สปสช.เผยผลสำเร็จ “โครงการพัฒนาระบบการจดทะเบียนการเกิด” หลัง 3 ปี รพ.ภาครัฐทั่วประเทศ เข้าร่วมระบบติดตามจดทะเบียนราษฎร์ เพิ่มการคุ้มครองสิทธิเด็กแรกเกิด โดยเฉพาะสิทธิระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า และยังครอบคลุมไปถึงเด็กต่างด้าวที่เกิดในประเทศไทย โดยการสนับสนุนจาก UNICEF แจงผลสำเร็จ ยังช่วยในการค้นหาและลงทะเบียนกลุ่มเด็กที่มีความผิดปกติแต่กำเนิดเข้าถึงการรักษาอย่างทั่วถึงอีกด้วย
ภญ.เนตรนภิส สุชนวนิช ผู้ช่วยเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวว่า การจดทะเบียนการเกิดในระบบทะเบียนราษฎร์เป็นขั้นตอนสำคัญของการแสดงความมีตัวตนทางกฎหมาย ซึ่งจะนำไปสู่การคุ้มครองสิทธิและสวัสดิการที่ควรจะได้รับตามสิทธิมนุษยชน ในอดีตที่ผ่านมา พบว่ามีเด็กเกิดในประเทศไทย ประมาณ 700,000-800,000 รายต่อปี มีเด็กที่ไม่ได้จดทะเบียนการเกิดประมาณร้อยละ 7 หรือคิดเป็นจำนวนถึง 60,000 รายต่อปี ซึ่งถือว่าเป็นจำนวนไม่น้อย
ทั้งนี้สาเหตุส่วนหนึ่งเกิดจากความเข้าใจผิดของพ่อและแม่ ที่คิดว่าหนังสือรับรองการเกิดที่ได้จาก รพ.เป็นใบเกิด (สูติบัตร) และขาดระบบการติดตามเพื่อให้บิดามารดาหรือผู้ปกครองนำเด็กมาจดทะเบียนเกิด ซึ่งจะมีผลต่อการเข้าถึงสิทธิต่างๆ ซึ่งรวมถึงสิทธิการรับบริการสาธารณสุขในระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ดังนั้นองค์การเพื่อเด็กแห่งสหประชาชาติ สำนักงานประเทศไทย (UNICEF) จึงได้ร่วมกับ กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย (มท.) และสปสช. ดำเนิน “โครงการพัฒนาระบบการจดทะเบียนการเกิด” เพื่อให้มีการรับรองสิทธิเด็กที่เกิดในประเทศไทยทั้งหมดไม่ว่าเป็นเด็กไทยหรือต่างด้าว
ภญ.เนตรนภิส กล่าวว่า เบื้องต้นองค์การยูนิเซฟอยากให้ รพ.เป็นจุดบริการจดทะเบียนเกิด (One stop service) แต่ยังไม่สามารถทำได้เนื่องจากข้อขัดข้องในเชิงบทบาทและกฎหมายที่ต้องมีความเข้าใจและความรับผิดชอบหลายประการ ด้วยเหตุนี้จึงเป็นการมุ่งเพื่อร่วมพัฒนาการจดทะเบียนการเกิดให้เชื่อมโยงระหว่าง รพ.และหน่วยงานทะเบียนของมหาดไทยแทน และให้มีระบบติดตามเด็กทุกคนที่ยังไม่เข้าสู่ระบบทะเบียนให้มาเข้าระบบได้อย่างครบถ้วน ซึ่งเป็นการช่วยให้เด็กเกิดใหม่เข้าถึงระบบหลักประกันสุขภาพ
