"แพทย์เวชศาสตร์ครอบครัว" กับการดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้ายแบบประคับประคอง (Palliative Care) 

แน่นอนว่าเมื่อผู้ป่วยเป็นโรคที่รักษาไม่หาย หรือป่วยเป็นโรคระยะสุดท้าย เป้าหมายต่อไปของญาติหรือผู้ดูแล คือการรักษาแบบประคับประคอง (Palliative Care) เพื่อช่วยให้ผู้ป่วยใช้ชีวิตได้อย่างมีความสุขจนถึงวาระสุดท้ายของชีวิต ทั้งยังต้องเตรียมพร้อมและดูแลสภาพจิตใจของคนในครอบครัว ขณะที่ประเทศไทยกำลังก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ จึงเป็นที่จับตามองว่า ระบบการรองรับหรือการดูแลสุขภาพของคนกลุ่มนี้จะมีความพร้อมมากน้อยแค่ไหน โดยเฉพาะที่สำคํญวิชาชีพที่เข้ามามีบทบาทในเรื่องนี้ อย่างเช่น "แพทย์เวชศาสตร์ครอบครัว" จะมีเพียงพอต่อความต้องการของผู้ป่วยหรือไม่...

เรื่องนี้ สำนักข่าว Hfocus ได้มีโอกาสพูดคุยกับ  "นพ.อรรถกร รักษาสัตย์ อาจารย์ประจำหน่วยการุณรักษ์ โรงพยาบาลศรีนครินทร์ คณะแพทยศาสตร์ ม.ขอนแก่น " สะท้อนว่า การดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้ายแบบประคับประคอง (Palliative Care) หมายถึง การดูแลคนไข้ที่อยู่ในระยะสุดท้ายของโรค ถ้าเกิดดูตามระยะเวลาก็คือกลุ่มที่เราคาดการณ์ว่าระยะเวลาเหลืออยู่ในช่วงหนึ่งปีสุดท้ายของชีวิต

ตนในฐานะผู้ปฏิบัติงานอยู่ใน ศูนย์การุณรักษ์ (Karunruk Palliative Care center) ซึ่งเรียกได้ว่าเป็นศูนย์ที่ทํางานด้านเวชศาสตร์ครอบครัว และมีการอบรมบุคลากรมากกว่า 5,000 คน ทั้ง แพทย์ พยาบาล เภสัชกร ทั้งนี้ ในส่วนของแพทย์ พบว่า ส่วนใหญ่จะเป็นแพทย์เวชศาสตร์ครอบครัว รวมถึงเวลาที่เราลงไปหน้างานไปดูตามเขตสุขภาพ ตามจังหวัดต่างๆ สิ่งที่เรามักจะเห็นคล้ายๆกันก็คือแพทย์ที่ปฏิบัติงานส่วนใหญ่ เป็นแพทย์เวชศาสตร์ครอบครัว ทั้งในระดับของการทําภายในโรงพยาบาลและนอกโรงพยาบาลด้วย ทั้งโรงพยาบาลจังหวัด โรงพยาบาลศูนย์ โรงพยาบาลมหาลัย โรงพยาบาลอําเภอ มุมมองในภาพรวมก็ยังเป็นแพทย์เวชศาสตร์ครอบครัวอยู่ดีที่ส่วนใหญ่จะดูแลผู้ป่วยในกลุ่มนี้

ยิ่งถ้าหากมองไปที่การดูแลในชุมชนหรือการดูแลในระดับปฐมภูมิ ยิ่งชัดเจนเลยว่า การที่จะไปดูแลคนไข้นอกโรงพยาบาลหรือเยี่ยมบ้าน แทบจะไม่มีแพทย์สาขาอื่นที่จะออกไปดูคนไข้นอกโรงพยาบาลจะมีเฉพาะ "แพทย์เวชศาสตร์ครอบครัว"

สำหรับการดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้ายแบบประคับประคอง (Palliative Care)  ถือเป็นการดูแลแบบเป็นองค์รวม ไม่ว่าจะเป็น มิติทางด้านร่างกาย ตัวโรคเป็นยังไงยังจะรักษาได้มากน้อยแค่ไหนถ้ายังพอรักษาได้เราก็ให้การดูแลรักษา รวมถึงด้านของการจัดการอากาศซึ่งเรื่องนี้สําคัญมาก เพราะผู้ป่วยระยะท้ายมีอาการแทรกซ้อนที่หลากหลาย ทั้งอาการปวด หายใจไม่ทั่วท้อง และหากว่าเราไม่ได้จัดการอาการเหล่านี้ให้กับคนไข้ จะทำให้คุณภาพชีวิตถดถอยลง นอกจากนั้นยังมีอาการอื่นๆ อาทิ คลื่นไส้อาเจียน อ่อนเพลียนอนไม่หลับ ทั้งนี้เราต้องมีการดูแลทางด้านจิตใจ ทั้งคนไข้และครอบครัวด้วย ต้องมีการพูดคุยการวางแผนดูแลล่วงหน้าให้เขารับรู้ความเจ็บป่วย ณ ปัจจุบันว่าสถานการณ์เป็นอย่างไง

