เวทีประชุมวิชาการ “การจัดหายาจำเป็น โดย สปสช.” ชี้กลไกจัดซื้อยารวมระดับประเทศช่วยผู้ป่วยเข้าถึงยาจำเป็นและการรักษา แถมช่วยประหยัดงบประมาณประเทศ พร้อมห่วงรื้อกลไกจัดซื้อกระทบผู้ป่วย ด้าน “ผอ.ศูนย์พิษวิทยา รามาธิบดี” ระบุหน่วยงานที่ทำหน้าที่ต้องเข้าใจปัญหาการเข้าถึงยาและความจำเป็นการสต๊อกยา
เมื่อวันที่ 24 พฤษภาคม 2560 ที่หอประชุมจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย – ในการประชุมวิชาการเรื่อง “การจัดหายาจำเป็น โดย สปสช.” จัดโดยศูนย์วิชาการเฝ้าระวังและพัฒนาระบบยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยและภาคีเครือข่าย
ภญ.เนตรนภิส สุชนวนิช อดีตรองเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวว่า การจัดซื้อยาราคาแพงมีประวัติตั้งแต่หลังการจัดตั้ง สปสช.และมีการพัฒนาต่อเนื่อง เพราะด้วยงบประมาณที่จำกัด สปสช.จึงต้องใช้ยุทธศาตร์เพื่อเพิ่มค่าของเม็ดเงินงบประมาณที่ได้รับ แต่ตอบโจทย์ได้ โดยมีระบบประเมินคุณค่าทางเศรษฐศาสตร์ ซึ่งภายหลังต้องดูในเรื่องความเท่าเทียมทางสังคมและผลกระทบต่องบประมาณ โดยใช้ยาในบัญชียาหลักแห่งชาติที่เป็นกลไกสำคัญในการต่อรองราคา ดังนั้นราคายาที่ลดลงจึงไม่ได้เกิดจากการจัดซื้อโดยตรง และผู้ที่มีบทบาทอย่างมาในการต่อรองราคาคือ องค์การเภสัชกรรม (อภ.) และกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ไม่ใช่ สปสช. ซึ่งทำหน้าที่เป็นเพียงผู้ประสานงานและกำกับงบประมาณเท่านั้น
ทั้งนี้ปัจจุบัน สปสช.มีการจัดซื้อยาเพียง 90 รายการ เป็นกลุ่มยาราคาแพงที่ผู้ป่วยมีปัญหาการเข้าถึง ทั้งยามะเร็ง ยาต้านไวรัสเอดส์ ยากำพร้า เซรุ่มแก้พิษงู ยาต้านพิษ วัคซีน และน้ำยาล้างไตผ่านช่องท้อง ปริมาณการจัดซื้อเพียงร้อยละ 4.9 ของมูลค่าการซื้อยาทั้งประเทศ โดยรายการยาเหล่านี้ต้องผ่านกระบวนการพิจารณาอนุกรรมการพัฒนาบัญชียาหลักแห่งชาติ
จากกระบวนการที่เกิดขึ้น ส่งผลให้ยาเหล่านี้มีราคาลดลง อย่างยาเพกกิเลตอินเตอร์เฟียรอนรักษาไวรัสตับอักเสบซี จากราคา 11,153 บาท ลดลงอยู่ที่ 3,150 บาท ยาทีโนโฟเวียร์รักษาไวรัสตับอักเสบบี โดย อภ.ผลิต จากเม็ดละ 70 บาท เหลือ 12 บาท เป็นต้น ทั้งนี้ยาที่เข้าสู่ระบบต้องเป็นยาคุณภาพและมาตรฐาน ซึ่งมีระบบการตรวจสอบคุณภาพยาโดยกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ในกรณียามะเร็งที่ตรวจสอบไม่ได้ก็มีการจัดส่งไปตรวจยังห้องปฏิบัติประเทศเบลเยี่ยม เป็นแห่งเดียวกับที่ยาต้นแบบส่งตรวจ ซึ่งที่ผ่านมามียาบางรายการ บางล๊อตที่ไม่ได้จัดซื้อเพราะไม่ผ่านการตรวจสอบ
