กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข มอบหมายทีมปฏิบัติการด้านส่งเสริมสุขภาพและอนามัยสิ่งแวดล้อม (ทีมSEhRT) ศูนย์อนามัยลงพื้นที่เฝ้าระวัง ติดตามสถานการณ์ และประเมินผลกระทบด้านอนามัยสิ่งแวดล้อมจากแผ่นดินไหวในพื้นที่เสี่ยงภัย พร้อมทั้งแนะนำประชาชนในพื้นที่เสี่ยง เตรียมพร้อมรับมือแผ่นดินไหวอย่างปลอดภัย
แพทย์หญิงอัจฉรา นิธิอภิญญาสกุล อธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า จากข้อมูลรายงานการเกิดสถานการณ์ภัยพิบัติจากแผ่นดินไหวของกองเฝ้าระวังแผ่นดินไหว กรมอุตุนิยมวิทยา เมื่อวันที่ 17 พฤศจิกายน 2566 เวลา 08.37 น. เกิดแผ่นดินไหวจุดศูนย์กลางอยู่บริเวณประเทศเมียนมา ขนาด 6.4 ความลึก 9 กิโลเมตร ทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือของ อ.แม่สาย จ.เชียงราย ประมาณ 100 กิโลเมตร ส่งผลให้เกิดความสั่นสะเทือนในหลายจังหวัด ได้แก่ เชียงราย เชียงใหม่ ลำปาง ลำพูน น่าน พะเยา แม่ฮ่องสอน อุดรธานี ขอนแก่น สกลนคร และกรุงเทพมหานคร จากสถานการณ์ดังกล่าวส่งผลให้ประชาชนในพื้นที่เสี่ยงภัยได้รับผลกระทบ เช่น ประชาชนมีอาการวิงเวียนศีรษะ อาคารสูง สถานที่ต่างๆ บ้านเรือนของประชาชน รวมถึงสถานบริการสาธารณสุขหลายแห่งได้รับผลกระทบและเกิดความเสียหายจากแรงสั่นสะเทือน เช่น โรงพยาบาลเชียงรายประชานุเคราะห์ จ.เชียงราย โรงพยาบาลศูนย์สกลนคร จ.สกลนคได้รับผลกระทบจากแรงสั่นสะเทือน ทำให้ตัวอาคารมีรอยแตกร้าวขนาดใหญ่ ต้องอพยพผู้ป่วยและประชาชนออกจากพื้นที่
แพทย์หญิงอัจฉรา นิธิอภิญญาสกุล กล่าวต่อไปว่า กรมอนามัยได้มอบหมายให้ทีมปฏิบัติการทีม SEhRT ของศูนย์อนามัย ร่วมกับหน่วยงานในพื้นที่ประเมินผลกระทบทางสุขภาพและความเสียหายด้านอนามัยสิ่งแวดล้อมในสถานบริการสาธารณสุขที่เสียหายและชุมชน ได้แก่ ความปลอดภัยอาคาร ระบบออกซิเจน ระบบไฟฟ้าและไฟฟ้าสำรอง ระบบสาธารณูปโภค ระบบบำบัดน้ำเสีย และเร่งเฝ้าระวังด้านสุขาภิบาล เช่น การปนเปื้อนสารเคมีในน้ำจากระบบบำบัดน้ำเสียโรงพยาบาลที่เสียหาย การปนเปื้อนของฝุ่นละอองที่เกิดจากอาคารพังทลายเสียหาย เป็นต้น สำหรับประชาชนให้เร่งสื่อสารสร้างความรอบรู้เพื่อลดผลกระทบต่อสุขภาพประชาชน คือ 1) ติดตาม รับฟังข่าวสารจากหน่วยงานภาครัฐ เมื่อเกิดเหตุให้ตั้งสติ และเตรียมพร้อมอพยพ 2) กรณีอาศัยอยู่ภายในบ้านให้หมอบลงที่พื้นใต้โครงสร้างอาคารแข็งแรง ป้องกันสิ่งของจากเพดานหรือที่สูงหล่นใส่ 3) กรณีเปิดแก๊สประกอบปรุงอาหาร ให้หยุด
การทำกิจกรรมดังกล่าว และปิดแก๊สโดยทันที 4) กรณีอยู่ในอาคารสูง คอนโด อพาร์ทเม้นท์ให้เตรียมอพยพ หากมีความรุนแรงต่อเนื่อง ให้รีบออกจากอาคารทันที โดยใช้ทางหนีไฟ ห้ามใช้ลิฟท์โดยสารเด็ดขาด เมื่อพ้นจากอาคารให้ออกไปให้ห่างจากตัวอาคารให้มากที่สุด และต้องคำนึงถึงบุคคลในบ้านที่เป็นกลุ่มเปราะบาง กลุ่มเสี่ยงทางสุขภาพควรเตรียมหาทางพาออกจากพื้นที่โดยเร่งด่วน 5) ออกห่างจากหน้าต่าง และประตู โดยเฉพาะกระจก ป้องกันอันตราย และลดความเสี่ยงการบาดเจ็บ หรือเสียชีวิตจากกรณีตัวโครงสร้างที่ถูกทำลายจากแผ่นดินไหวรุนแรง 6) กรณีที่อยู่นอกตัวอาคารอยู่แล้ว ห้ามเข้าไปในอาคาร และสังเกตจุดที่ยืนหลบภัย ต้องไม่มีสิ่งปลูกสร้างสูง ป้ายโฆษณา ต้นไม้ เสาไฟฟ้า โดยรอบ เพื่อป้องกันการถล่มหรืออุบัติเหตุ และ 7) เตรียมเก็บสิ่งของที่จำเป็นให้พร้อม สามารถหยิบออกมาได้ทันที
“ทั้งนี้ ขอให้ประชาชนเฝ้าระวังติดตามสถานการณ์การเกิดแผ่นดินไหวอย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยงกลุ่มเปราะบาง ได้แก่ ผู้สูงอายุ เด็กเล็ก หญิงตั้งครรภ์ ให้ดูแลและเฝ้าระวังเป็นพิเศษ ให้สังเกต ทำความคุ้นเคยทางออกฉุกเฉิน หรือทางหนีไฟที่ใกล้ตัวที่สุด หากเกิดเหตุการณ์แผ่นดินไหวจะได้สามารถหนีออกมาได้อย่างรวดเร็วและปลอดภัย ลดความเสี่ยงการสูญเสีย บาดเจ็บ และเสียชีวิต” อธิบดีกรมอนามัย กล่าวในที่สุด
- 281 views