สาธารณสุข มหาดไทย ตำรวจ เตรียมส่งประชาชนกลับบ้านฉลองเทศกาลปีใหม่ 2558 อย่างมีความสุข บูรณาการทำงานเชิงรุกแนวใหม่ ป้องกัน ลดเจ็บ-ตายจากอุบัติเหตุจราจร ตั้งด่านชุมชน กว่า 60.000 แห่ง สกัดกั้นกลุ่มเสี่ยงไม่ให้ออกจากหมู่บ้าน/ชุมชน เน้นหนัก วัยรุ่นขี่รถจักรยานยนต์ คนที่ดื่มแล้วขับ นักบิดและคนซ้อนท้ายที่ไม่ใส่หมวกกันน็อค ผู้ที่ขับรถเร็ว หากพบจะตักเตือน หรือยึดกุญแจ หากไม่เชื่อฟังประสานเจ้าหน้าที่ตำรวจ จัดหน่วยเฝ้าระวังจุดที่มีการเลี้ยงฉลอง และเตรียมพร้อมช่วยชีวิตผู้บาดเจ็บโดยจัดเตรียมโรงพยาบาลกว่า 1,500 แห่ง เจ้าหน้าที่กว่า100,000 คน ทีมกู้ชีพฉุกเฉินปฏิบัติงานวันละเกือบ 5,000 ทีม ประชาชนโทรแจ้งขอความช่วยเหลือที่ 1669 ทันที และเข้ารับการรักษาฉุกเฉินทุกที่ ฟรีทุกสิทธิ์
วันนี้ (19 ธันวาคม 2557) ที่กระทรวงสาธารณสุข จ.นนทบุรี ศ.นพ.รัชตะ รัชตะนาวิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขพร้อมด้วย นพ.วชิระ เพ็งจันทร์ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข นพ.โสภณ เมฆธน อธิบดีกรมควบคุมโรค นายฤทธิสรรค์ เทพพิทักษ์ ผอ.ส่วนยุทธการและการข่าว กรมการปกครอง และผู้แทนสำนักงานตำรวจแห่งชาติ แถลงข่าว มาตรการป้องกันอุบัติเหตุจราจร เพื่อลดจำนวนผู้บาดเจ็บและเสียชีวิต ในวันหยุดยาวเทศกาลปีใหม่ 2558
ศ.นพ.รัชตะ กล่าวว่า ในช่วงเทศกาลปีใหม่ 2558 นี้ กระทรวงสาธารณสุขมีความห่วงใยและปรารถนาให้ประชาชนทุกคนได้ฉลองเทศกาลอย่างมีความสุขกับครอบครัว ในปีนี้เน้นการทำงานร่วมระหว่างกระทรวงสาธารณสุข กระทรวงมหาดไทย และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เพื่อป้องกันและลดการสูญเสียจากอุบัติเหตุหรือเจ็บป่วยอื่นๆ อย่างเต็มที่ เริ่มตั้งแต่วันที่ 30 ธันวาคม 2557 - 5 มกราคม 2558 โดยจะพยายามลดจำนวนการเกิดอุบัติเหตุ การบาดเจ็บ และเสียชีวิตให้น้อยกว่าเทศกาลปีใหม่ 2557 ซึ่งในช่วง 7 วันของปีที่ผ่านมา มีผู้เสียชีวิต 366 ราย มีอุบัติเหตุจำนวน 3,174 ครั้ง และมีผู้บาดเจ็บนอนโรงพยาบาล 3,345 ราย
