สส.กทม.พรรคก้าวไกล ร่ำไห้หลังพบข้อมูลสุขภาพจิตถูกหั่นกว่า 69.4% สวนทางคนป่วยพุ่ง 1.6 ล้านกว่าคน ซึมเศร้า 3.6 แสนคน สุดห่วง ฆ่าตัวตายสำเร็จสูงถึงวันละ 14 คน ท้าสลับตัวผู้ป่วยซึมเศร้า
เมื่อวันที่ 5 ม.ค. ในการประชุมสภาเพื่อพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2567 โดย น.ส.สิริลภัส กองตระการ สส.กทม.พรรคก้าวไกล กล่าวถึงงบประมาณกระทรวงสาธารณสุข ว่า นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว รมว.สาธารณสุข ได้ยกปัญหาสุขภาพจิตและยาเสพติดให้เป็น 1 ใน 13 นโยบายสำคัญ ในการยกระดับ 30 บาท Plus แต่อาจจะให้น้ำหนักไปผู้ป่วยจิตเวชที่มาจากยาเสพติด ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญแต่ก็ให้มากกว่า ปัญหาสุขภาพจิตด้านอื่นๆ ที่เป็นวิกฤตเหมือนกัน ซึ่งจากข้อมูลผู้ป่วยสุขภาพจิตที่เกิดจากยาเสพติดมีประมาณ 2 แสนกว่าคน ส่วนผู้ป่วยสุขภาพจิตด้านอื่นๆ รวม 1 ล้านกว่า คนแตกต่างกันกว่า 5 เท่าโดยเฉพาะผู้ป่วยโรคซึมเศร้า อยู่ที่ประมาณ 360,000 คน ตนจึงขอตั้งคำถามว่ารัฐบาลชุดนี้ได้ให้ความสำคัญกับปัญหาสุขภาพจิตของประชาชนจริงๆหรือไม่
ทั้งนี้ ปัญหาสุขภาพจิตอยู่ใกล้ตัวกว่าที่คิดโดยความรุนแรงที่เกิดขึ้นส่วนหนึ่งมาจากผู้ป่วยจิตเวชที่ขาดยา รวมถึงการฆ่าตัวตายสำเร็จข้อมูลในปี 2565 อยู่ที่ 7.97 ต่อแสนประชากร หรือ 5,260 คน หรือทุกๆ วันมีคนฆ่าตัวตายสำเร็จ 14 คน ซึ่งมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ที่น่ากังวลคือวัยรุ่นพยายามฆ่าตัวตายสูงถึง 224 ต่อแสนประชากร วัยทำงานพยายามฆ่าตัวตายอยู่ที่ 45 ต่อแสนประชากร และจากเอกสารกรมสุขภาพจิตระบุข้อมูลการศึกษาทางการแพทย์พบว่าผู้ที่ฆ่าตัวตายสำเร็จประมาณ 9 ใน 10 คน มีอาการป่วยทางจิตเวชอย่างใดอย่างหนึ่งขณะลงมือทำ และสาเหตุสำคัญมาจากภาวะซึมเศร้าและการติดสุรา จะเห็นว่าปัญหารุนแรงขึ้น แต่การเข้าถึงบริการสาธารณสุขอย่างค่อนข้างจำกัด ขาดแคลนบุคลากร ทั้งจิตแพทย์ และนักจิตวิทยา อีกทั้งยังมีปัญหาการกระจายตัว จะพบปัญหามาที่ภาคอีสาน มีจิตแพทย์หรือ นักจิตวิทยาไม่ถึง 1 ต่อแสนประชากร
นอกจากยังขาดแคลนจิตแพทย์เด็กและวัยรุ่น ซึ่งมีเพียง 295 คนเท่านั้น ซึ่งมี 17 จังหวัด ที่มีจิตแพทย์ประจำแค่คนเดียว และ 23 จังหวัด ไม่มีจิตแพทย์เด็กและวัยรุ่นประจำเลย ขณะที่ พยาบาลที่จะต้องเป็นหนึ่งในทีมสหวิชาชีพ ไม่อยากทำงานทางด้าน จิตเวชแล้วเพราะภาระงานหนักและไม่มีระบบที่สนับสนุน
