นพ.วิวัฒน์ โรจนพิทพยากร ผู้ทรงคุณวุฒิ นักระบาดรุ่นบุกเบิกเผยความสำคัญงานระบาดวิทยา เปลี่ยนโลกให้ดีขึ้นได้ แนะต้องเพิ่มบทบาทนักระบาดให้เป็นมากกว่าการเป็นกระบอกเสียง แต่ให้มีส่วนในการดำเนินการแก้ปัญหา

 

ระบาดวิทยาเปลี่ยนโลก

เมื่อวันที่ 21 พฤศจิกายน ที่โรงแรมทีเคพาเลซ แอนด์ คอนเวนชั่น นพ.วิวัฒน์ โรจนพิทยากร กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ คณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ FETP รุ่นที่ 1 ผู้ซึ่งได้รับรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล ปีพ.ศ.2552 กล่าวตอนหนึ่งในปาฐกถาพิเศษ เรื่อง “ระบาดวิทยาเปลี่ยนโลก” ภายในการประชุมวิชาการ "หนึ่งศตวรรษงานป้องกันควบคุมโรค จากอดีต สู่ปัจจุบันและอนาคต" จัดโดยกองโรคติดต่อทั่วไป กรมควบคุมโรค  สมาคมนักระบาดวิทยาภาคสนาม(FEAT) และชมรมหัวหน้ากลุ่มงานควบคุมโรค สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดประเทศไทย ว่า  ระบาดวิทยาเปลี่ยนโลกอย่างไร เห็นได้ชัดสมัยก่อน ถ้าไม่มีโควิด คนแทบไม่รู้จักระบาดวิทยา

นพ.วิวัฒน์ กล่าวว่า ระบาดวิทยาเปลี่ยนแน่ๆ คือ 1.เปลี่ยนชีวิตคน  เพราะเฉพาะนักระบาดวิทยาก็เปลี่ยนชีวิต ได้ประสบการณ์มากมาย 2.เปลี่ยนมุมมองของสังคมต่องานระบาดวิทยา และเห็นความสำคัญว่า นักระบาดวิทยา คือผู้มีบทบาทสำคัญในการปกป้องประเทศจากภัยสุขภาพ ตัวอย่างชัดเจน คือ การควบคุมโรคช่วงการระบาดโควิด19 ซึ่งผลงานการควบคุมเรียกว่า เป็นผลงานเกียรติยศของนักระบาด และ 3.เปลี่ยนทิศทางของงานสาธารณสุขให้ดำเนินการได้ตรงจุดตรงเป้า ด้วยการใช้ข้อมูลมาช่วย ยกตัวอย่าง การใช้ข้อมูลเฝ้าระวังในการป้องกันและควบคุมโรคต่างๆที่ช่วยให้ทราบถึงกลุ่มเสี่ยง ปัจจัยเสี่ยง พฤติกรรมเสี่ยง ต้นเหตุของปัญหา เช่น การเฝ้าระวังเฉพาะกลุ่ม การสำรวจสุขภาพ อย่าง HIV sentinel surveillance reports, health examination surveys

นอกจากนี้ ตัวอย่างผลงานที่เห็นชัดอีกชิ้น มาจากงานระบาดวิทยา คือ โครงการถุงยางอนามัย 100%  โครงการนี้ถ้าไม่มีนักระบาดจะไม่เกิดโครงการนี้  โดยเรื่องนี้ไม่ได้ทำเฉพาะประเทศไทย ยังทำงานร่วมกับประเทศอื่นๆอีก 7 ประเทศ เช่น จีน พม่า และฟิลิปปินส์ ซึ่งโครงการนี้เป็นนโยบายสุขภาพที่สำเร็จ และยังจัดทำเป็นหลักสูตรสอนนักศึกษามหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด และเมื่อ 3 ปีก่อนทาง CDC ส่งผู้เชี่ยวชาญมาที่ไทย มาวิเคราะห์ข้อมูลร่วมกับคนไทยพบว่า โครงการถุงยางอนามัย 100% ช่วยปกป้องคนไทยได้ประมาณ 8 ล้านคน ซึ่งสามารถช่วยชีวิตคนได้ประมาณ 4.3 ล้านคน  ดังนั้น ระบาดวิทยาจึงมีความสำคัญมาก

นพ.วิวัฒน์ ยังกล่าวถึงทำอย่างไรที่ระบาดวิทยาจะเปลี่ยนโลกได้ดีขึ้น ว่า  1.ต้องจัดระบบการพัฒนานักระบาดวิทยาที่ให้โอกาสไปนั่งอยู่ในปัญหามากกว่าที่จะอยู่รอบๆ ปัญหา 2.ต้องไม่ให้ความสำคัญของข้อมูลมากเกินไปกว่าการนำข้อมูลมาแก้ปัญหา ตัวอย่าง ต้องเพิ่มบทบาทนักระบาดให้เป็นมากกว่าการเป็นกระบอกเสียง แต่ให้มีส่วนในการดำเนินการแก้ปัญหา 3.เปลี่ยนแนวคิดให้การมองรอบด้าน ยึดเอาปัญหาเป็นตัวตั้งมากกว่าที่จะมองแต่ความสนใจของตนเอง คือ หาโอกาสไปแสดงบทบาทในทุกปัญหา และ4.ปลูกฝังแนวคิดต่อนักระบาดวิทยาว่า ปัญหาทุกอย่างมีทางแก้ ไม่มีอะไรที่นักระบาดวิทยาจะแก้ไม่ได้

โครงการถุงยางอนามัย 100%

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับโครงการถุงยางอนามัย 100% คือ โครงการป้องกันเชื้อเอดส์ทางเพศสัมพันธ์ในประชาชนทั่วไป โดยการทำให้มีการใช้ถุงยางอนามัยอย่างทั่วถึงระหว่างหญิงบริการกับลูกค้า มุ่งหวังให้มีระดับการใช้ในทุกครั้งที่มีการซื้อขายบริการทางเพศ เพื่อลดการแพร่โรคสู่ประชาชนทั่วไป โดยได้มีมติคณะกรรมการป้องกันและควบคุมเอดส์แห่งชาติเมื่อวันที่ 14 สิงหาคม 2534 ให้มีการรณงค์ให้สถานบริการทางเพศใช้ถุงยางอนามัยทุกครั้งที่มีการร่วมเพศกับผู้ใช้บริการนั้น ซึ่งโครงการนี้เน้นความร่วมมือทุกเครือข่าย อย่างไรก็ตาม เรื่องนี้ไม่เพียงดำเนินการในประเทศไทย แต่ยังมีการขยายไปยังประเทศอื่นๆ 7 ประเทศ คือ จีน มองโกเลีย พม่า ฟิลิปปินส์ ลาว กัมพูชา เวียดนาม

รับชมเรื่องราวแบบเต็มๆ ได้ผ่านเฟซบุ๊กกรมควบคุมโรค

ข่าวเกี่ยวข้อง : 

- ห่วง! ถ่ายโอนรพ.สต.ไปท้องถิ่นอย่าให้เครือข่ายระบาดวิทยาขาดตอน -เล็งสร้าง SMS เตือนภัยสุขภาพ