สาเหตุการเกิดอุบัติเหตุส่วนใหญ่มาจากพฤติกรรม เมาแล้วขับ ขับรถเร็ว ง่วง/หลับใน และสิ่งที่ส่งผลให้เกิดความรุนแรงเมื่อเกิดอุบัติเหตุ ได้แก่ การไม่สวมหมวกกันน็อค ไม่คาดเข็มขัดนิรภัย นั่งท้ายรถกระบะ หรือมีวัตถุอันตรายอยู่ข้างทางถนน โดยเฉพาะวันที่ 31 ธันวาคม เป็นวันที่พบอุบัติเหตุจากเมาแล้วขับสูงถึงร้อยละ 70 พบมากในช่วงเวลาเย็น/หัวค่ำไปจนถึงหลังเที่ยงคืน เนื่องจากเป็นช่วงเวลาที่อนุญาตให้จำหน่ายสุราได้ และมีงานเลี้ยงสังสรรค์ มีการดื่มสุรา การบาดเจ็บในกลุ่มนี้ มักจะเกิดกับผู้ใช้จักรยานยนต์ บนถนนหมู่บ้านและถนนสายรอง ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มชายวัยรุ่นและวัยทำงาน
ดังนั้น มาตรการลดปัญหาอุบัติเหตุจราจรในเทศกาลปีใหม่ 2558 นี้ กระทรวงสาธารณสุขจะใช้กลยุทธ์ทำงานเชิงรุก โดยให้สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดบูรณาการร่วมกับชุมชนและหน่วยงานท้องถิ่น แบ่งการทำงานออกเป็น 3 ช่วง ได้แก่ ช่วงก่อนเทศกาล เน้นการรณรงค์ประชาสัมพันธ์ให้ความรู้การใช้รถใช้ถนนที่ปลอดภัย ปลูกฝังพฤติกรรม การสวมหมวกนิรภัย เมาไม่ขับ และการขับขี่ปลอดภัย เพื่อเป็นการป้องกันและลดความรุนแรงเมื่อเกิดอุบัติเหตุ รวมทั้งสำรวจหาข้อมูลความเสี่ยง ทั้งคน รถ ถนน รวมทั้งจุดที่ขายสุรา
ช่วงเทศกาล คือช่วง 7 วันอันตราย ตั้งแต่วันที่ 30 ธันวาคม 2557 - 5 มกราคม 2558 จะเน้นให้เจ้าหน้าที่ทำงานเชิงรุก ไม่นั่งเฝ้าเต็นท์ข้างถนน และใช้มาตรการใหม่ 2 มาตรการ คือ ตั้งด่านชุมชนโดยเฉพาะที่ปากทางเข้าหมู่บ้านหรือชุมชน ซึ่งมีประมาณ 60,000 จุดทั่วประเทศ โดยให้อาสาสมัครสาธารณสุข หรือเจ้าหน้าที่สาธารณสุข ร่วมกับฝ่ายปกครอง อาสาสมัครป้องกันภัยฯในชุมชนและประชาชน เพื่อใช้เป็นจุดตรวจ จุดบริการในตำบล/หมู่บ้าน หรือชุมชน สกัดกั้นกลุ่มเสี่ยง เช่น เด็กวัยรุ่นที่มีพฤติกรรมขับขี่รถจักรยานยนต์ไม่ปลอดภัย คนที่ดื่มแล้วขับ หรือผู้ที่ขับหรือซ้อนท้ายรถจักรยานยนต์ที่ไม่ใส่หมวกกันน็อค ผู้ที่ขับรถเร็ว หากพบจะพูดคุยทำความเข้าใจ ตักเตือน หรือยึดกุญแจรถ ถ้าเป็นเด็กจะเชิญผู้ปกครองมารับตัวกลับบ้าน กรณีที่ฝ่าฝืน/ไม่เชื่อฟัง จะประสานกับเจ้าหน้าที่ตำรวจในท้องที่ และจัดหน่วยเฝ้าสถานที่จัดงานเลี้ยง รวมทั้งดูแลกลุ่มเด็ก เยาวชนอย่างใกล้ชิด ไม่ให้มีการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ส่วนช่วงหลังเทศกาล จะติดตามผล ทบทวนการทำงานระดับจังหวัดและระดับประเทศ เพื่อวางแผนการป้องกันอุบัติเหตุทางถนนต่อเนื่องตลอดทั้งปี โดยเฉพาะช่วงเทศกาล
