เปิดสถานการณ์ไอกรน 5 ปียังพบต่อเนื่อง ล่าสุดปี 66 พบผู้ป่วยสงสัยเข้าข่าย 183 ราย เยอะสุดภาคใต้ 6 จังหวัดในเขตสุขภาพที่ 12  ถือว่ามากที่สุดในรอบ 5 ปีที่ผ่านมา เด็กแรกเกิดอายุต่ำกว่า 2 เดือน ยังไม่ถึงเกณฑ์รับวัคซีนไอกรน พบหากติดเชื้อเสี่ยงเสียชีวิต 50%  สธ.เร่งรณรงค์ฉีดวัคซีนในหญิงตั้งครรภ์แทน

 

เมื่อวันที่ 2 ธันวาคม นพ.เอกชัย เพียรศรีวัชรา รองอธิบดีกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวถึงสถานการณ์การระบาดของโรคไอกรนในเด็กเล็ก ว่า โรคไอกรนสามารถพบได้ทั้งในเด็กและผู้ใหญ่ โดยสถานการณ์ช่วง 5 ปีที่ผ่านมายังคงพบผู้ป่วยได้อยู่เรื่อยๆ บางปีผู้ป่วยต่ำกว่า 50 ราย บางปีเกิน 100 ราย แต่ปีล่าสุด 2566 พบว่ามีผู้ป่วยสงสัยเข้าข่ายป่วยโรคไอกรน ตั้งแต่เดือน ม.ค. – 26 พ.ย.2566 รวม 183 ราย ส่วนใหญ่จะอยู่ในเขตสุขภาพที่ 12 ทางภาคใต้ คือ สงขลา ตรัง พัทลุง ปัตตานี นราธิวาส และยะลา ทั้งนี้ ผู้ป่วยโรคไอกรนปีนี้มีจำนวนสูงที่สุดในรอบ 5 ปีที่ผ่านมา เพราะมีการตั้งเป้าตัวเลขว่าไม่ควรพบผู้ป่วยไอกรนมากกว่า 50 รายต่อปี แต่ปีนี้พบมากถึง 183 ราย และมีผู้เสียชีวิตแล้ว 2 รายซึ่งเป็นเด็กอายุต่ำกว่า 1 ขวบ

วัคซีนไอกรน หนึ่งในสิทธิประโยชน์ให้เด็กไทยทุกคนฟรี!

นพ.เอกชัยกล่าวว่า การฉีดวัคซีนป้องกันโรคไอกรนเป็น 1 ในวัคซีนพื้นฐานที่เด็กทุกคนจะต้องได้รับตามชุดสิทธิประโยชน์ของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เป็นการฉีดโดยไม่เสียค่าใช้จ่ายใดๆ ซึ่งข้อมูลและช่วงเวลาการรับวัคซีนจะระบุไว้ในสมุดบันทึกสุขภาพแม่และเด็ก (สมุดสีชมพู) โดยการฉีดวัคซีนนั้นจะเป็นการป้องกัน 3 โรค หรือที่เรียกว่า DTwP-HB-Hib คือ โรคคอตีบ โรคบาดทะยักและโรคไอกรน ซึ่งจะฉีดทั้งหมด 5 เข็ม เริ่มเข็มแรกตอนอายุ 2 เดือน 4 เดือน 6 เดือน 1 ขวบครึ่ง และ 4 ขวบตามลำดับ

“เราได้เฝ้าระวังและตรวจหาโรคไอกรนอย่างเข้มข้นมาตลอด อาจเป็นไปได้ว่าอาจเกิดการระบาดขึ้นเป็นครั้งคราว ในผู้ใหญ่ติดเชื้อแล้วอาจไม่มีอาการอะไรเลย แต่สามารถเป็นพาหะแพร่เชื้อได้ โดยเฉพาะเด็กเล็กๆ ที่ไม่มีภูมิคุ้มกันหรือได้รับวัคซีนป้องกันโรคไอกรนไม่ครบ เมื่อรับเชื้อก็จะมีอาการรุนแรงได้ ยิ่งเด็กเล็กมากเท่าไหร่อาการก็ยิ่งรุนแรงสูงมากและมีโอกาสเสียชีวิตสูงขึ้น ส่วนผู้ใหญ่ที่ไม่มีภูมิคุ้มกันจากวัคซีนและมีโรคประจำตัว เมื่อติดเชื้อก็มีโอกาสอาการรุนแรง ถึงขั้นเสียชีวิตได้เช่นกัน” นพ.เอกชัยกล่าว

