื่อนไขเหล่านี้แล้ว เมื่อเกิดการให้บริการ ระบบจะเชื่อมมาที่ สปสช. และ สปสช. สามารถประมวลผลแล้วจ่ายเงินค่าบริการให้ได้ภายใน 72 ชั่วโมง เช่นเดียวกับหน่วยบริการของภาครัฐ หากมีการเชื่อมต่อข้อมูลการให้บริการเข้ากับระบบของ สปสช. ก็จะได้รับเงินค่าบริการภายใน 72 ชั่วโมงเช่นกัน
อย่างไรก็ตาม ในกรณีที่มีรายการบริการที่ไม่สามารถเบิกจ่ายได้ภายใน 72 ชั่วโมง อาจจะเกิดได้จากหลายปัจจัย เช่น มีการบันทึกข้อมูลคลาดเคลื่อนหรือให้บริการไม่เป็นไปตามเงื่อนไขที่ สปสช. กำหนด ซึ่ง สปสช. ก็จะมีขั้นตอนในการอุทธรณ์ และจะมีการตรวจสอบรายการบริการนั้นๆ อย่างรวดเร็ว เพื่อทำการแก้ไขและเบิกจ่ายเงินให้เร็วที่สุด
- 394 views