สิ่งที่จะเกิดขึ้นกับผู้ป่วยและครอบครัว อนาคตจะเกิดอะไรขึ้นบ้าง เป็นลําดับขั้นตอน รวมทั้งให้ผู้ป่วยมองเห็นภาพไปจนวันสุดท้าย เพื่อให้รู้ว่าผู้ป่วยจะต้องเผชิญกับอะไรบ้างและเขาจะวางแผนรับมือจัดการกับมันยังไงได้บ้าง เพื่อให้เส้นทางการใช้ชีวิตของผู้ป่วยเป็นเส้นทางที่สงบและราบรื่นที่สุด ส่วนด้านจิตสังคม จะให้ผู้ป่วยยังได้ใช้ชีวิตร่วมกับผู้อื่นได้ เข้าสังคมได้ โดยไม่ให้เกิดความรู้สึกว่าสังคมเกิดการแบ่งแยก ซึ่งเรื่องนี้อาศัยว่าต้องเป็นการพูดคุยกันอย่างตรงไปตรงมา ฉะนั้น ในสังคมบ้านเราจะเห็นว่า ส่วนใหญ่บางครั้งญาติจะไม่อยากให้หมอบอกกับผู้ป่วยว่าเป็นโรคอะไร ซึ่งผู้ป่วยไม่ได้รับรู้ว่าเป็นโรคอะไร ไม่มีสิทธิ์ตัดสินใจการรักษา ซึ่งบางทีมันก็ลามไปจนถึงช่วงสุดท้ายของชีวิต ที่บางครั้งญาติไม่ยอมปล่อยผู้ป่วยอยากยืดระยะเวลาออกไป แต่มันกลับทําให้คนไข้เจ็บปวดทรมาน

ความปรารถนาครั้งสุดท้าย​ของผู้ที่กำลังจะจากไป​...

"แต่ในทางกลับกันเมื่อได้พูดคุยกันคนไข้แล้วนั้น โดยส่วนใหญ่เกิน 90% พบว่า ถ้าเขารับรู้สถานการณ์ว่าเขาอยู่ในห้วงสุดท้ายของชีวิตแล้วนั้น เขาไม่อยากจะยืดเยื้อความตายในวาระสุดท้ายเพราะเขารู้ว่าทําอะไรไปก็ไม่ได้ยืดเวลาได้ อย่างเช่น โรคมะเร็ง การยืดความตายในช่วงท้ายเขาต้องถูกเจาะ ถูกแทง อะไร หลายๆอย่าง ซึ่งมันค่อนข้างทรมานและก็อาจจะไม่ได้เกิดประโยชน์สักเท่าไหร่"  

ซึ่งจะเห็นว่าเรื่องนี้เกี่ยวข้องกับ การสื่อสาร ดังนั้น "หมอเวชศาสตร์ครอบครัว" ถือเป็นหมอที่ค่อนข้างจะมีพื้นฐานทางด้านการสื่อสารได้ดี ทั้งการสื่อสารระหว่างหมอกับคนไข้ หมอกับครอบครัวคนไข้ รวมถึงในทีมหมอด้วยกันเอง สิ่งหนึ่งที่เราจะเจอคือ คนไข้ 1 คนอาจจะมีความเจ็บป่วยหลายอย่าง อาจจะมีทั้งโรคมะเร็ง โรคติดเชื้อ มีปัญหาเรื่องหัวใจ เพราะฉะนั้นบางทีคนไข้คนอาจมีหมอเวียนมาดูหลายคน ซึ่งบางครั้งหมอแต่ละคน อาจวินิจฉัยแตกต่างกัน

แต่หมอเวชศาสตร์ครอบครัวจะมีการสื่อสารกับหมอในทีมสุขภาพแต่ละทีมต่างๆว่ามีแผนการรักษายังไง จากนั้นเอาแผนการรักษาทั้งหมดมาผสมผสานรวมกัน แล้วดูอีกครั้งว่าแผนการรักษาไหนเป็นไปได้มากที่สุดเหมาะสมกับคนไข้ที่สุด ตรงตามความต้องการของคนไข้และครอบครัวมากที่สุด จะเป็นแบบไหน และที่สำคัญต้องสื่อสารให้คนไข้กับครอบครัวได้เข้าใจเป็นภาษาที่ชาวบ้านทุกคนเข้าใจได้ง่าย พอได้แผนตรงนี้แล้วจึงตกลงแนวทางการดูแลรักษาร่วมกัน สุดท้ายส่งแผนการรักษาตรงนี้ให้กับหมอแต่ละสาขาแต่ละทีม เพื่อทุกทีมจะได้รู้เห็นตรงกันในการดูแลคนไข้ เพื่อให้แนวทางการรักษาทุกทีมเดินไปในเส้นทางเดียวกัน