ในส่วนของการดูแลการเจ็บป่วยฉุกเฉินทั้งจากอุบัติเหตุจราจรและโรคอื่นๆ กระทรวงสาธารณสุขได้เตรียมพร้อมโรงพยาบาลในสังกัด และร่วมมือกับโรงพยาบาลสังกัดอื่นๆ เช่น กระทรวงกลาโหม ทบวงมหาวิทยาลัย และโรงพยาบาลเอกชนทั่วประเทศ รวมกว่า 1,500 แห่ง เตรียมพร้อมหน่วยปฏิบัติการแพทย์ฉุกเฉินทุกระดับ รถพยาบาลฉุกเฉินพร้อมเครื่องมือแพทย์ปฏิบัติการวันละ 4,915 คัน สามารถออกไปช่วยเหลือผู้บาดเจ็บในที่เกิดเหตุหลังรับแจ้งภายใน 10 นาที โดยมีศูนย์สื่อสารรับแจ้งเหตุ และสายด่วนโทรแจ้งเหตุฉุกเฉินหมายเลข 1669 ตลอด 24 ชั่วโมง จัดเตรียมแพทย์ พยาบาล เจ้าหน้าที่ประจำห้องฉุกเฉิน และประจำหอผู้ป่วย รวมจำนวนกว่า 100,000 คน สำรองคลังเลือดทุกหมู่ อุปกรณ์ เวชภัณฑ์ยา จัดแพทย์ผ่าตัดทุกสาขาประจำการตลอด 24 ชั่วโมง ประมาณ 1,500 คน สามารถทำการผ่าตัดได้ทันที โดยเพิ่มเตียงรองรับอุบัติเหตุเพิ่มขึ้นจากปกติอีกร้อยละ 10 มีศูนย์ประสานการส่งต่อผู้ป่วยที่มีอาการหนักไปรักษาอย่างรวดเร็วมากกว่า 90 แห่ง ประชาชนสามารถเข้ารับการรักษาได้ที่โรงพยาบาลที่อยู่ใกล้ทันที ไม่ต้องสำรองจ่าย ตามนโยบายเจ็บป่วยฉุกเฉินมาตรฐานเดียวของรัฐบาล เพื่อป้องกันการเสียชีวิต หรือความความพิการ ให้ได้มากที่สุด
นอกจากนี้ กระทรวงสาธารณสุขยังได้ควบคุมการขายและการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ โดยส่งเจ้าหน้าที่ออกตรวจเตือน ประชาสัมพันธ์ให้ผู้ประกอบการ พ่อค้า แม่ค้าทุกจังหวัดทุกพื้นที่ ให้ปฏิบัติตาม พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ. 2551 อย่างเคร่งครัด เช่น ห้ามขายและห้ามดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในสถานที่ที่ห้าม เช่น วัด โรงเรียน สวนสาธารณะ ปั๊มน้ำมัน ห้ามขายให้บุคคลอายุต่ำกว่า 20 ปี ห้ามขายนอกเหนือเวลาที่กำหนดให้ขายได้ ห้ามดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์บนถนนขณะขับขี่ หรือขณะโดยสารอยู่ในรถหรือบนรถ หากพบจะดำเนินการทางกฎหมายอย่างไม่ละเว้น โดยเปิดสายด่วนรับแจ้งผู้กระทำผิดตลอด24 ชั่วโมง ทางหมายเลข 1422 และ 0-2590-3342 หากจังหวัดใดสามารถลดการตายจากอุบัติเหตุจราจรในช่วงเทศกาลปีใหม่ 2558 เป็นศูนย์ได้ มูลนิธิรัฐบุรุษพลเอกเปรม ติณสูลานนท์ และศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนนจะมีรางวัลมอบให้ เพื่อเป็นขวัญและกำลังใจกับคนทำงานด้วย
- 11 views