“ทันทีที่มีเด็กเกิดใหม่ใน รพ. เจ้าหน้าที่ของ รพ.จะบันทึกข้อมูลเกิดลงในระบบสารสนเทศที่มีการเชื่อมโยงข้อมูลไปยังฐานข้อมูลสำนักทะเบียนราษฎร์ กระทรวงมหาดไทยว่ามีเด็กเกิดใหม่ พร้อมกันนี้จะมีการพิมพ์หนังสือรับรองการเกิดให้กับบิดามารดาเพื่อนำไปแจ้งเกิดและรับสูติบัตรที่สำนักงานเขต เทศบาลหรืออำเภอ ซึ่งจะได้รับเลข 13 หลักให้กับเด็กทุกคนไม่ว่าบิดามารดาจะเป็นสัญชาติไทยหรือไม่ ในกรณีเด็กสัญชาติไทยและไม่ใช่บุตรของข้าราชการ ก็จะได้รับการลงทะเบียนสิทธิระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าที่ รพ.และไม่ต้องย้อนเอาสูติบัตรกลับมาที่ รพ. เนื่องจาก รพ.สามารถพิมพ์ใบแทนสูติบัตรได้ทันทีที่หน่วยรับลงทะเบียนของ รพ. หากผู้ปกครองไปแจ้งเกิดให้เด็กแล้ว” ผู้ช่วยเลขาธิการ สปสช. กล่าวและว่า ทั้งนี้กรณีที่บิดามารดาไม่นำหนังสือรับรองการเกิดไปแจ้งเกิด มท.จะมีระบบตรวจสอบจากฐานข้อมูลทะเบียนราษฎร์ และทำหนังสือแจ้งผู้ปกครองเพื่อติดตามให้มาจดทะเบียนเกิดให้ถูกต้อง พร้อมทั้งส่งข้อมูลให้ รพ.ที่ทำคลอดเด็กช่วยติดตามอีกทางหนึ่ง
ภญ.เนตรนภิส กล่าวว่า จากการดำเนินโครงการนำร่องในช่วง 3 ปี ในปี 2554 มี รพ.สังกัด สธ.เข้าร่วมโครงการ 44 แห่ง ปี 2555 เพิ่มเป็น 534 แห่ง และในปี 2556 ได้ขยายครอบคลุมหน่วยบริการสาธารณสุขของรัฐทั่วประเทศ ส่งผลให้จำนวนเด็กที่ไม่ได้รับการแจ้งเกิดสะสมเกิน 15 วันลดลง โดยข้อมูลในเดือนสิงหาคม 2557 อยู่ที่ร้อยละ 3.51 ของจำนวนเด็กเกิดใหม่ แต่ทั้งนี้ยังเป็นอัตราที่สูงกว่าตัวชี้วัดขององค์การยูนิเซฟที่ต้องการให้ลดลงต่ำกว่าร้อยละ 3 โดย สธ. สปสช.และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอยู่ระหว่างการพัฒนาระบบเพื่อให้เป็นไปตามเป้าหมาย
สำหรับการพัฒนาระบบการจดทะเบียนการเกิดนี้ จะทำให้เด็กแรกเกิดทุกคนในประเทศไทยมีสิทธิในระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าและเข้าถึงบริการสุขภาพได้ ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญอย่างมากสำหรับกลุ่มเด็กที่มีความผิดปกติตั้งแต่กำเนิด อาทิ โรคที่มีความพิการแต่กำเนิด ความผิดปกติทางสมอง ปากแหว่งเพดานโหว่ เป็นต้น ซึ่งจะนำไปสู่การจดทะเบียนความพิการตั้งแต่กำเนิด ซึ่งจากข้อมูลปี 2554 มีเด็กที่มีความผิดปกติแต่กำเนิดเข้ารับการรักษาผู้ป่วยในในระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าจำนวน 25,698 ราย มีการเบิกชดเชยค่ารักษากว่า 677 ล้านบาท ทั้งนี้หากทำให้ระบบสามารถลงทะเบียนเกิดเด็กแรกเกิดทุกคนในประเทศไทยจะเป็นประโยชน์ต่อเด็กกลุ่มนี้มาก เนื่องจากความพิการในบางโรคสามารถรักษาให้หายจากความพิการได้ หากสามารถระบุความพิการได้ตั้งแต่เนิ่นๆ และจัดระบบการดูแลรักษาหรือการส่งต่อให้ผู้เชี่ยวชาญวางแผนการรักษาอย่างถูกต้องต่อไป
- 18 views