ทำความรู้จักทีม CareD+ นักประสานใจประจำ รพ.สังกัดสธ. เบื้องต้นตั้งเป้าอบรมบุคลากร 10,000 คน เริ่มเดือน ธ.ค.นี้ อีกผลงานจากนโยบาย ‘ชลน่าน’ มอบ ‘พญ.นวลสกุล’ ที่ปรึกษาฯ ดูแล

 

นโยบายสร้างขวัญกำลังใจบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุข เป็น 1 ในนโยบายของ ‘นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว’ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข โดยแนวทางหนึ่ง คือ การสร้าง Care D+ Team ในหน่วยบริการหรือโรงพยาบาลทุกระดับ สร้างความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างบุคลากรและผู้ป่วย รวมทั้งญาติ ลดปัญหาความขัดแย้งจากการรักษาพยาบาล ที่นำไปสู่ประเด็นต่างๆ บั่นทอนจิตใจบุคลากร และประชาชน นึงเป็นอีกนโยบายที่ถูกจับตามองว่า จะมีการดำเนินการอย่างไรภายใน 100 วัน และจะก่อผลดีต่อประชาชน และบุคลากรอย่างไร...  

เมื่อเร็วๆนี้ พญ.นวลสกุล บำรุงพงษ์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ว่า   จากนโยบายยกระดับ 30 บาท ซึ่งมีประเด็นต่างๆมากมาย ทั้งการใช้บัตรประชาชนใบเดียวรักษาทุกที่ทุกเครือข่าย นำร่อง 4 จังหวัด มีแพร่ เพชรบุรี ร้อยเอ็ด และนราธิวาส อีกทั้ง ยังมีอีก 4 เขตสุขภาพที่จะสามารถใช้บัตรประชาชนใบเดียวได้ในเครือข่ายสังกัดกระทรวงสาธารณสุขแล้วนั้น ในนโยบายยกระดับ 30 บาท เรายังมีเรื่องการสร้างทีมแคร์ดีพลัส (CareD Plus/ Care D+ Team)

 

โดยทีม Care D+ เป็นการอบรมเจ้าหน้าที่ บุคลากรสาธารณสุขให้เป็นทีมงานเชื่อมประสานใจ ทำหน้าที่คล้ายๆกับว่า เป็นญาติเฉพาะกิจ เหมือนเราเข้าไปโรงพยาบาล ไม่รู้ว่าต้องทำอย่างไร มีขั้นตอนอะไร แต่ทีมนี้ที่สธ.สร้างขึ้น จะทำหน้าที่เป็นญาติเฉพาะกิจ คอยดูแล ทำหน้าที่เชื่อมใจประสานข้อมูล อย่างเราเข้าไปโรงพยาบาล ไม่รู้จะถามบุคลากร เจ้าหน้าที่รพ. คนไหน แต่กลุ่มนี้จะมาช่วยเหลือผู้ป่วย ช่วยเหลือญาติคนไข้ 

 

“เรามักเคยชินกับคำว่า ญาติรอข้างนอก  คำนี้ทำให้ญาติไม่รู้อะไรเลย แต่ด้วยความเป็นห่วงจึงทำให้เกิดการจินตนาการ เวลาเกิดสถานการณ์ขึ้น คนไข้ได้รับการรักษา แต่ญาติคนไข้ใจเจ็บ เพราะกังวล ตกใจ กลัว ดังนั้น การที่เรามีทีมญาติเฉพาะกิจ นอกจากประสานเรื่องแล้ว ยังไปช่วยดูว่า ขั้นตอนการรักษาขณะนี้อยู่ตรงไหนแล้ว เพื่อประสานข้อมูลแก่ญาติให้สบายใจขึ้น เหมือนเราจะมีทีมประสานระหว่างหมอและญาติคนไข้ เพื่อให้การสื่อสารตรงกัน ลดความไม่เข้าใจที่จะเกิดขึ้นได้” พญ.นวลสกุล กล่าว