สธ.เร่งรณรงค์ฉีดวัคซีนในหญิงตั้งครรภ์  

นพ.เอกชัยกล่าวว่า ทางกระทรวงสาธารณสุขได้เก็บข้อมูลในปีที่ผ่านๆ มาพบว่า เด็กแรกเกิดอายุต่ำกว่า 2 เดือนที่ยังไม่ถึงเกณฑ์การรับวัคซีนไอกรนนั้น เมื่อติดเชื้อแล้วจะมีโอกาสเสียชีวิตได้ถึงร้อยละ 50 ของเด็กที่ป่วย ฉะนั้น เด็กที่อายุต่ำกว่า 2 เดือนและแม่ไม่มีภูมิคุ้มกันมาก่อน ทารกก็จะไม่มีภูมิฯ เลย โอกาสติดเชื้อไอกรนก็จะสูงขึ้น ดังนั้น สธ. จึงได้รณรงค์ให้มีการฉีดวัคซีนในหญิงตั้งครรภ์ เพื่อให้เกิดภูมิฯ ไปสู่ลูกและสามารถส่งผ่านทางน้ำนมได้อีกด้วย ได้แก่ วัคซีนคอตีบและบาดทะยัก ที่จะฉีดตอนอายุครรภ์ 20 สัปดาห์ จากนั้นจะฉีดวัคซีนที่รวมไอกรนด้วย ตอนอายุครรภ์ 5 เดือนไปแล้ว รวมถึงวัคซีนไข้หวัดใหญ่และวัคซีนโควิด-19 ที่จะฉีดตอนอายุครรภ์ 5 เดือนขึ้นไป

“ขอเน้นย้ำว่าวัคซีนที่ฉีดให้หญิงตั้งครรภ์ตามช่วงอายุครรภ์นั้น มีความปลอดภัย สามารถฉีดได้โดยไม่เป็นอันตราย ขณะเดียวกัน สปสช. ได้ซื้อวัคซีนไอกรนชนิดไร้เซลล์มาเพื่อฉีดในหญิงตั้งครรภ์ในปีนี้ 110,000 โดส ซึ่งเพิ่มเริ่มโครงการนี้ในช่วงกลางปีที่ผ่านมา” นพ.เอกชัยกล่าว

 

โรคไอกรน คือ...

รองอธิบดีฯ กล่าวว่า โรคไอกรนเกิดจากเชื้อแบคทีเรียในกลุ่ม Bordetella pertussis มักจะพบเชื้อในลำคอและโพรงจมูก อาการของโรคในช่วงแรกจะคล้ายไข้หวัด หลายคนคิดว่าตัวเองเป็นแค่ไข้หวัด โดยมีเวลาฟักเชื้อ 1 สัปดาห์ จากนั้นจะมีอาการที่ชัดเจนขึ้นคือ ไอเป็นชุดถึงทีละ 10 ครั้ง ทำให้หายใจไม่ทัน บางรายหน้าเขียว ตาเขียว จากนั้นเมื่อหยุดไอก็จะสูดลมหายใจเข้าปอดลึกๆ มากๆ ทำให้เกิดเสียงหวีดขึ้น ดังนั้น ถ้าเป็นเด็กเล็กจะอันตรายมากเพราะทำให้ออกซิเจนไปเลี้ยงสมองไม่เพียงพอ ทำให้ระบบหัวใจล้มเหลวได้ ส่วนใหญ่จะเกิดอาการตอนกลางคืนทำให้นอนไม่ได้ ร่างกายก็จะอ่อนเพลียขึ้น ประกอบกับผู้ป่วยจะกินอาหารไม่ค่อยได้ ก็ยิ่งทำให้ซูบผอม ทั้งนี้ ผู้ป่วยโรคไอกรนอาจมีอาการเรื้อรังได้ถึง 3 เดือน จากนั้นอาการก็จะค่อยๆ ขึ้น ขณะที่การรักษาก็ต้องให้ยาตามอาการ ไม่มียาเฉพาะในการฆ่าเชื้อได้ทันที

“ข้อมูลเด็กที่ติดเชื้อไอกรนจะพบมากในเด็กเล็กแต่ช่วงหลังก็เริ่มพบในเด็กอายุมากกว่า 5 ปีเพิ่มขึ้น ซึ่งเกือบทั้งหมดไม่ได้รับวัคซีนมาก่อน โดยการเข้าถึงวัคซีนไอกรนในเด็กไทยที่ครบโดส 5 เข็ม ในปัจจุบันนี้ยังไม่ถึง 90% ซึ่งจริงๆ เราตั้งเป้าให้มีการฉีดถึง 100% แต่ในทางปฏิบัติก็เป็นเรื่องที่ยากอยู่พอสมควร เพราะมีเด็กในพื้นที่ห่างไกล หรือความเชื่อของแต่ละพื้นที่ โดยปีนี้กรมควบคุมโรคได้ตั้งเป้าการฉีดวัคซีนไอกรนให้เพิ่มขึ้นมาอย่างน้อย 90% ถ้าจะยิ่งดีขึ้นทะลุเป้า 95% ซึ่งจะต้องทำให้ภายในปีนี้” นพ.เอกชัยกล่าว