นอกจากนี้ยังให้สิทธิ์ในการเข้าถึงการรักษาไม่ครอบคลุมเพียงพอทำให้เป็นภาระค่าใช้จ่ายแก่ผู้ป่วย โดยพบผู้ป่วย 1 ใน 3 ผู้ป่วยเลือกจ่ายค่ารักษาพยาบาลเอง และต้องจ่ายเองเฉลี่ยอย่างน้อย 21% ของรายได้ เพื่อรับบริการจากจิตแพทย์หรือการบำบัดที่เหมาะสม เช่นในการรักษาออกแบบให้พบจิตแพทย์ควบคู่กับนักจิตวิทยา แต่สิทธิ์ครอบคลุมเพียงจิตแพทย์เท่านั้น เพราะฉะนั้น ถ้าไม่ได้รับการรักษาที่เหมาะสมอาจจะทำให้อาการแย่ลงไปอีก อีกทั้งยังให้สิทธิยารักษาโรคไม่ครอบคลุม เพราะผู้ป่วยบางคนต้องใช้ยานอกบัญชียาหลัก ผู้ป่วยจึงต้องจ่ายส่วนต่างเอง ดังนั้น นี่คือวิกฤตสุขภาพจิตประชาชน แต่งบประมาณที่จัดสรรให้กับกรมสุขภาพจิตได้เพียง 1.8% ของงบกระทรวงสาธารณสุข โดยขอไป 4,300 ล้านบาทได้มาแค่ 2,990 ล้านบาท โดนตัดไปถึง 69.4%
เมื่อดูรายละเอียดพบว่ามีงบฯ จัดสรรเกี่ยวกับโครงการดูแลสุขภาพจิตอยู่ที่ 693 ล้านบาท แต่เมื่อเจาะราย มีเพียงโครงการเสริมสร้างศักยภาพวัยเรียนและวัยรุ่น 3,651,000 บาท โครงการเสริมสร้างสุขภาพจิตวัยทำงาน 2,813,300 บาท และโครงการเสริมสร้างสุขภาพจิตวัยสูงอายุ 7,630,000 บาท ซึ่งผู้สูงอายุมีสถิติการฆ่าตัวตายถึง 9.47 ต่อแสนประชากร ดังนั้น หากอยากให้เข้าถึงโครงการนี้ทุกคนเฉลี่ยต่อหัวไม่ถึง 10 บาท ด้วยซ้ำ ขณะที่โครงการประชาชนกลุ่มเสี่ยงต่อปัญหาจิตเวช และยาเสพติดที่ได้เงินสนับสนุนถึง 100 ล้านบาท
น.ส.สิริลภัส กล่าวอีกว่า ส่วนงบประมาณจัดสรรใหม่สำหรับผู้มีปัญหาสุขภาพจิต ผ่านสายด่วน 1323 ได้เพิ่ม 21 ล้านบาทสมทบจากสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติอีก 5 ล้านบาท รวมเป็น 26 ล้านบาทขยายคู่สายได้กว่า 520,000 สาย แต่ให้ค่าตอบแทนผุ้ให้คำปรึกษาเพียงครั้งละ 50 บาท และต้องเป็นรายที่สามารถพิสูจน์ได้ ซึ่งถ้าตอบแทนแบบนี้กับภาระงานของบุคลากรที่ต้องแบกรับชีวิตและความรู้สึกของคน จึงขอให้ทบทวนค่าตอบแทนส่วนนี้ ขณะที่งบสปสช.ที่จัดสรรมา 882 ล้านบาท เพื่อให้เข้าถึงการรักษาสุขภาพจิตใกล้บ้าน ซึ่งตนอยากให้รัฐคำนึงถึงปัญหาที่เกิดขึ้นจริงกับผู้ใช้บริการและปัญหาภาระงานบุคลากรทางการแพทย์ จึงควรจัดสรรงบเพิ่มบุคลากรด้านหน้าและสร้างแรงจูงใจด้านค่าตอบแทนค่าบริการสายด่วนสุขภาพจิต อุดหนุนการผลิตนักบำบัดกลุ่มคนที่มีปัญหา หรือกลุ่มเสี่ยง และจัดสรรงบเพื่อเพิ่มสิทธิประโยชน์ ในการพบนักจิตวิทยา ประชาชนไม่ต้องจ่ายส่วนต่างเพิ่ม เพิ่มประเภทยาเข้าบัญชียาหลักแห่งชาติให้ครอบคลุม