ผลที่เกิดขึ้นทำให้ผู้ป่วยเข้าถึงยาเพิ่มขึ้นอย่างมาก อาทิ บัญชียา จ.2 ปี 2559 มีผู้ป่วยที่เข้าถึงยา 60,000 ราย จากเดิมที่มีอัตราเข้าถึงเพียง 800 ราย เป็นต้น ทั้งยังช่วยประหยัดงบประมาณจัดซื้อยา ตั้งแต่ปี 2553 อยู่ที่ 7,000 ล้านบาทต่อปี ขณะเดียวกันยังลดการสูญเสียยาหรือปัญหาการสต๊อกยาได้
“เมื่อดูภาพรวมการเข้าถึงยา ไทยอยู่ในกลุ่มประเทศที่มียาใหม่ๆ ใช้กับผู้ป่วย ไม่ช้ามาก แต่หากจะเทียบกับประเทศพัฒนาแล้วคงไม่ได้ ซึ่งหากจะให้เข้าถึงเท่ากัน รัฐบาลคงต้องมีงบประมาณให้ที่มากกว่านี้” อดีตรองเลขาธิการ สปสช. กล่าว
นายนิมิตร์ เทียนอุดม ผู้อำนวยการมูลนิธิเข้าถึงเอดส์ กล่าวว่า การจัดซื้อยารวมหาก สปสช.ยิ่งจัดซื้อยาถูกเท่าไหร่ ยิ่งเพิ่มจำนวนผู้ป่วยเข้าถึงยามากขึ้น เป็นหลักการบริหารจัดการ มีทั้งคน สธ. ผู้แทนราชวิทยาลัยแพทย์ และกระบวนการชัดเจน การที่บอกว่า รพ.ขาดทุนให้ยกเลิกกองทุนเฉพาะโรค ส่งเงินทั้งหมดให้กับ รพ.มองว่าเป็นการคิดแบบไม่คิดและเป็นแนวคิดที่มีปัญหา ซึ่งการระบุว่า สปสช.ไม่มีอำนาจจัดซื้อ แต่ขณะเดียวกัน สปสช.ก็ไม่มีอำนาจจ่ายเงินทั้งก้อนให้ สธ.จัดซื้อยาเช่นกัน เพราะ สธ.ไม่ใช่หน่วยบริการ แต่หากส่งเงินให้กับ รพ.จัดซื้อ คำถามคือ รพ.สามารถจัดซื้อตามราคาที่ สธ.ต่อรองกับบริษัทยาได้หรือไม่ และหากผู้ป่วยเข้าไม่ถึงยา รมว.สาธารณสุขจะรับผิดชอบอย่างไร
“การจัดซื้อยารวมของ สปสช. แม้ว่าจะไม่มีอำนาจทางกฎหมาย แต่เป็นการจัดซื้อโดยใช้สติปัญญาพื้นฐานเพื่อให้เกิดการใช้เงินที่เหมาะสม และให้เพียงพอต่อการดูแลผู้ป่วยตามความจำเป็น จึงควรมีการแก้ไขกฎหมายรองรับ แต่ที่ผ่านมาผู้แก้ไขกฎหมายกลับไม่คำนึงถึงเรื่องนี้ แต่บอกว่า สปสช.ไม่มีอำนาจจัดซื้อและให้รื้อโครงสร้างนี้ แต่ก็เกิดคำถามว่าแล้วกฎหมายให้อำนาจ สธ.ทำหน้าที่จัดซื้อหรือไม่” นายนิมิตร์ กล่าวและว่า อีกทั้งการเรื่องนี้ต้องคำนึงถึงความสมดุลระหว่างผู้ซื้อและผู้ให้บริการ การที่ให้ สธ.ซึ่งเป็นผู้ให้การรักษาและกำหนดการรักษามาทำหน้าที่นี้ ถามว่าเป็นผลประโยชน์ทับซ้อนหรือไม่
