เปิดตัวอย่างกิจกรรม “ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กบ้านส้าน อ.เวียงสา จ.น่าน”  กับแนวทางปลูกพลังบวกสร้างจิตสำนึกเด็กปฐมวัย ป้องกันภัยเหล้า บุหรี่ ชูเป็นจังหวัดนำร่อง 1 ใน4 หวังลดปัญหานักดื่มพุ่ง!

 

“ความรู้ไม่ใช่เป็นตัวพฤติกรรม แต่จริงๆแล้วสิ่งที่กำหนดพฤติกรรมคือ จิตใต้สำนึก มีงานวิจัยจิตวิทยาพบว่า ส่วนใหญ่การปลูกฝังจิตใต้สำนึกอยู่ที่ก่อนอายุ 7 ปี เราจึงสร้างภูมิคุ้มกันถึงพิษภัยเหล้า บุหรี่ ตั้งแต่เด็ก..”

....นพ.พงศ์เทพ วงศ์วัชรไพบูลย์ ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนการพัฒนาระบบสุขภาพ สสส. กล่าวถึงความสำคัญของการปลูกฝังจิตใต้สำนึกในเด็กปฐมวัย ให้ทราบถึงพิษภัยเหล้า

“โครงการปลูกพลังบวกเพื่อสร้างจิตสำนึกภูมิคุ้มกันปัจจัยเสี่ยง(เหล้า บุหรี่) สำหรับเด็กปฐมวัย”  เป็นอีกหนึ่งโครงการที่สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส.) ให้การสนับสนุนสำนักงานเครือข่ายองค์กรงดเหล้า(สคล.) และภาคีในการดำเนินการ โดยเป็นการพัฒนาทักษะชีวิตแก่เด็กปฐมวัย ผ่านการจัดกิจกรรมของครูปฐมวัยร่วมกับผู้ปกครอง เพื่อสร้างพลังบวก สร้างจิตสำนึกภูมิคุ้มกันปัจจัยเสี่ยงสำหรับเด็กปฐมวัย  นำร่องใน 4 จังหวัด คือ น่าน ศรีสะเกษ ราชบุรี และชุมพร ครอบคลุมสถานศึกษานำร่อง 42 แห่ง และขยายผลสู่สถานศึกษาที่สนใจการพัฒนาเด็กปฐมวัยในแต่ละจังหวัดรวม 35 จังหวัด มีสถานศึกษาเข้าร่วมดำเนินงาน  2,800 กว่าแห่ง ในทุกสังกัดการศึกษา  

'น่านสร้างสุข model' สู่กิจกรรมปลูกฝังจิตสำนึกเด็กรู้ทันพิษภัยเหล้าบุหรี่

ล่าสุด สสส. นำคณะสื่อมวลชนจากส่วนกลางลงพื้นที่ศึกษาดูงาน “น่านสร้างสุข model : ปลูกพลังบวกเด็กปฐมวัยภูมิคุ้มกันปัจจัยเสี่ยงและเสริมพลังการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ โดยชุมชนลดปัจจัยเสี่ยง” เมื่อวันที่ 27-28 ตุลาคม 2566 ที่ผ่านมา  มี นพ.พงศ์เทพ วงศ์วัชรไพบูลย์ ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนการพัฒนาระบบสุขภาพ สสส. นำคณะ พร้อมทั้งลงพื้นที่ “ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กบ้านส้าน อ.เวียงสา จ.น่าน” เพื่อชมกิจกรรมการเรียนการสอนเพื่อมุ่งปลูกฝังจิตสำนึกพลังบวกแก่เด็กๆ

นพ.พงศ์เทพ ให้ข้อมูลว่า  น่าน เป็น 1 ใน 10 จังหวัดที่มีอันดับการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์สูงเกิน 28% ด้วยปัจจัยบริบททางสังคมวิถีชีวิต ภูมิเศรษฐศาสตร์ เราจึงร่วมกับสำนักงานเครือข่ายองค์กรงดเหล้าขับเคลื่อน “น่านสร้างสุข model เริ่มตั้งแต่เด็กปฐมวัย เพราะถ้าเราปลูกพลังบวกให้เด็กอายุ 3-5 ปี เป็นช่วงโอกาสทองของการพัฒนาด้านสมองและการเรียนรู้ ให้เขารู้ว่าอะไรคือพิษภัย ผลกระทบของเหล้าเบียร์ ย่อมทำให้เขามีภูมิคุ้มกันที่ดี เรียกว่าเป็นการจัดวัคซีนเข็มแรกให้พวกเขา  