น.ส.สิริลภัส กล่าวว่า เมื่อวันที่ 25 ธ.ค.2566 กลุ่มเพื่อนผู้ป่วยซึมเศร้าเคยยื่นหนังสือถึง นพ.ชลน่าน เพื่อเสนอแนวทางดูแลผู้ป่วยโรคซึมเศร้า ซึ่งความจริงอยากให้รัฐบาลชุดนี้ให้ความสำคัญกับทุกปัญหาเท่ากันไม่ว่าจะเป็นผู้ป่วยจิตเวชที่เกิดจากยาเสพติด หรือ ปัญหาสุขภาพจิตที่เป็นวิกฤตอยู่
เมื่อถึงช่วงท้าย น.ส.สิริลภัส กล่าวด้วยเสียงสั่นเครือและร้องไห้ว่า ตัวเลขที่ตนอภิปรายมานั้นคือชีวิต คนที่เป็นลูกที่รักของครอบครัว หรือเป็นพ่อแม่ที่กำลังเลี้ยงดู ลูกให้เติบโตมาเป็นบุคลากรของประเทศ เป็นเพื่อนที่รักของทุกคนบุคลากรเหล่านี้ จะเติบโตมาขับเคลื่อนประเทศในมิติต่างๆ ตั้งแต่การ จะไปของเขาเหล่านี้สร้างความแตกสลายสร้างบาดแผลให้คนที่ยังยืนอยู่ตรงนี้ไม่รู้กี่คนต่อกี่คน คนที่จบชีวิตจากโรคนี้ไปเขาไม่ได้คิดสั้นแต่เขาคิดดีและคิดมากไปแล้ว อยากให้ท่านลองมาสลับตัวกับคนที่ต่อสู้กับโรคนี้อยู่ ว่า วันหนึ่งถ้าสารเคมีในสมองผิดปกติทำงานไม่เท่ากัน จะมีอาการเจ็บปวดทรมานขนาดไหน ส่วนตัวมีรอยกรีดอยู่ที่แขนทั้งสองข้าง รอยนี้ยังกรีดไปที่หัวใจของพ่อแม่ จึงไม่อยากให้เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นกับครอบครัวอื่น ส่วนตัวผู้ที่พยายามจบชีวิตมากกว่า 3 ครั้ง แต่ก็บำบัด ต่อสู้กับโรคนี้มาหลายปี จนวันนี้สามารถลุกขึ้นมา ได้อาสาเป็นผู้แทนราษฎรผู้แทนประชาชน ดังนั้นหากรัฐให้ความสำคัญกับปัญหาเหล่านี้จะสามารถรักษาบุคลากรที่ขับเคลื่อนประเทศได้มาก
“ดิฉันในฐานะของผู้ป่วยโรคซึมเศร้าขอพูดแทนผู้ป่วยโรคซึมเศร้าและผู้ป่วยจิตเวชอื่นๆ ที่อยู่ในประเทศไทย ให้ท่านช่วยพวกเราด้วย ให้ความสำคัญกับเราด้วย ให้คนที่ยังไม่ได้รับสิทธิ์ การรักษาสามารถเข้าถึงการรักษาที่ครอบคลุม เหมาะสม และขอแสดงความเสียใจ ต่อการจากไปของคนที่จากไปจากโรคนี้ และขอเรียกร้องอย่ามองข้ามคนกลุ่มนี้เพราะในทุกๆ วัน จะมีคนพยายามฆ่าตัวตายกว่า 85 คน ขอให้ช่วยทำให้เห็นว่า รัฐบาลนี้พร้อมที่จะยืนเคียงข้างเขาและจะทำทุกวิถีทางทำให้เขามีชีวิตอยู่บนโลกนี้ต่อไปได้ โรคซึมเศร้าน่ากลัวกว่าที่คิดไม่มีเวลาให้เรา แม้กระทั่งการร่ำลา ไม่มีทางรู้เลยว่าคนที่กำลังยิ้ม หัวเราะ มีความสุขด้วยกันอยู่ข้างๆ แต่มี ณ ขณะหนึ่ง เสี้ยววินาทีเท่านั้น หันหลังจากเราไป อาจเป็นการจากไปตลอดกาล” น.ส.สิริลภัส กล่าวด้วยเสียงสั่นเครือ
อ่านข่าวเกี่ยวข้อง : “หมอพงศ์เกษม” ขอบคุณ “สส.หมิว” กระตุ้นความสำคัญผู้ป่วยโรคซึมเศร้า
- 721 views