ประธานคณะอนุกรรมการฯ เผย หากกระบวนการถ่ายโอน รพ.สต. ไป อบจ. ไม่เป็นไปตาม กม. หรือ ที่ประชุม กกถ.มีมติสวนทางกับมติคณะอนุกรรมการฯ พร้อมแสดงจุดยืนสู้ทุกเวทีเคียงข้างพี่น้องท้องถิ่น ลั่นถาม? เมื่อกฎหมายออกประกาศในราชกิจจาฯ แล้วไม่สามารถบังคับใช้กฎหมายนั้นได้ก็ไม่ควรมี และควรยุบคกก.ที่เกี่ยวข้องใช่หรือไม่...
การถ่ายโอนโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล(รพ.สต.) ไปยังองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) ทั้งปีงบประมาณ 66-67 ที่ผ่านมา ล้วนเจอปัญหาอุปสรรคในหลายๆเรื่อง เช่น บุคลากรขอยกเลิกถ่ายโอน, บุคลากรที่สมัครใจถ่ายโอนไปแต่ไม่สามารถไปได้ ฯลฯ กระทั่งตอนนี้ก็ล่วงมาจะครบ 1 เดือนที่มีการเดินหน้าถ่ายโอนปีงบประมาณ 2567 แล้ว ยังไม่ถูกแก้ปัญหาอย่างชัดเจนซึ่งเรื่องนี้ไม่ใช่แค่บุคลากรถ่ายโอนที่ได้รับผลกระทบเพียงฝ่ายเดียว แต่ประชาชนเองก็ได้รับผลกระทบตามไปด้วยเช่นกัน
เผยที่มาสู้เพื่อประชาชนท้องถิ่น
ล่าสุดวันที่ 28 ต.ค. 2566 นายเลอพงศ์ ลิ้มรัตน์ ประธานคณะอนุกรรมการบริหารภารกิจถ่ายโอนด้านสาธารณสุขฯ ออกมาเปิดใจกับ hfocus ว่า จุดเริ่มต้น ตนมีความสนใจเรื่องการกระจายอำนาจฯ จึงเขียนใบสมัครเข้ามาเป็นกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการการกระจายอำนาจฯ เมื่อพ.ศ.2559 และเห็นว่าการกระจายอำนาจให้ท้องถิ่นจะทำให้ประชาชนมีส่วนร่วมในระบอบการเมืองการปกครองในรูปแบบประชาธิปไตยมากยิ่งขึ้น อีกทั้ง ท้องถิ่นจะช่วยแบ่งเบาภารกิจของรัฐบาล ทำให้ประชาชนได้รับบริการจากภาครัฐดีขึ้น ภารกิจเล็กๆควรจะถ่ายโอนให้ อปท.ดำเนินการ / บริหารจัดการแทนรัฐบาล หรือราชการส่วนกลางและภูมิภาค
ภารกิจด้านสาธารณสุขในการป้องกัน รักษาพยาบาลเบื้องต้นและการฟื้นฟู ซึ่งเป็นปฐมภูมิ ไม่ใช่ทุติยภูมิ / ไม่ใช่ตติยภูมิ ก็ควรที่จะถ่ายโอนให้ท้องถิ่นดูแลพี่น้องประชาชนกันเอง เนื่องจากเป็นหน่วยงานราชการที่ใกล้ชิดกับประชาชนมากที่สุด ย่อมเข้าใจพื้นที่และรับรู้ปัญหาและความต้องการของประชาชนดีกว่ารัฐบาล
ดังนั้น รัฐบาลควรส่งเสริมหรือสนับสนุนให้มีการถ่ายโอนสถานีอนามัยและ รพ.สต.ซึ่งเป็นหน่วยปฐมภูมิให้ อปท.ดำเนินการแทนกระทรวงสาธารณสุข โดยให้ สธ. หรือ สสจ.เป็นพี่เลี้ยงคอยกำกับดูแลและสนับสนุนส่งเสริมให้ อปท.ดำเนินการได้ตามมาตรฐาน
ในปีงบประมาณ 2566 ที่ผ่านมา ในฐานะที่ กกถ.ได้แต่งตั้งตนเองมาทำหน้าที่ประธานอนุกรรมการบริหารภารกิจถ่ายโอนด้านสาธารณสุขให้แก่ อปท. มีปัญหาอุปสรรคมากมาย ตนได้ทำหน้าที่ที่ได้รับมอบหมาย โดยประสานงานกับทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องจนทำให้มีการถ่ายโอน สอน./รพ.สต.ให้แก่ อบจ.จำนวน 3,263 แห่ง บุคลากรถ่ายโอน 22,000 กว่าคน แต่ก็ยังไม่สำเร็จในเรื่องผลักดันงบประมาณเพื่อสนับสนุนให้ สอน./รพ.สต.(SML) และงบประมาณการเติมคนให้เต็มกรอบอัตรากำลังเต็มตามที่ ประกาศ กกถ.กำหนดไว้ และอีกหลายเรื่องหลายประเด็น
สธ.ปรับเปลี่ยนไม่ยอม 5 หน่วยในสังกัดถ่ายโอน
