"หมอครอบครัว" ดันภาครัฐควรสื่อสาร ปชช.ให้รู้จักการดูแลแบบประคับประคอง หรือ "Palliative Care" มากขึ้น พร้อมเสนอ โรงพยาบาลศูนย์(รพศ.) ควรมี "แพทย์-พยาบาล"ประจำอย่างน้อย 2 คน รวมทั้งดูแลความก้าวหน้า-ค่าตอบแทนบุคลากรด้วย
ก่อนหน้านี้สำนักข่าว Hfocus ได้มีโอกาสพูดคุยกับ "นพ.อรรถกร รักษาสัตย์ อาจารย์ประจำหน่วยการุณรักษ์ โรงพยาบาลศรีนครินทร์ คณะแพทยศาสตร์ ม.ขอนแก่น " เกี่ยวกับบทบาทการดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้ายแบบประคับประคอง (Palliative Care) โดยสะท้อนในบางช่วงว่า "ตอนนี้สิ่งที่พูดคุยกันมาหลายปีและหลายเวทีแล้ว แต่ยังไม่ได้รับการตอบรับมากนักก็คือเรื่องของกรอบอัตรากำลังและกรอบการทํางาน ทั้งนี้ ในเรื่องการดูแลผู้ป่วยสุดระยะท้ายมีในประเทศไทยประมาณ 10 กว่าปีแล้ว แต่ว่าไม่มีกรอบการทํางานที่ชัดเจนแต่เหมือนเป็นงานการกุศลมากกว่า อีกทั้งไม่เหมือนกับหมอผ่าตัด หมอศัลยกรรม หมออายุรกรรม หมอกระดูก ซึ่งจะมีกรอบการทํางานที่ชัดเจน และมีเส้นทางการเติบโตในหน้าที่การงานอีกด้วย" คลิกอ่านข่าวเพิ่มเติม
ทั้งนี้ ผู้สื่อข่าวถามว่ามีข้อเสนอแนวทางการสนับสนุนการดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้ายแบบประคับประคองอย่างไรบ้างนั้น นพ.อรรถกร กล่าวว่า สำหรับประเด็นการสนับสนุนด้านนโยบายด้านบุคลากร เราคิดว่าในระดับโรงพยาบาลจังหวัดหรือโรงพยาบาลศูนย์(รพศ.)อย่างน้อยควรจะต้องมีแพทย์ประจำ 2 คน และพยาบาลประจำ 2 คน
ส่วนในระดับโรงพยาบาลอําเภอต้องขึ้นอยู่กับจํานวนคนไข้ที่มีหรือขนาดของโรงพยาบาล อย่างถ้าเป็นอําเภอเล็กๆ อาจจะเป็นแพทย์พาร์ทไทม์ พยาบาลพาร์ทไทม์ ที่ดูทั้ง ระบบดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้ายแบบประคับประคอง (Palliative Care) และ ระบบการดูแลระยะยาว(Long–term care) ร่วมกันก็ได้ แต่ถ้าหากเป็นโรงพยาบาลชุมชน(รพช.) ขนาดใหญ่ หรือ โรงพยาบาลทั่วไป (รพท.) ควรที่จะต้องมีแพทย์ประจำ 1 คน และพยาบาลประจำ 1 คน เพื่อที่จะได้มาช่วยกันทํางานตรงนี้ด้วยเช่นกัน
รวมถึงเรื่องอัตรากําลัง เรื่องของโครงสร้างการทํางานเส้นทางการเติบโตในหน้าที่ อย่างที่เรากําลังทําอยู่ก็คือเป็นเรื่องการบรรจุให้การดูแลแบบประคับประคองอยู่ในเรื่องของโฮมบอร์ดนะครับ เพราะว่าตอนนี้โรงพยาบาลรัฐมีโครงการ “โฮมวอร์ด(Home Ward)” ซึ่งมีเรื่องของโรคติดเชื้อหลังจากการดูแลหลังการผ่าตัดให้ดูแลที่บ้านได้ แต่ "Palliative Care" ยังไม่ถูกบรรจุอยู่ในนั้น
อีกทั้งเรื่องขององค์ความรู้ อย่าง "Palliative Care" เพิ่งจะมีมาประมาณ 10 กว่าปี ทําให้บางครั้งการรับรู้เกี่ยวกับการดูแลแบบประคับประคอง หลายๆคนยังไม่ค่อยรับรู้ว่ามันเป็นยังไงและอาจรู้สึกไปในแง่ลบ เช่น มองว่าถ้าหมอทีมนี้เข้ามาบ้านใครแปลว่าคนไข้น่าจะใกล้เสียชีวิตแล้ว ซึ่งจริงๆจะเข้าหรือไม่เข้าคนไข้ก็ใกล้เสียชีวิตแล้วแล้วอยู่ดี เพราะว่าเราเข้าไปดูในช่วงท้ายถึงเราจะเข้าหรือไม่เข้าเค้าก็อยู่ในช่วงท้ายอยู่ดี ซึ่งเรื่องนี้มีทั้งในแง่ของทีมสุขภาพเองที่อาจจะต้องมีการเปลี่ยนทัศนคติแล้วก็มีองค์ความรู้ที่เพิ่มขึ้น
"และที่สำคัญคือ ภาคประชาชน ซึ่งจริงๆตรงนี้ภาครัฐก็ให้การสนับสนุนได้ไม่ว่าจะเป็นทางด้าน สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) หรือ สมัชชาสุขภาพแห่งชาติ อาจจะต้องกลับมาทําเรื่องของการสื่อสารให้ประชาชนรู้จักถึงการดูแลแบบประคับประคองว่า ไม่ใช่จะต้องมาดูแลในช่วงอาทิตย์สุดท้ายเดือนสุดท้ายแต่ว่ามันเป็นการดูแลทําให้คนไข้ที่เขาอยู่ในช่วงสุดท้ายมีคุณภาพชีวิตที่ดีได้รับการจัดการที่ดีได้ หากเกิดอะไรขึ้เขาจะได้วางแผนในการจัดการชีวิตและครอบครัวต่อไปได้"
- 286 views