อธิบดีกรมควบคุมโรค เปิดประชุมระดมนักระบาดรุ่นเก่ารุ่นใหม่แลกเปลี่ยนเรียนรู้ ย้ำประสบการณ์จากโควิด ฝากสร้างเครือข่ายระบาดวิทยาให้เหนียวแน่น ยิ่งถ่ายโอน รพ.สต. ไปท้องถิ่นยิ่งต้องทำงานเชื่อมโยง เหมือนใยแมงมุม มีช่องโหว่ไม่ได้  เตรียมหารือ AIS - กสทช. จัดระบบแจ้งเตือนภัยสุขภาพผ่าน SMS  เจาะกลุ่มเฉพาะให้ความรู้รายโรค เช่น ชายรักชายระวังฝีดาษวานร  เพิ่มช่องทางตู้กดถุงยางอนามัย-ชุดตรวจHIV ในตู้เครื่องดื่มเอกชน

 

ห่วง! ถ่ายโอนรพ.สต.ไปท้องถิ่นอย่าให้เครือข่ายระบาดวิทยาขาดตอน

เมื่อวันที่ 21 พฤศจิกายน ที่โรงแรมทีเคพาเลซ แอนด์ คอนเวนชั่น นพ.ธงชัย กีรติหัตถยากร อธิบดีกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข กล่าวเปิดการประชุมวิชาการ "หนึ่งศตวรรษงานป้องกันควบคุมโรค จากอดีต สู่ปัจจุบันและอนาคต" จัดโดยกองโรคติดต่อทั่วไป กรมควบคุมโรค  สมาคมนักระบาดวิทยาภาคสนาม(FEAT) และชมรมหัวหน้ากลุ่มงานควบคุมโรค สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดประเทศไทย ว่า งานระบาดวิทยาเป็นสิ่งสำคัญ โดยเฉพาะการสร้างเครือข่าย ยิ่งตอนนี้มีการถ่ายโอนโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล(รพ.สต.) ไปท้องถิ่น แม้ถ่ายโอนไป แต่เครือข่ายระบาดวิทยายังต้องอยู่ เหมือนใยแมงมุม ขาดตอน มีช่องโหว่ไม่ได้ ไม่งั้นแมลงทะลุไปได้ ดังนั้น แม้ถ่ายโอนไปจะไม่ได้อยู่ในโครงสร้างกระทรวงสาธารณสุข แต่เครือข่ายเรายังต้องจับมือกันอยู่

โควิด บทเรียนของนักระบาดวิทยา คุมเร็วป้องกันเร็ว

นพ.ธงชัย กล่าวว่า  บทเรียนระบาดวิทยาเป็นเรื่องท้าทายมาก โดยเฉพาะช่วงโควิดที่ผ่านมา วันนี้เรื่องระบาดวิทยาการควบคุมป้องกันโรคไม่ได้บริบทของโรค แต่ครอบคลุมบริบทเศรษฐกิจ สภาพสังคม จิตใจเข้ามากระทบหมด อย่างตอนโควิดระบาด ผมเป็นรองปลัดสธ. มีหน้าที่จัดซื้อจัดจ้างซื้อวัสดุอุปกรณ์ของต่างๆ ช่วยอยู่ในการประชุมอีโอซี เป็นประสบการณ์ต่างๆ ซึ่งหลายๆครั้งที่ตัดสินใจอะไรจะยึดมั่นความเป็นวิชาการในระบาดวิทยา อย่าง ยุโรปเสียชีวิตเยอะมากช่วงโควิด เราเห็นและจัดการควบคุมโรค โดยหากเราลงไปเร็วก็คุมได้เร็ว ถ้าช้าก็จะเอาไม่อยู่ ดังนั้น ไทม์มิ่ง ช่วงเวลาสำคัญมาก

นพ.ธงชัย กล่าวอีกว่า จากการที่นักระบาดวิทยา งานระบาดวิทยาช่วยในการป้องกันควบคุมโรคก็ทำให้เราเป็น 1 ใน 5 ในเรื่องการควบคุมป้องกันโรคได้ เพราะเรายึดมั่นเรื่องวิชาการ ณ ตอนนั้นเราก็รับแรงกระทบพอสมควร ทั้งเศรษฐกิจ สังคม  ต้องทำไทม์ไลน์กันเยอะ เชื่อว่าพวกเราที่เป็นเครือข่ายการติดตามโรคเหนื่อยมาก แต่เราต้องทำ ตอนที่เป็นรองปลัดเคยบอกว่าทำไมเราไม่รักษาแบบโอพีดี ผู้ป่วยนอก ขณะนั้นคนไม่เข้าใจผมก็โดน แต่สุดท้ายก็มีการรักษาโอพีดี ซึ่งก็อยู่ที่จังหวะ อยู่ที่ไทม์มิ่งจริงๆ