"อย่างไรก็ดีปัญหาการถ่ายโอนปีแรกก็ผ่านพ้นไปในบางเรื่องเท่านั้น ในปีงบประมาณ 2567 ต้องถ่ายโอนรุ่นที่สอง ก็มีปัญหาเพิ่มมาอีกในเรื่องบุคลากรที่อยากจะถ่ายโอนแต่ต้นสังกัดไม่ยินยอมปล่อยตัว ทั้งที่คณะอนุกรรมการฯผ่อนปรนให้บุคลากรที่อยู่ สสอ. สสจ. รพช. รพท. รพศ.ที่สังกัดสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุขเหมือนกับ สอน./รพ.สต. เหมือนกันหากมีตำแหน่งตรงกันก็สามารถยื่นความประสงค์ขอถ่ายโอนโดยต้องมีหนังสือจากผู้บังคับบัญชาหน่วยเบื้องต้นยินยอมและไม่กระทบกับงานและบริการ"
แต่ต่อมา ทาง สธ. ก็มาเปลี่ยน ทั้งที่มีหนังสือราชการแจ้งเวียนทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปหมดแล้ว แต่จะไม่ให้บุคลากรเหล่านี้ถ่ายโอน มีการชักรายชื่อออก ไม่ทำตามมติอนุกรรมการ รวมทั้งไม่เสนอ อ.ก.พ. สธ.ให้ความเห็นชอบให้ถ่ายโอนไปยัง อบจ. เหตุการณ์ที่ส่วนราชการไม่ทำตามประกาศ กกถ.และไม่ดำเนินการตามมติคณะอนุกรรมการฯ ไม่ดำเนินการตามกฎหมายระดับอนุบัญญัติ ซึ่งตนในฐานะประธานได้ประชุมเร่งรัดและขับเคลื่อนตามประกาศ กกถ.และมติที่ประชุมมาโดยตลอดที่ผ่านมา
รมว.สธ.ทำหนังสือถึงรองนายกฯ ชี้ขาดปมถ่ายโอน ขัดมติคณะอนุฯ
เลอพงศ์ กล่าวต่อว่า บัดนี้ มีข้อมูลว่าทาง สธ.ได้ให้ รมว.สธ.ลงนามในหนังสือถึงรองนายกฯที่นายกฯมอบหมายให้มาเป็นประธาน กกถ. เพื่อชี้ขาดในประเด็นปัญหาการถ่ายโอนบุคลากรดังกล่าว ซึ่งเป็นการไม่ดำเนินการตามมติที่ประชุมคณะอนุกรรมการและประกาศ กกถ.(อนุบัญญัติ)ที่ได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษามีผลใช้บังคับผูกพันทุกส่วนราชการต้องดำเนินการ ซึ่งกำหนดจะประชุมในวันพุธที่ 1 พ.ย.นี้
ตนในฐานะประธานอนุกรรมการฯที่มีหน้าที่เกี่ยวข้องในเรื่องนี้และในฐานะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิคนหนึ่งใน กกถ. จะขอยืนยันมติที่ประชุมอนุกรรมการฯต่อที่ประชุม กกถ. ว่าในการประชุมที่ผ่านมา คณะอนุกรรมการได้ขับเคลื่อนตามประกาศ กกถ.ซึ่งเป็นอนุบัญญัติตามอำนาจและหน้าที่มาโดยตลอด หากที่ประชุม กกถ.มีมติสวนทางกับมติคณะอนุกรรมการฯแล้ว จะเป็นการดำเนินการที่ไม่ชอบตามประกาศ กกถ. ซึ่งตนในฐานะประธานอนุกรรมการฯยังยึดมั่นในแนวคิดการกระจายอำนาจฯและการถ่ายโอนภารกิจให้ท้องถิ่นจะทำให้เกิดประโยชน์กับพี่น้องประชาชนและประเทศชาติ
"เลอพงศ์"ลั่นขอทำสิ่งที่ถูกต้อง
การประชุมของทุกองค์กรไม่ว่าเอกชนหรือราชการ ที่ประชุมมีมติตามเสียงส่วนใหญ่แล้ว เสียงส่วนน้อยในที่ประชุมไม่เห็นด้วยแล้วไม่ปฏิบัติตามมติ องค์กรนั้นจะทำงานต่อไปอย่างไร เมื่อกฎหมายออกประกาศในราชกิจจาฯแล้วไม่สามารถบังคับใช้กฎหมายนั้นได้ก็ไม่ควรมีกฎหมายแล้วใช่หรือไม่ เช่นเดียวกัน ประกาศกระจายอำนาจที่ผ่านการลงราชกิจจานุเบกษา หากไม่มีใครทำตาม เป็นเพียงกระดาษเปล่า ก็ไม่ควรมีแม้กระทั่งคณะกรรมการการกระจายอำนาจด้วย ต้องยุบทิ้งเลยหรือไม่
"หากผมยืนหยัดต่อสู้ในสิ่งที่ถูกต้องในฐานะประธานอนุกรรมการฯและ กกถ.อย่างเต็มความสามารถแล้วไม่สามารถทัดทานเรื่องดังกล่าวได้ ผมพร้อมที่จะมาแสดงออกในฐานะประชาชนคนธรรมดาคนหนึ่งที่จะร่วมสู้ทุกเวทีเคียงข้างมวลชนและพี่น้องท้องถิ่น เพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลและ กกถ.ทำในสิ่งที่ถูกต้องตามที่กฎหมายกำหนดต่อไป" เลอพงศ์ กล่าวทิ้งท้าย
- 7844 views