โรงพยาบาลสิชลเปิด "ศูนย์ชีวาภิบาล" เน้นการดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้ายแบบประคับประคอง (Palliative care) ที่ต้องการการดูแลที่บ้านหรือชุมชน พร้อมให้บริการแบบ One Stop Service อีกทั้งบริการให้ยืมอุปกรณ์ เช่น เครื่องออกซิเจน-เตียง-ชุดทําแผล ฯลฯ
เมื่อวันที่ 14 ธันวาคม 2566 ที่ผ่านมา นายแพทย์จรุง บุญกาญจน์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลสิชล เป็นประธานในพิธีเปิดศูนย์ชีวาภิบาล โดยกลุ่มงานการพยาบาลชุมชน ให้บริการผู้ป่วยดูแลต่อเนื่องระยะยาว (Long term care) ผู้ป่วย Home Ward การดูแลผู้ป่วยที่บ้าน ติดตามโดยระบบ (Telemedicine) ให้บริการผู้ป่วยระยะท้ายแบบประคับประคอง (Palliative care) และให้บริการคำปรึกษาคัดกรองสุขภาพผู้สูงอายุ ให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีตลอดจนตอบสนองความต้องการครั้งสุดท้ายของผู้ป่วยและครอบครัว
ทั้งนี้ นายแพทย์เอกรัฐ จันทร์วันเพ็ญ. รองผู้อำนวยการภารกิจด้านบริการปฐมภูมิ โรงพยาบาลสิชล จ.นครศรีธรรมราช ให้ข้อมูลว่า สถานชีวาภิบาลถือเป็นหนึ่งในนโยบาย Quick win ของกระทรวงสาธารณสุข สำหรับคําว่า "สถานชีวาภิบาล" จะเหมือนกับโรงพยาบาลที่รับดูแลคนไข้ระยะสุดท้ายแบบประคับประคอง(Palliative Care) ซึ่งต้องมีสถานที่ บุคลากร พร้อมและสามารถให้การบริการเหมือนกับโรงพยาบาลได้
แต่คําว่า "ศูนย์ชีวาภิบาล" เป็นหน่วยงานที่จัดตั้งขึ้นเพื่อให้การดูแลชีวิตของผู้ป่วยระยะสุดท้ายแบบประคับประคอง (Palliative care) ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งในการดูแลผู้ป่วยของโรงพยาบาลสิชล ประกอบด้วยทีมสหสาขาวิชาชีพ (แพทย์ พยาบาล นักสังคมสงเคราะห์ เจ้าหน้าที่ อาสาสมัคร เป็นต้น ซึ่งจะมีความแตกต่างกันเล็กน้อย กับคำว่า "สถานชีวาภิบาล"
ตัวอย่างเช่น หากบุคคลใดมีญาติเป็นผู้ป่วยระยะสุดท้าย เช่น ผู้ป่วยมะเร็ง ผู้ป่วยที่รักษาไม่หายแล้ว เมื่อต้องการรักษาแบบประคับประคองแต่ไม่สะดวกที่จะมานอนในโรงพยาบาล อยากนอนที่บ้านหรือรับบริการที่บ้าน ศูนย์ชีวาภิบาลจะสามารถประสานการดูแลให้ได้ด้วย
"โรงพยาบาลสิชลเปิด "ศูนย์ชีวาภิบาล" เพื่อเน้นการดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้ายแบบประคับประคอง ที่ต้องการการดูแลที่บ้านหรือในชุมชน ซึ่งเดิมโรงบาลสิชลเคยทําศูนย์ดูแลผู้ป่วยต่อเนื่องมามากกว่า10 ปี ซึ่งคําว่า การดูแลคนไข้ต่อเนื่อง หมายถึง ดูแลคนไข้ที่ต้องการติดตามต่อเนื่อง และไม่จําเป็นต้องเป็นผู้ป่วยระยะสุดท้าย อย่าง โรคหอบหืด โรคหลอดเลือดสมอง ซึ่งมีการไปเยี่ยมบ้านคนไข้ด้วยต้องมีกระบวนการดูแลผู้ป่วยที่บ้านด้วย"
ดังนั้น เมื่อมีนโยบายชีวาภิบาลเกิดขึ้น รพ.สิชล จึงมาแปลงคําว่า "ศูนย์ดูแลต่อเนื่อง" ให้ให้กลายเป็น "ศูนย์ชีวาภิบาล" เพื่อเป็นศูนย์กลางในการดูแลกลุ่มผู้ป่วยระยะสุดท้ายแบบประคับประคอง (Palliative care) ให้ครอบคลุมการรักษา เพราะฉะนั้น เมื่อคนไข้หรือญาติคนไข้ต้องการการดูแลต่อเนื่องหรือขอคําปรึกษาในการที่จะดูแลคนไข้ที่บ้านจะถือว่าเข้าเกณฑ์ที่จะมาใช้บริการที่ "ศูนย์ชีวาภิบาล" แห่งนี้ได้
นายแพทย์เอกรัฐ กล่าวเพิ่มเติมว่า นอกจากนี้ยังเปิดให้บริการตามเวลาราชการ 8.30-16.30 น. รวมทั้งมีบริการให้ยืมอุปกรณ์ที่จําเป็นในการดูแลคนไข้ที่บ้านด้วย เช่น เครื่องออกซิเจน เตียง ชุดทําแผล ฯลฯ เราสามารถให้บริการแบบ One Stop Service ได้ อีกทั้งมีการลงพื้นที่ไปติดตามคนไข้ที่บ้าน อย่างเช่น คนไข้ที่อยู่ระยะสุดท้ายต้องการจะดูแลประคับประคอง หรือว่าคนไข้บางคนเขามีอาการอาการกําเริบ ต้องไปตรวจให้บริการว่า อาการกําเริบขนาดไหน ต้องการการใช้ยายังไงบ้าง ฉะนั้น "ศูนย์ชีวาภิบาล" เรามีการทำงานเชิงรุกในชุมชนด้วย
ในส่วนบุคลากรที่อยู่ประจำศูนย์ประกอบด้วย 1. แพทย์เวชศาสตร์ครอบครัว ที่ผ่านการอบรมเกี่ยวกับการดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้ายแบบประคับประคอง มีความเชี่ยวชาญดูแลคนไข้กลุ่มนี้ได้เป็นอย่างดี และโรงพยาบาลสิชลมีหมอเวชศาสตร์ทั้งหมด 5 คน ซึ่งจะช่วยกันดูแลคนไข้สามารถทําให้กระบวนการทำงานต่างๆเดินหน้าไปได้อย่างต่อเนื่อง 2. พยาบาลวิชาชีพ ซึ่งพยาบาลต้องผ่านการฝึกอบรมในเรื่องของการดูแลผู้ป่วยแบบประคับประคองด้วยเช่นกันรวมทั้งทีมสหวิชาชีพด้วย เพราะมีส่วนสําคัญในการดูแลคนไข้เหล่านี้ อย่างเช่น โภชนากร เภสัชกร ทันตแพทย์ นักวิชาการสาธารณสุข แพทย์แผนไทย เป็นต้น
- 2130 views