มิติสุดท้าย คือ เรื่องจิตวิญญาณ ซึ่งไม่ได้หมายความแค่เฉพาะเรื่องของศาสนาหรือความเชื่อเท่านั้น แต่จิตวิญญาณหมายถึงอะไรก็แล้วแต่ที่ทําให้
คนไข้เขามีความผูกพันกับสิ่งนั้น อยากทําอะไรต่างๆเพื่อสิ่งนั้น เป็นเป้าหมายในชีวิต รวมถึงเป็นแหล่งขับดันให้คนไข้อยากมีชีวิตอยู่ต่อ บางครั้งคนไข้เหมือนยังไม่พร้อมที่จะไป เพราะเขายังมีอะไรบางอย่างทางจิตวิญญาณที่เขาต้องการทําให้เรียบร้อยก่อน ตรงนี้เราต้องมีการพูดคุยสอบถามนะ เพื่อช่วยให้เคลียร์ปมทางด้านจิตวิญญาณด้วยเช่นกัน เพราะสุดท้ายคนไข้ที่ไปสบายคือคนไข้ที่ไม่ติดค้างอะไร จะไม่มีอาการกระสับกระส่ายทุรนทุราย แต่ถ้าคนไข้ที่มีเรื่องติดค้าง ก็จะไปอย่างยากลําบากอาจทุรนทุรายไม่ยอมตาย 

อยากให้เห็นความสำคัญของบุคลากรทางการแพทย์มากกว่านี้ โดยเฉพาะ "แพทย์เวชศาสตร์ครอบครัว"

ตอนนี้สิ่งที่พูดคุยกันมาหลายปีและหลายเวทีแล้ว แต่ยังไม่ได้รับการตอบรับมากนักก็คือเรื่องของกรอบอัตรากำลังและกรอบการทํางาน ทั้งนี้ ในเรื่องการดูแลผู้ป่วยสุดระยะท้ายมีในประเทศไทยประมาณ 10 กว่าปีแล้ว แต่ว่าไม่มีกรอบการทํางานที่ชัดเจนแต่เหมือนเป็นงานการกุศลมากกว่า อีกทั้งไม่เหมือนกับหมอผ่าตัด หมอศัลยกรรม หมออายุรกรรม หมอกระดูก ซึ่งจะมีกรอบการทํางานที่ชัดเจน และมีเส้นทางการเติบโตในหน้าที่การงานอีกด้วย

แต่ในการดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้ายแบบประคับประคอง (Palliative Care) ปัจจุบันยังไม่มีกรอบการทํางานในโรงพยาบาลรัฐ มีแต่นโยบายออกมา อย่างเช่น ทุกโรงพยาบาลให้มีศูนย์ดูแลแบบระคับประคอง แต่ไม่ได้พูดเลยว่าจะต้องมีหมอกี่คนพยาบาลกี่คน จะต้องมีกรอบให้หมอเท่าไหร่พยาบาลเท่าไหร่ซึ่งตรงนี้ผู้ปฏิบัติงานก็ทำงานด้วยความยากลําบาก กลายเป็นว่าการทํางาน 5 วัน/สัปดาห์ ต้องมีการเปลี่ยนหมุนเวียนกันอยู่ตลอด เพราะฉะนั้นในการที่บุคลากรจะพัฒนางานให้ดีขึ้นจึงเป็นไปได้ยาก เพราะว่าทุกคนทํางานอยู่ตลอดเวลา จึงส่งผลให้ไม่มีใครอยากมาทําเต็มตัว เพราะการเลื่อนตำแหน่งต่างๆรวมถึงความก้าวหน้า อาจเป็นไปได้ยาก

"ปัจจุบันตอนนี้เป็นภาวะคุกคามอยู่ เพราะรุ่นแรกๆของพยาบาลที่ทํางานอย่างแข็งขันและเชี่ยวชาญ ในช่วง 3-4 ปีนี้เริ่มเกษียณออกไปหมดแล้ว มองว่า บุคลากรที่ทำงานอยู่ตอนนี้ ถ้าเขารู้สึกว่าทํางานแล้วไม่ได้รับการมองเห็น ไม่ได้รับการยอมรับ ไม่ได้มีตําแหน่งงานที่ชัดเจน ไม่ได้เห็นเส้นทางการเติบโต ไม่ได้รับค่าตอบแทนที่คุ้มค่า บุคลากรรุ่นใหม่คงไม่อยากมาทํางานตรงนี้แน่นอน..." นพ.อรรถกร กล่าว