กระทรวงสาธารณสุขไทย เป็นเจ้าภาพประชุมระดับโลกเครือข่ายระบาดวิทยาภาคสนาม ครั้งที่ 9 ระดมนักระบาดวิทยาจาก 90 ประเทศ ร่วมพัฒนาระบบเฝ้าระวังป้องกันควบคุมโรคของประเทศให้เข้มแข็ง เน้นผลิตนักระบาดวิทยาภาคสนามเพื่อตอบโต้โรคอุบัติใหม่และภาวะฉุกเฉินทางสาธารณสุขให้เพียงพอ ตั้งเป้าให้ได้ 1 ต่อ 200,000 ประชากร
เมื่อวันที่ 7 สิงหาคม 2560 ที่โรงแรมดิเอ็มเพรส จ.เชียงใหม่ นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข พร้อมนายประจวบ กันธิยะ รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ ดร.ดิออนิซิโอ เฮอรีร่า กีเบิร์ต ผู้อำนวยการ TEPHINET และ นพ.เจษฎา โชคดำรงสุข อธิบดีกรมควบคุมโรค ร่วมเปิดการประชุมระดับโลกเครือข่ายระบาดวิทยาภาคสนาม ครั้งที่ 9 (The 9th TEPHINET Global Conference) และสัมมนาระบาดวิทยาแห่งชาติ ครั้งที่ 23 (The 23rd National Epidemiology Seminar) ระหว่างวันที่ 7 – 11 สิงหาคม 2560 พร้อมมอบรางวัลเกียรติคุณระบาดวิทยา โดยมูลนิธิสุชาติ เจตนเสน ผู้เข้าร่วมประชุมประกอบด้วยนักระบาดวิทยา เจ้าหน้าที่สาธารณสุข แพทย์ สัตวแพทย์และนักวิชาการจากหน่วยงานต่างๆ ภาครัฐและเอกชนในประเทศต่างๆ 90 ประเทศทั่วโลก ทั้งสิ้น 1,200 คน
นพ.ปิยะสกล กล่าวว่า การประชุมครั้งนี้ เป็นการรวมตัวผู้มีบทบาทในการเฝ้าระวังและสอบสวนโรคต่อกรณีการระบาดของโรค รวมถึงการควบคุม ป้องกันโรคในระดับประเทศ มานำเสนอผลงาน แลกเปลี่ยนประสบการณ์ในการควบคุมและป้องกันโรค เช่น อีโบลา ไข้ซิกา โรคติดต่ออุบัติใหม่อุบัติซ้ำ โรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCDs) HIV/เอดส์ และโรคจากการประกอบอาชีพ นับเป็นเวทีเชื่อมโยงมาตรฐานงานระบาดวิทยาของไทยสู่นานาชาติ
นอกจากนี้ ยังมีเป้าหมายคือ พัฒนาศักยภาพงานสาธารณสุขผ่านโครงการฝึกอบรมระบาดวิทยาภาคสนาม 65 โครงการใน 90 ประเทศสมาชิก เพื่อผลิตนักระบาดวิทยาที่มีสมรรถนะตามมาตรฐาน ให้เป็นกำลังสำคัญในการควบคุมและป้องกันโรคทั้งในประเทศตนเองและในภูมิภาคอื่นๆ ผลักดันให้ประเทศต่างๆ ทั่วโลกผลิตและพัฒนากำลังคนด้านระบาดวิทยาให้เพียงพอ และสามารถรับมือกับการแพร่ระบาดของโรค หรือสถานการณ์ฉุกเฉินด้านสาธารณสุขของประเทศได้อย่างมีประสิทธิภาพ และช่วยยับยั้งการระบาดข้ามประเทศได้
ที่ผ่านมา กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข มีเครือข่ายโครงการฝึกอบรมด้านระบาดวิทยาภาคสนาม (ASEAN plus 3 Field Epidemiology Training Network) โดยมีสมาชิกรวม 13 ประเทศ ประกอบด้วย ประเทศในอาเซียนทั้ง 10 ประเทศ และจีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ โดยสามารถผลิตนักระบาดวิทยาภาคสนามได้ 270 คน ซึ่งมีทั้ง นักระบาดวิทยาภาคสนามจากประเทศอื่น ทั้งนี้ ประเทศไทย ตั้งเป้าหมายในการผลิตนักระบาดวิทยาภาคสนามมืออาชีพให้ได้ในอัตรา 1 ต่อ 200,000 ประชากร เพื่อให้เพียงพอและพร้อมรับมือการแพร่ระบาดของโรคต่างๆ ในประเทศไทย ภูมิภาคอาเซียน และคาบสมุทรแถบนี้
การประชุมครั้งนี้ มีการนำเสนอบทคัดย่อแบบปากเปล่า 222 เรื่อง และแบบโปสเตอร์ 300 เรื่อง การบรรยายหลัก 17 หัวข้อ นอกจากนี้ ยังมีพิธีมอบรางวัลเกียรติคุณระบาดวิทยา โดยมูลนิธิสุชาติ เจตนเสน จำนวน 2 ประเภท ประเภทที่ 1 นักระบาดวิทยาแห่งชาติ ได้แก่ นพ.วิทยา สวัสดิวุฒิพงศ์ นายแพทย์ทรงคุณวุฒิ โรงพยาบาลแม่สอด จังหวัดตาก ประเภทที่ 2 ผลงานระบาดวิทยาดีเด่น ได้แก่ ศ.นพ.ปิยะมิตร ศรีธรา คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล และคณะ ในการศึกษาระยะยาวถึงอิทธิพลของปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดโรคหัวใจหลอดเลือด และเมแทบอลิซึมในพนักงานการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย
- 52 views