“โครงการ น่าน สร้างสุข model  เป็นความร่วมมือระหว่าง สคล. สสส. และคุณครูที่เกษียณอายุแล้ว จัดทำเป็นเครือข่ายร่วมกับศูนย์พัฒนาเด็กเล็กในจ.น่าน ถึง 427 แห่ง ทำให้เกิดเครือข่ายในการเรียนรู้ คุณครูศูนย์เด็กเล็กได้พัฒนาทักษะชีวิตของเด็ก ให้พวกเขาได้เรียนรู้กิจกรรมต่างๆ ทั้งนิทาน การระบายสี ฯลฯ และเด็กจะสามารถนำไปถ่ายทอดให้กับพ่อแม่ผู้ปกครอง ทั้งการกระตุ้นเตือน ฉุกให้คิดว่า เราจะเป็นต้นแบบที่ดีที่ทำให้ลูก มีภูมิคุ้มกันไม่ดื่มเหล้า สูบบุหรี่อย่างไร” นพ.พงศ์เทพ กล่าว

นี่เป็นจุดเริ่มในการสร้างวัคซีนเข็มแรกให้กับเด็กปฐมวัย และคาดว่าจะมีวัคซีนเข็มสอง เข็มสอง ในระดับประถมศึกษา มัธยมศึกษาต่อไป ตรงนี้อยากเชิญชวนสถานศึกษา ชุมชน ว่า เมื่อเด็กๆโตขึ้นถึงชั้นประถมศึกษา จะได้เรียนรู้ถึงเหตุการณ์จริงถึงผลกระทบ เช่น ดื่มเหล้าแล้วขับ เจออุบัติเหตุ เกิดความพิการ หรือสุขภาพทางกายที่ทรุดโทรม ก่อโรคจากเหล้าบุหรี่ ดังนั้น นี่จะเป็นโอกาสให้เด็กได้เห็นเป็นต้นแบบ อย่างไรก็ตาม โครงการน่านโมเดล เราจะเริ่มที่เด็กปฐมวัยก่อนจะขยายในเด็กระดับอื่นๆต่อไป อย่างบุหรี่ไฟฟ้า กำลังเข้าไปในเด็กประถมศึกษาช่วงปลาย และมัธยมศึกษา จึงจำเป็นต้องสร้างภูมิคุ้มกันให้พวกเขารับทราบถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้น ทั้งนี้ ผู้ปกครองต้องมีส่วนช่วยด้วยในการสื่อสารภายในครอบครัวให้รู้พิษภัยของสุราและบุหรี่

สำหรับระดับมัธยมศึกษา จนถึงอุดมศึกษานั้น ทางสสส.มีการหารือกับทางผู้กำหนดนโยบายเช่นกันว่า จะทำอย่างไรให้เกิดการเรียนรู้กระบวนการต่างๆ ซึ่งเป็นการหารือถึงการขยายผล ในระดับจังหวัดและระดับกระทรวงศึกษาธิการ ซึ่งการทำให้เป็นนโยบาย การขยายผลอย่างรวดเร็ว ถือเป็นสิ่งจำเป็นในระยะยาว    

กิจกรรมปลูกฝังจิตสำนึกเด็กเล็ก

นางเรณู มาละวัง ครูวิทยฐานะครูชำนาญการ ศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก อบต.ส้าน กล่าวว่า จากการเข้าอบรมหลักสูตรปลูกพลังบวกเพื่อสร้างจิตสำนึกภูมิคุ้มกันปัจจัยเสี่ยงสำหรับเด็กปฐมวัย ได้นำความรู้มาบูรณาการกับหลักสูตรสถานศึกษาในแผนการจัดประสบการณ์และกิจกรรมสร้างสรรค์ เช่น เพลง เกมการศึกษา มีกิจกรรมให้เด็กไปทำร่วมกับผู้ปกครองที่บ้าน อ่านนิทาน ระบายสี ทำใบงานร่วมกัน เด็กๆ จะชอบร้องเพลงประกอบท่าทาง เพลงกระจงก่งก๊ก ก่อนจะนำเข้าสู่ การทดลองตับแช่เหล้า เด็กๆ จะสนใจและตื่นเต้นมาก สิ่งที่เด็กๆ จะได้เรียนรู้ จากจะมองเห็นการสัมผัส นึกคิดติดตาม เปรียบเทียบ และสังเกตการณ์สู่การเปลี่ยนแปลง และจดจำได้ดี

