ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

ราชวิทยาลัยแพทย์เวชศาสตร์ครอบครัวฯ และสมาคมแพทย์เวชปฏิบัติทั่วไปฯ  ยื่น 4 ข้อเสนอ “รมว.ชลน่าน” ขับเคลื่อนงานปฐมภูมิ แก้ไขค่าตอบแทนตามภาระงาน - เงิน พ.ต.ส.เป็น 15,000 บ. ขอความก้าวหน้าหมอแฟมเมด ขึ้นซี 9 และ10  หวังสร้างแรงจูงใจคนเรียนเพิ่ม สอดคล้องนโยบายรมว.สธ. และอยู่ในกรอบที่ต้องดำเนินการตามรธน.

เมื่อวันที่ 20 กุมภาพันธ์ พญ.สุพัตรา ศรีวณิชชากร ประธานราชวิทยาลัยแพทย์เวชศาสตร์ครอบครัวแห่งประเทศไทย และนายกสมาคมแพทย์เวชปฏิบัติทั่วไป/เวชศาสตร์ครอบครัวแห่งประเทศไทย  เปิดเผยว่า ทางราชวิทยาลัยฯ และสมาคมแพทย์เวชปฏิบัติทั่วไปฯ  ได้เข้าพบ นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข(สธ.) ที่สำนักงานปลัดสธ. เมื่อวันที่ 19 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา เพื่อเสนอพิจารณากำหนดนโยบายและพัฒนามาตรการสนับสนุนการมีแพทย์เวชศาสตร์ครอบครัว (Family Medicine) ปฏิบัติงานในหน่วยบริการปฐมภูมิและเครือข่ายหน่วยบริการปฐมภูมิ ตามพระราชบัญญัติระบบสุขภาพปฐมภูมิ พ.ศ. 2562 โดยได้เสนอ 4 ข้อหลัก  คือ

ปรับปรุงค่าตอบแทนตามภาระงาน

1. แก้ไขปรับปรุง “หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการจ่ายเงินค่าตอบแทน สำหรับเจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติงานให้กับหน่วยบริการในสังกัดกระทรวงสาธารณสุข พ.ศ.2566 ให้เอื้อต่อการจูงใจแพทย์เวชศาสตร์ครอบครัว/แพทย์ที่ผ่านการอบรมตามที่ พ.ร.บ.ระบบสุขภาพปฐมภูมิ พ.ศ. 2562 กำหนดปฏิบัติงานบริการปฐมภูมิที่มีลักษณะหลากหลายได้อย่างมีคุณภาพเพิ่มมากขึ้น โดยเพิ่มรายการหัตถการด้าน Family Medicine  ตามฉบับร่างที่แนบมา ซึ่งการแก้ไขดังกล่าวเป็นอำนาจของปลัดกระทรวงสาธารณสุข

“เรื่องนี้เป็นค่าตอบแทนตามภาระงานในส่วนของเงินบำรุง ซึ่งปัจจุบันไม่มีค่างานเวชศาสตร์ครอบครัวอย่างชัดเจน แต่สาขาอื่นมีหมด โดยเราขอให้มีการปรับเพิ่มเติมดังกล่าว สิ่งเหล่านี้จะสร้างแรงจูงใจให้คนมาสนใจสาขานี้มากขึ้น” พญ.สุพัตรา กล่าว

ขอเพิ่มเงินพตส. หมอแฟมเมด

2. เร่งรัดและติดตามการปรับเพิ่มค่าตอบแทนพิเศษ เพื่อจูงใจสาขาส่งเสริมพิเศษ ฯลฯ หรือที่เรียกว่า เงิน พ.ต.ส ให้แก่แพทย์เวชศาสตร์ครอบครัวเป็นระดับ 3 ในอัตรา 15,000 บาท จากปัจจุบันจะได้ประมาณ 10,000 บาท โดยขอให้ขึ้นมาอยู่ในระดับ 3 โดยขอให้ดำเนินการได้โดยเร็ว ซึ่งการดำเนินการตรงนี้จะช่วยให้คนมาศึกษาแพทย์เวชศาสตร์ครอบครัวมากขึ้น อีกทั้ง เงิน พ.ต.ส. เป็นเงินขึ้นกับงบประมาณ ไม่ต้องขึ้นกับรพ. ที่ต้องรอเงินบำรุง

ปรับความก้าวหน้าถึงระดับซี 9 และ10

3. ปรับให้มีความก้าวหน้าด้านวิชาการแก่แพทย์เวชศาสตร์ครอบครัวเพิ่มมากขึ้นในระดับ ซี 9 เชี่ยวชาญในทุกระดับหน่วยบริการและเพิ่มการเลื่อนระดับความก้าวหน้าไปได้ถึงระดับผู้ทรงคุณวุฒิ  เหมือนกับแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ ในสาขาอื่นๆ กล่าวคือให้ความก้าวหน้าขึ้นระดับซี 9 และซี 10 ได้

4. ให้มีการพัฒนาปรับระบบการจ่ายงบประมาณต่อหน่วยบริการสุขภาพปฐมภูมิ ในลักษณะเหมาจ่ายที่มียอดงบประมาณชัดเจนแยกจากบริการโดยโรงพยาบาล ( OP primary care ที่แยกจาก OP รวม) 

ประธานราชวิทยาลัยแพทย์เวชศาสตร์ครอบครัวฯ กล่าวอีกว่า  ปัจจุบันแพทย์เวชศาสตร์ครอบครัวที่ทำงานทั่วประเทศประมาณ 2 พันคนจาก 8 พันกว่าคน แต่คนทำงานด้านนี้ในหน่วยบริการปฐมภูมิจริงๆ อยู่ที่ 2 พันคน ซึ่งยังต้องการอีกมาก เพราะเป้าหมายต้องการถึง 6,500 คน เพื่อมาทำงานปฐมภูมิ เนื่องจากเรื่องนี้เป็นกฎหมาย ที่มีการกำหนดในรัฐธรรมนูญว่า ต้องมีแพทย์เวชศาสตร์ครอบครัวดูแลประชาชนในสัดส่วนที่เหมาะสม และถูกแปลงออกมาเป็น พ.ร.บ.ระบบสุขภาพปฐมภูมิฯ เช่นกัน

“ท่านรมว.ชลน่าน มีนโยบายเรื่องนี้ ทั้งงานสุขภาพจิต ชีวาภิบาล ซึ่งทั้งหมดถูกรันด้วยแพทย์เวชศาสตร์ครอบครัว และหน่วยปฐมภูมิทั้งสิ้น ถือเป็นกลไกหลักเรื่องนี้ และรมว.ชลน่าน มีนโยบายค่าตอบแทน สร้างขวัญกำลังใจ จึงได้เสนอเรื่องให้ท่านช่วยผลักดันเรื่องนี้ต่อเนื่อง” พญ.สุพัตรา กล่าว

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ภายหลังการหารือ พญ.สุพัตรา ศรีวณิชชากร ได้มอบโล่สมาชิกกิตติมศักดิ์สมาคมแพทย์เวชปฏิบัติทั่วไป/เวชศาสตร์ครอบครัว แห่งประเทศไทย แก่ นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว  รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข