สช. ผนึกกำลัง “มหาดไทย” ร่วมเดินหน้าสร้างสังคมและระบบสุขภาพที่เป็นธรรมตาม “ธรรมนูญว่าด้วยระบบสุขภาพแห่งชาติ ฉบับที่ 3” เตรียมนำเป้าหมาย-แนวคิด-มาตรการสำคัญ สู่การขับเคลื่อนในระดับประเทศ-จังหวัด-ท้องถิ่น พร้อมหนุนเสริมกระบวนการพัฒนานโยบายสาธารณะแบบมีส่วนร่วม เชื่อมร้อยกลไกต่างๆ ในระดับพื้นที่ร่วมมาเป็นหุ้นส่วนการพัฒนา
เมื่อวันที่ 28 พ.ย. 2566 กระทรวงมหาดไทย (มท.) โดย นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัด มท. และ สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) โดย นพ.สุเทพ เพชรมาก เลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (คสช.) ร่วมกันทำพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) ขับเคลื่อนสังคมและระบบสุขภาพที่เป็นธรรม ตามธรรมนูญว่าด้วยระบบสุขภาพแห่งชาติ ฉบับที่ 3 พ.ศ. 2565 โดยมีคณะผู้บริหารของทั้งสองหน่วยงาน และหน่วยงานต่างๆ ในสังกัดร่วมเป็นพยาน
สำหรับ ธรรมนูญว่าด้วยระบบสุขภาพแห่งชาติ ฉบับที่ 3 พ.ศ. 2565 เป็นเครื่องมือสำคัญภายใต้ พ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2550 ที่ คสช. จัดทำขึ้น เพื่อใช้เป็นกรอบและแนวทางในการกำหนดนโยบาย ยุทธศาสตร์ และการดำเนินงานด้านสุขภาพของประเทศ พร้อมกำหนดให้มีการทบทวนอย่างน้อยทุกห้าปี เพื่อให้มีความสอดคล้องเท่าทันต่อสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไป โดยธรรมนูญฯ ฉบับที่ 3 ได้ผ่านความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรี (ครม.) รวมทั้งรับทราบโดยวุฒิสภา และสภาผู้แทนราษฎร ก่อนที่จะมีการประกาศในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 10 เม.ย. 2566 ซึ่งมีผลผูกพันหน่วยงานของรัฐและหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้อง ที่จะต้องดำเนินการตามอำนาจหน้าที่
นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัด มท. เปิดเผยว่า มท. มีความยินดีที่ได้ร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการสานพลังขับเคลื่อนสังคมและระบบสุขภาพที่เป็นธรรม ตามธรรมนูญฯ ฉบับที่ 3 ร่วมกับ สช. และเครือข่ายภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ซึ่งมีความสอดคล้องกับภารกิจสำคัญของ มท. ที่จะต้องบำบัดทุกข์บำรุงสุข รวมถึงอำนวยความเป็นธรรมของสังคม ผ่านการขับเคลื่อนแผนงาน/โครงการต่างๆ ตามนโยบายของรัฐบาล ตลอดจนงานตามภารกิจและงานในระดับพื้นที่อย่างต่อเนื่อง
นายสุทธิพงษ์ กล่าวว่า ในแง่ของการดำเนินงานด้านสุขภาพ มท. ได้มีการทำงานร่วมกับภาคีด้านสุขภาพและสาธารณสุขมาอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นการส่งเสริมการออกกำลังกาย การรณรงค์ตรวจสุขภาพ การดูแลศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก การดูแลตั้งแต่ครรภ์มารดาจนถึงเชิงตะกอน การดูแลด้านจิตใจและสังคม ตลอดจนการดูแลผู้ป่วยติดเตียง และผู้ยากไร้/คนยากจน ซึ่งขณะนี้เมื่อโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) ถ่ายโอนมาอยู่กับท้องถิ่น ภารกิจเหล่านี้จึงยิ่งชัดเจนมากขึ้น
ในส่วนของการลงนามความร่วมมือครั้งนี้ มท. จะมีการนำธรรมนูญฯ ฉบับที่ 3 ไปใช้เป็นกรอบในการจัดทำนโยบายและยุทธศาสตร์ของกระทรวง โดยเน้นแนวคิดทุกนโยบายห่วงใยสุขภาพ (Health in All Policies : HiAP) และเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals: SDGs) พร้อมทั้งนำเป้าหมายและมาตรการสำคัญตามธรรมนูญฯ ฉบับที่ 3 ไปใช้ประกอบการออกแบบกลวิธีดำเนินการของแผนพัฒนาจังหวัด แผนพัฒนาท้องถิ่น แผนปฏิบัติราชการระดับจังหวัดและอำเภอ ตลอดจนการติดตามและประเมินผล
ขณะเดียวกัน ยังจะมีการนำกระบวนการพัฒนานโยบายสาธารณะแบบมีส่วนร่วม เช่น สมัชชาสุขภาพ ธรรมนูญสุขภาพ การประเมินผลกระทบด้านสุขภาพ (Health Impact Assessment: HIA) ฯลฯ ไปใช้ประกอบการจัดทำผังนโยบายระดับประเทศ แผนพัฒนาจังหวัดหรือกลุ่มจังหวัด หรือแผนและข้อบัญญัติขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) โดยประสานเชื่อมโยงกับกลไกต่างๆ เช่น คณะกรรมการพัฒนาคุณภาพชีวิตระดับอำเภอ (พชอ.) คณะกรรมการสุขภาพระดับพื้นที่ (กสพ.) คณะกรรมการเขตสุขภาพเพื่อประชาชน (กขป.) สมัชชาสุขภาพจังหวัด ฯลฯ เข้ามาร่วมเป็นหุ้นส่วนการพัฒนา
“การลงนามในวันนี้เป็นเพียงจุดเริ่มต้นของความร่วมมือระหว่าง มท. สช. และภาคีเครือข่าย ที่ได้มีการหารือและเห็นพ้องในการสานพลังขับเคลื่อนสังคมและระบบสุขภาพที่เป็นธรรมร่วมกัน เพื่อให้พี่น้องประชาชนมีความสุข ทั้งเรื่องสุขภาพพลานามัย ความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน เศรษฐกิจและความเป็นอยู่ โดยเราจะมีการสานพลังลงมือทำร่วมกันอย่างใกล้ชิด เพื่อให้มีมรรคมีผลในทางปฏิบัติมากกว่าเชิงสัญลักษณ์ สามารถประสบความสำเร็จลุล่วง เกิดประโยชน์ต่อพี่น้องประชาชนอย่างเป็นรูปธรรมและยั่งยืนต่อไป” ปลัด มท. กล่าว
ด้าน นพ.สุเทพ เพชรมาก เลขาธิการ คสช. กล่าวว่า ธรรมนูญว่าด้วยระบบสุขภาพแห่งชาติ ฉบับที่ 3 เปรียบได้กับแผนที่นำทาง หรือเข็มทิศนโยบายสุขภาพของประเทศไทย ที่จัดทำขึ้นด้วยกระบวนการการมีส่วนร่วมอย่างกว้างขวาง โดยกำหนดทิศทางในระยะ 5 ปีต่อจากนี้มุ่งให้เกิด “ระบบสุขภาพที่เป็นธรรม” ทั้งในระบบบริการสุขภาพ (healthcare system) ตลอดจนระบบการสร้างเสริมสุขภาพและการจัดการปัจจัยสังคมที่กำหนดสุขภาพ (Social Determinants of Health: SDH) พร้อมให้ความสำคัญกับกลุ่มคนเปราะบาง รวมไปถึงการสร้างความเข้มแข็งของชุมชนและกลไกทางสังคมด้วยกระบวนการมีส่วนร่วม
“การจะเดินหน้าไปสู่สังคมสุขภาวะ ที่สร้างความเป็นธรรมด้านสุขภาพให้กับทุกคนบนผืนแผ่นดินไทยได้อย่างยั่งยืน ตามจุดมุ่งหมายสูงสุดของธรรมนูญฯ ฉบับที่ 3 นี้ จำเป็นอย่างยิ่งที่หน่วยงานทุกภาคส่วนจะต้องเข้ามาร่วมมือกันเดินหน้าขับเคลื่อนเรื่องนี้ตามบทบาทและหน้าที่ของตน ซึ่ง มท. ถือเป็นหน่วยงานภาคียุทธศาสตร์สำคัญที่จะช่วยให้เราผลักดันกรอบคิดตามธรรมนูญฯ ฉบับนี้ไปสู่การขับเคลื่อนที่เป็นรูปธรรม ตั้งแต่ในระดับประเทศไปจนถึงระดับท้องถิ่น พื้นที่ต่างๆ ได้อย่างครอบคลุม” นพ.สุเทพ กล่าว
- 91 views