ส่วนประเด็นบุหรี่ จะเป็นนิทานอากาศดี๊ดี หลังจากกิจกรรม ผู้ปกครองก็มีแปลกใจ กับผลลัพธ์ที่เกิดขึ้น เด็กจะทำท่า say no (เอามือไขว่เป็นสัญลักษณ์ หยุดดื่ม หยุดสูบ) ระหว่าที่เห็นผู้ปกครองดื่มเหล้า-เบียร์ หรือสูบบุหรี่ เด็กๆ รู้จักที่จะเลือกสิ่งที่ดีและไม่ดี มั่นใจที่จะปฏิเสธสิ่งไม่ดีมากขึ้น เมื่อคนที่บ้านดื่มเหล้าหรือสูบบุหรี่ เด็ก ๆ ก็จะมาฟ้องว่าคุณพ่อดื่มเบียร์ เสียงสะท้อนจากเด็กทำให้ผู้ปกครองตระหนักมากขึ้น พยายามหยุดดื่มและไม่สูบให้เด็กเห็น ในช่วงเทศกาลเข้าพรรษาก็ร่วมทำสัญญาใจ ลด ละเลิกเหล้าและอบายมุข

กิจกรรมการทดลองตับแช่เหล้า 

สำหรับการทดลองตับแช่เหล้า  เป็นกิจกรรมที่คุณครูนำตับหมูมาทำการทดลอง โดยแยกระหว่างยังไม่แช่เหล้า กับแช่เหล้า เพื่อให้เด็กๆได้เห็นถึงความเปลี่ยนแปลง โดยเปิดโอกาสให้เด็กๆได้ทดลองนำตับแช่เหล้า และทดลองด้วยการใช้นิ้วสัมผัสตับที่แช่เหล้า ซึ่งตับที่แช่เหล้า สีจะเปลี่ยนไปและมีสภาพที่แข็ง เด็กจะทราบความแตกต่าง และต่างพูดพร้อมกันว่าเหล้ามีกลิ่นเหม็น ทำให้ตับเสีย เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม โครงการยังจัดตั้งคณะทำงานในรูปแบบการมีส่วนร่วมของหน่วยงานการศึกษาเป็นกลไกการขับเคลื่อนงานปลูกพลังบวกฯ ในระดับจังหวัด ซึ่งมีองค์ประกอบของคนทำงานร่วมที่หลากหลาย มีการจัดทำแผนพัฒนาผู้เรียนเรื่องเหล้า 24 แผน เรื่องบุหรี่ 24 แผน คู่มือครู คู่มือผู้ปกครอง และคู่มือการนิเทศ ประเมินติดตามผลเสริมพลัง ทำให้เกิดความน่าเชื่อถือขององค์กรหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมั่นใจในการนำไปใช้

ผลสำเร็จของการขับเคลื่อนงานปลูกพลังบวก เพื่อสร้างจิตสำนึกภูมิคุ้มกัน ปัจจัยเสี่ยง สำหรับเด็กปฐมวัย ในจังหวัดน่าน เกิดจากการจัดตั้งคณะทำงานระดับจังหวัด ที่มีองค์ประกอบด้วย นักวิชาการของโครงการ ร่วมกับศึกษานิเทศก์จาก สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาปฐมศึกษา ครูแกนนำ และเจ้าหน้าที่จากกองการศึกษาขององค์การปกครองส่วนท้องถิ่น เป็นกลไกการขับเคลื่อนในระดับจังหวัด นอกจากนี้มีการอบรมให้กับสถานศึกษาในจังหวัด กว่า 300 แห่ง

ผลการประเมินสถานศึกษาเครือข่ายของคณะนิเทศ ติดตามและประเมินผล ผ่านเกณฑ์และได้รับการรับรองเป็นสถานศึกษาต้นแบบ โดยสำนักงานเครือข่ายองค์กรงดเหล้า (สคล.) ภายใต้การสนับสนุนของสำนักงานกองทุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ได้ประกาศให้เป็นสถานศึกษาแหล่งเรียนรู้ จำนวน 35 แห่ง เช่น ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กองค์การบริหารส่วนตำบลส้าน ก็เป็นหนึ่งในศูนย์พัฒนาต้นแบบในระดับดีเยี่ยม ที่สามารถเป็นแหล่งเรียนรู้ได้

