สปสช.ตั้งงบกองทุนบัตรทอง ปี68 รวม 230,750 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 67 ประมาณ 6% ค่าเหมาจ่ายรายหัว 3,720.99 บาท/ประชากร เพิ่มขึ้นจากเดิมอีก 248.75 บาท/ประชากร หรือ 7.2% เตรียมเสนอ ครม. เพื่อพิจารณา
วันที่ 9 ม.ค. 2567 นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ในฐานะประธานกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เปิดเผยว่า ในการประชุมคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บอร์ด สปสช.) เมื่อวันที่ 25 ธันวาคม 2566 ได้ร่วมพิจารณาและมีมติเห็นชอบบข้อเสนองบกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ หรือ บัตรทอง 30 บาท ปีงบประมาณ 2568 วงเงินจำนวน 230,750 ล้านบาท (รวมเงินเดือนบุคลากรสาธารณสุข) พร้อมเห็นชอบกรอบวงเงินสำหรับยา/วัคซีน/เวชภัณฑ์/อวัยวะเทียม/อุปกรณ์ทางการแพทย์ ที่จำเป็นตามโครงการพิเศษ ปี 2568 จำนวน 1,1612.95 ล้านบาท โดยหลังจากนี้จะนำเสนอให้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีพิจารณาและเข้าสู่กระบวนการ พ.ร.บ.งบประมาณปี 2568 ต่อไป
ทั้งนี้ ข้อเสนองบประมาณ 2568 วงเงินจำนวน 230,750 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีงบประมาณ 2567 เป็นจำนวน 13,121.87 ล้านบาท หรือ 6% แบ่งเป็น งบกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ 162,660.99 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีงบประมาณ 2567 เป็นจำนวน 9,922.75 ล้านบาท หรือ 6.5% เงินเดือนบุคลากรสาธารณสุข 68,089.83 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีงบประมาณ 2567 เป็นจำนวน 3,199.11 ล้านบาท หรือ 4.9% อัตราค่าเหมาจ่ายรายหัว 3,720.99 บาท/ประชากร เพิ่มขึ้น 248.75 บาทต่อประชากร หรือ 7.2%
สำหรับรายการบริการงบประมาณเพิ่มขึ้น ประกอบด้วย ค่าเหมาจ่ายรายหัว 7,018.38 ล้านบาท กองทุน ค่าใช้จ่ายด้านการดูแลผู้ติดเชื้อเอชไอวี/เอดส์ (HIV-AIDS) จำนวน 298.37 ล้านบาท ค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับการดูแลผู้ป่วยไตวายเรื้อรังจำนวน 698.87 ล้านบาท ค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับโรคเรื้อรังจำนวน 101.31 ล้านบาท งบประมาณสนับสนุนการให้บริการปฐมภูมิจำนวน 211.26 ล้านบาท งบประมาณเพื่อการดูแลผู้มีภาวะพึ่งพิงในชุมชนจำนวน 674.60 ล้านบาท งบสนับสนุนบริการฟื้นฟูจังหวัดจำนวน 2.6 แสนบาท และงบสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรคจำนวน 1,068 ล้านบาท รวมเป็นงบประมาณจำนวน 9,922.75 ล้านบาท
นพ.ชลน่าน กล่าวต่อว่า ขณะที่สิทธิประโยชน์ใหม่ที่จะเสนอในปี 2568 มีทั้งหมด 8 รายการ ประกอบด้วย 1.สายด่วนมิตรภาพบําบัด 2.สายด่วนวัยรุ่น 3.ศูนย์ให้คำปรึกษาด้านจิตเวช 4.บริการด้านสุขภาพสำหรับกลุ่มคนข้ามเพศ 5.คัดกรองวัณโรคระยะแฝง 6.บริการคัดกรองมะเร็งเต้านมในสตรีอายุ 30-70 ปีทุกรายหรือกลุ่มเสี่ยงสูงด้วยวิธี Mammogram/Ultrasound 7.การคัดกรองซิฟิลิสในเยาวชน-วัยรุ่น/ผู้ต้องขังและประชาชนที่มีพฤติกรรมเสี่ยง และ 8.บริการด้วยเทคโนโลยีทางการแพทย์ขั้นสูงสุด รวมทั้ง 8 รายการ ใช้งบประมาณทั้งหมดจำนวน 500.88 ล้านบาท
“งบประมาณที่บอร์ด สปสช. เห็นชอบนั้น ในสิทธิประโยชน์ใหม่ที่เพิ่มขึ้น หลายรายการเป็นการสนับสนุนตามนโยบายของรัฐบาลในการดูแลสุขภาพประชาชนเพื่อให้เข้าถึงบริการสาธารณสุขที่จำเป็น ไม่ว่าจะเป็นการเพิ่มเติมสายด่วนเพื่อให้คำปรึกษาเฉพาะกลุ่ม อย่างสายด่วนมิตรภาพบำบัด สายด่วนวัยรุ่น สายด่วนจิตเวช เป็นต้น พร้อมกับการดูและเฉพาะกลุ่มเพื่อให้เกิดการเข้าถึงบริการ อย่างบริการด้านสุขภาพสำหรับกลุ่มคนข้ามเพศ เป็นต้น โดย สปสช. จะนำเสนอกรอบงบประมาณดังกล่าวต่อที่ประชุม ครม. เพื่อพิจารณาต่อไป” ประธาน บอร์ด สปสช. กล่าว
ด้าน นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวว่า สำหรับกรอบในการจัดทำงบประมาณกองทุนบัตรทองปีงบประมาณ 2568 เป็นการดำเนินงานตามกรอบรัฐธรรมนูญ พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2545 กฎหมาย ประกาศ คำสั่ง และมติ ครม. ต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งนโยบายรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขและบอร์ด สปสช. แนวคิดพื้นฐานหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า รวมถึงแผนปฏิบัติราชการของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (ฉบับที่ 5 พ.ศ2566-2570) นอกจากนี้ยังได้เพิ่มเติมข้อเสนอจากผลการรับฟังความเห็นกลุ่มต่างๆ ปี 2565-2566 การเพิ่มเติมสิทธิประโยชน์รายการใหม่ๆ การสนับสนุนบัญชีนวัตกรรมด้านการแพทย์ นโยบายรัฐบาล นโยบายคณะกรรมการพัฒนาระบบสุขภาพแห่งชาติ
“งบบัตรทองที่ได้รับการจัดสรรจากรัฐบาลนั้น แต่ละปี สปสช. ให้ความสำคัญในการบริหารจัดการอย่างคุ้มค่า มีประสิทธิภาพ และประสิทธิผลสูงสุด โดยมีประชาชนเป็นศูนย์กลางเป้าหมาย ภายใต้การกำกับโดยบอร์ด สปสช. ทำให้ที่ผ่านมาไม่เพียงแต่สามารถดูแลประชาชนสิทธิบัตรทองให้เข้าถึงสิทธิและบริการสุขภาพที่จำเป็นได้อย่างครอบคลุมและทั่วถึง แต่ยังทำให้เกิดการพัฒนาระบบอย่างต่อเนื่อง จนทำให้ระบบบัตรทองเป็นระบบหลักประกันสุขภาพของคนไทยทุกคน” เลขาธิการ สปสช. กล่าว
- 226 views