หารือเครือข่ายโทรศัพท์มือถือ -กสทช.ทำระบบเตือนภัยสุขภาพผ่านSMS

“สิ่งที่อยากเห็นคือ เราต้องมีนวัตกรรมหรือเทคโนโลยีเข้ามาช่วย ผมเสนอว่าควรมีการแจ้งเตือนแบบ SMS  เหมือนตอนที่ผมเดินในห้างสรรพสินค้าผ่านร้านกาแฟร้านหนึ่งจะมีข้อความส่งมาบอกลดราคา เพราะล็อกแอเรียได้ ขณะนี้ผมได้มอบให้กรมไปหารือร่วมกับ AIS และคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ กสทช.  ว่าจะทำลักษณะการแจ้งเตือนภัยสุขภาพได้หรือไม่ เช่น หากคุณเดินทางไปยังพื้นที่ที่เสี่ยงภัยสุขภาพ อย่างฝุ่นPM2.5 ให้มีSMS เตือน และทิ้งท้ายว่าด้วยความปรารถนาดีจากกรมควบคุมโรค นี่เป็นการสร้างความน่าเชื่อถือให้กับประชาชนที่มีต่อกรมควบคุมโรค กับงานระบาดวิทยา ดังนั้น วันนี้เรามีเทคโนโลยีหลายตัวเราสามารถนำมาใช้ได้โดยเอางานระบาดวิทยามาใส่เพื่อประโยชน์ให้เกิดขึ้น นี่คือการสื่อสารความเสี่ยงที่สำคัญมาก” อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าว

เจาะกลุ่มเฉพาะสื่อสารความเสี่ยง ชายรักชายกับฝีดาษวานร

นพ.ธงชัย กล่าวอีกว่า นอกจากนี้ในเรื่องการควบคุมโรค เราต้องเจาะกลุ่มเฉพาะ กลุ่มเสี่ยงด้วย เราต้องใช้ไลน์แอปพลิเคชันให้เป็นประโยชน์ ใช้ตรงนี้แจ้งเตือนกลุ่มเฉพาะต่างๆ อย่างฝีดาษวานร กลุ่มชายรักชายเราก็ต้องให้ข้อมูลสื่อสารความรู้ตรงนี้แก่พวกเขา รวมไปถึงโรคอื่นๆ ด้วย อย่างเบาหวาน ความดันโลหิต ต้องเจาะกลุ่มครอบครัวที่มีประวัติโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง ทั้งหมดเราต้องคิดแบบระบาดวิทยา

เตรียมเพิ่มช่องทางตู้กดถุงยางอนามัย-ชุดตรวจHIV ในตู้เครื่องดื่มเอกชน

รวมไปถึงเราควรหาช่องทางในการป้องกันโรค อย่างถุงยางอนามัย หรือชุดตรวจโรคอย่างเอชไอวี เราควรไปร่วมกับบริษัทตู้เครื่องดื่ม หรือตู้กดอาหาร โดยเราเอาพวกนี้ไปใส่ไว้ในช่องสุดท้าย เพื่อให้เป็นทางเลือกให้กดเลือกได้ ดังนั้น หากบริษัทตู้อยากทำCSR ก็น่าจะมาร่วมกันเป็นทางเลือกให้ประชาชน เพราะชุดตรวจ ถุงยางอนามัยได้รับฟรีจากรัฐอยู่แล้ว เราจึงควรมีการเพิ่มช่องทาง  

“โรคก็เหมือนแมลงที่จะบินเข้าไปยังใยแมงมุมของพวกเรา หากเรามีช่องโหว่ก็จะรอดไปได้ แต่วันนี้เราจะต้องเป็นใยแมงมุมเชื่อมได้ทุกจุด แม้รพ.สต.บางส่วนจะไปอยู่นอกกระทรวงฯ ไปอยู่ท้องถิ่น เพราะเขาเป็นกำลังสำคัญหนึ่งในการป้องกันควบคุมโรค สุขภาพไม่มีค่ายไหน มีค่ายเดียวคือ สุขภาวะของประชาชน”  นพ.ธงชัย กล่าว

 

ข่าวเกี่ยวข้อง :

-“หมอวิวัฒน์” นักระบาดรุ่นบุกเบิก ถ่ายทอดประสบการณ์ 'ระบาดวิทยาเปลี่ยนโลก'