นายธนพล ดอกแก้ว ประธานชมรมเพื่อนโรคไตแห่งประเทศไทย กล่าวว่า จากการดำเนินการของ สปสช.ทำให้ค่าใช้จ่ายดูแลผู้ป่วยไตวายเรื้อรังระยะสุดท้ายลดลง จากเดิมราคาฟอกเลือดอยู่ที่ 2,500 บาทต่อครั้ง ซึ่งหลังประกาศสิทธิประโยชน์ดูแลผู้ป่วยไตวายเรื้อรัง อยู่ที่ 1,500 บาทต่อครั้ง ส่วนยาอีริโทรโพอิตินจากราคา 700 บาทต่อเข็ม ลดลงอยู่ที่ 200 บาทต่อเข็ม ส่งผลให้ผู้ป่วยไตวายเรื้อรังเข้าถึงการรักษาได้และไม่ต้องล้มละลายจากค่าใช้จ่าย เช่นเดียวกับการล้างไตผ่านช่องท้องที่ช่วยผู้ป่วยเข้าถึงการเข้าถึงการรักษาเพิ่มขึ้น ซึ่งในการจัดซื้อยารวมระดับประเทศ มองว่าไม่มีใครกล้าต่อรองราคาถูกเท่า สปสช.อีกแล้ว อย่างน้ำยาล้างไตผ่านช่องท้อง สปสช.จัดซื้อได้ในราคา 128 ล้านบาท จากราคาท้องตลาด 160 บาท ทั้งยังมีระบบจัดส่งถึงบ้าน อย่างไรก็ตามมองว่ากรณีที่มีการปรับเปลี่ยนผู้จัดซื้อยารวมระดับประเทศ หากไม่สามารถดำเนินการได้ภาระจะกลับตกอยู่ที่ผู้ป่วยเอง
พญ.ปิยะดา จึงสมาน โรงพยาบาลบ้านแพ้ว กล่าวว่า ขณะนี้มีความกังวลกรณีที่มีการปรับเปลี่ยนการบริหารจัดซื้อยารวมระดับประเทศ โดยในส่วนของน้ำยาล้างไตผ่านช่องท้องไม่มั่นใจว่าจะมีการบริหารจัดการในรูปแบบเดิมหรือไม่ และหากให้โรงพยาบาลดำเนินการเองก็ไม่รู้ว่าจะสามารถจัดซื้อจัดจ้างในรูปแบบเดิมภายใต้งบประมาณที่มีอยู่ได้อย่างไร ซึ่งที่ผ่านมาเราใช้ระบบนี้มาเป็น 10 ปีแล้วและต่างประเทศได้ให้ความชื่นชม เพราะเรามีการจัดส่งน้ำยาล้างไตถึงบ้านโดยบริษัทไปรษณีย์ไทย จำกัด ขณะที่ฮ่องกงและเวียดนามผู้ป่วยต้องมาขนน้ำยาล้างไตเอง จึงเป็นจุดแข็งของระบบ ซึ่งหากมีการปรับระบบใหม่ไม่รู้ว่ากระบวนการตรงนี้ต้องมาเริ่มใหม่จากศูนย์หรือไม่
ขณะที่ นพ.วินัย วนานุกูล หัวหน้าศูนย์พิษวิทยา โรงพยาบาลรามาธิบดี กล่าวว่า จากนโยบายจัดซื้อยารวมระดับประเทศ สปสช. ส่งผลให้เกิดการบริหารจัดการยาต้านพิษ ช่วยให้ผู้ป่วยที่ได้รับพิษเข้าถึงยารักษา จากเดิมที่มีปัญหาการเข้าถึง ซึ่งหน่วยงานที่เข้ามาดำเนินการตรงนี้ต้องเข้าใจปัญหา สนับสนุนงบประมาณจัดซื้อยาเพื่อสำรองให้กับผู้ป่วย ซึ่งยากำพร้า ยาต้านพิษ รวมถึงเซรุ่มแก้พิษงู แม้ว่ามีจำนวนผู้ใช้ไม่มาก แต่จำเป็นต้องมีไว้ ซึ่งส่วนหนึ่งอาจต้องหมดอายุลงและไม่ได้ใช้ เปรียบเหมือนกับเรามีกองทหารสำรองไว้แม้ไม่ได้ออกรบ อีกทั้งในการจัดซื้อต้องสั่งในปริมาณหนึ่ง แต่เป็นจำนวนที่น้อยที่สุดในการผลิตหรือสั่งนำเข้า เพราะไม่เช่นนั้นคงไม่มีบริษัทยาไหนจะผลิตหรือนำเข้าให้เรา ขณะเดียวกันต้องรวมการจัดซื้อ นอกจากได้ราคาที่ถูกลงแล้ว ยังช่วงลดการสูญเสียประหยัดงบประมาณได้ด้วย
- 22 views