สำหรับทีมดังกล่าว ที่จะตั้งขึ้นให้กับประชาชน นี่คือสิ่งดีๆ ที่รัฐบาลนี้และกระทรวงสาธารณสุขจะมอบให้กับพี่น้องประชาชน โดยจะจัดอบรมหลักสูตรบุคลากรในโรงพยาบาลสังกัดสธ.ประมาณกว่า 10,000 คน  มีทั้งการอบรมแบบ on site ในกรณีที่แต่ละเขตสุขภาพทำได้ และการอบรมออนไลน์โดยใช้เทคโนโลยีเสมือนจริง หรือ Virtual  online โดยวิทยากรที่เป็นผู้เชี่ยวชาญด้านการสื่อสารสุขภาพ สื่อสารวิกฤติโดยตรง ทั้งนี้ คาดว่าจะเริ่มอย่างเป็นทางการในเดือนธันวาคม 2566 นี้  

พญ.นวลสกุล กล่าวเพิ่มว่า การอบรมทีมแคร์ดีพลัส  ได้ทำเป็นหลักสูตรมาตรฐาน เน้นเทคนิคการสื่อสารสมัยใหม่ ด้วยการ Upskill และ Re-skill  เรียนได้ทั้งออนไลน์ และออนไซต์ เป็นหลักสูตรการสื่อสารด้วยความเข้าใจ เพื่อให้เข้าใจถึงอารมณ์ ความรู้สึก ยกตัวอย่าง การสื่อสารที่ไม่ใช่แค่คำพูดหรือการรับฟัง แต่เมื่อฟังแล้ว เราต้องวิเคราะห์ว่า อารมณ์ความรู้สึกของคนสื่อสารมา เขาเป็นอย่างไร ต้องการอะไร ตรงนี้จะมีทั้งหลักการสื่อสาร และหลักจิตวิทยาเข้ามาด้วย ซึ่งเมื่อบุคลากรผ่านการอบรมหลักสูตรนี้ก็จะสามารถสื่อสารประสานใจสร้างความเข้าใจซึ่งกันและกันได้ 

ผู้สื่อข่าวถามว่า การจัดทีมประสานใจ CareD+ ในโรงพยาบาลกระทรวงสาธารณสุข ถือเป็นครั้งแรกในประเทศใช่หรือไม่ พญ.นวลสกุล กล่าวว่า ใช่ เพราะปัจจุบันสังคม การสื่อสารต่างๆ เปลี่ยนแปลงไปแล้ว คนทุกคนเป็นสื่อได้ โลกออนไลน์ทำให้เข้าถึงกันหมด ทุกอย่างไวมาก หลายครั้งมีประเด็นดราม่าเกิดขึ้นบ่อย ตรงนี้หากเราสามารถสื่อสารได้ เตรียมรับมือ และประเมินสถานการณ์เพื่อสื่อสารข้อมูลให้ถูกต้อง  สามารถบริหารการสื่อสารในภาวะวิกฤติได้  ทุกอย่างก็จะผ่านพ้นไปได้

“เร็วๆนี้ สธ.จะเปิดตัวโครงการ CareD+ อย่างเป็นทางการและเดินหน้าให้รพ.หน่วยบริการในสังกัดมีนักประสานใจ เรามั่นใจว่า บุคลากรสาธารณสุขของเราทำได้ ซึ่งขณะนี้มีโรงพยาบาลหลายแห่งสนใจที่จะส่งบุคลากรของตนมาอบรมแล้ว "พญ.นวลสกุล กล่าว

อนึ่ง สำหรับ Care D+  เป็นทีมที่จะเข้ามาช่วยสร้างวัฒนธรรมใหม่ ใช้หลักใจเขาใจเรา ทำหน้าที่ประสานใจระหว่าง ผู้ป่วย ญาติ และ บุคลากรสาธารณสุข ให้เกิดความเข้าใจ ลดช่องว่างการสื่อสาร เพิ่มความเข้าใจเห็นอกเห็นใจ และที่มากไปกว่านั้น คือ ความใส่ใจ หรือ Care พร้อมที่จะโอบอุ้ม ดูแลกัน ส่วน D คือ ดีต่อใจ Develop พัฒนาทักษะการสื่อสาร ในธีมแบบง่ายๆ  Care for life Share for Love