ผลรับฟังความคิดเห็นผู้ปกครองต่อพฤติกรรมเด็กปฐมวัย

อีกทั้ง ยังมีผลจากการจัดเวทีเพื่อรับฟังความคิดเห็นจากผู้ปกครองและเก็บข้อมูลโดยใช้แบบสอบถามจากผู้บริหารสถานศึกษา ครู และผู้ปกครอง และแบบสังเกตพฤติกรรมของเด็กปฐมวัย พบว่า

1. ความคิดเห็นของผู้บริหารสถานศึกษา ที่มีต่อการใช้ชุดกิจกรรมฯ คิดเป็นร้อยละ 93.85

2. ความคิดเห็นของครู ที่มีต่อการใช้ชุดกิจกรรมฯพัฒนาผู้เรียน คิดเป็นร้อยละ 86.00

3. ความคิดเห็นของผู้ปกครอง ที่มีต่อการใช้ชุดกิจกรรมฯ คิดเป็นร้อยละ 88.70

4. ข้อมูลจากแบบสังเกตพฤติกรรมของเด็กปฐมวัยที่ผ่านเกณฑ์ทักษะชีวิต 4 องค์ประกอบ ของ สพฐ.  ดังนี้

- เด็กปฐมวัยที่มีอายุต่ำกว่า 3 ปี ผ่านเกณฑ์การประเมิน คิดเป็นร้อยละ 95.77

- ชั้นอนุบาลปีที่ 1 (อายุ 3-4 ปี) ผ่านเกณฑ์การประเมิน คิดเป็นร้อยละ   94.68

- ชั้นอนุบาลปีที่ 2 (อายุ 4-5 ปี) ผ่านเกณฑ์การประเมิน คิดเป็นร้อยละ   94.68

- ชั้นอนุบาลปีที่ 3 (อายุ 5-6 ปี) ผ่านเกณฑ์การประเมิน คิดเป็นร้อยละ   95.06

ผลดำเนินงานสถานศึกษาต้นแบบ

นอกจากนี้ ยังมีผลการดำเนินงานทำให้ได้สถานศึกษาต้นแบบ และสถานศึกษาแหล่งเรียนรู้ ดังนี้

1. โรงเรียนต้นแบบ 12 โรงเรียนได้แก่ (1) โรงเรียนบ้านดอน(ศรีเสริมกสิกร) (2) โรงเรียนบ้านาสิงห์ (3) โรงเรียนบ้านทุ่งน้อย (4) โรงเรียนบ้านหาดเค็ด (5) โรงเรียนบ้านน้ำงาว (6) โรงเรียนบ้านจอมจันทร์(7) โรงเรียนบ้านสันทะ (8) โรงเรียนชุมชนบ้านอ้อย (9) โรงเรียนประกิตเวชศักดิ์(10)   โรงเรียนชุมชนนาทะนุง (11) โรงเรียนชุมชนบ้านนาคา และ (12) โรงเรียนบ้านดู่พงษ์

2. โรงเรียนแหล่งเรียนรู้ 3 โรงเรียน ได้แก่ โรงเรียนราชานุบาล โรงเรียนศรีเวียงสาวิทยาคาร  และโรงเรียนบ้านชมพู

3. ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กต้นแบบ 2 ศูนย์ได้แก่ (1) ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กเทศบาลดู่ใต้ และ (2) ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กไชยวัฒนา อำเภอปัว

4.ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กแหล่งเรียนรู้ 2 ศูนย์ได้แก่ (1) ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กเทศบาลเมืองน่าน (2) ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กตำบลส้าน อำเภอเวียงสา

 

เป็นอีกโครงการดีๆในการสร้างภูมิคุ้มกันให้เด็กปฐมวัย..

 

 

 

 

ข่าวเกี่ยวข้อง : จังหวัดน่าน 1 ใน 10 อันดับดื่มเหล้าสูงสุด สสส.ปลุกจิตสำนึกเด็กรู้ภัยผลกระทบ