ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

สธ. สร้างต้นแบบพื้นที่อายุยืน (Blue Zone) ทุกจังหวัด ชู “น่านซิตี้โมเดล” ดึงชุมชนร่วมขับเคลื่อน ด้านสสส.-เครือข่าย ทำแคมเปญประเพณีปลอดเหล้า พร้อมจัดทีมเฝ้าระวัง มีเยาวชนแกนนำสอดส่องดูแลป้องกันคนแอบนำเหล้าเข้าพื้นที่ ข้อกังวลโลโก้เครื่องดื่มแอลกอฮอล์มีผลจดจำ เน้นสร้างความเข้าใจเด็ก

 

เมื่อวันที่ 28 ต.ค. 2566 ที่สะพานข้ามแม่น้ำน่าน (ท่าน้ำบ้านป่ากล้วย) อ.เวียงสา จ.น่าน นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธานในพิธีเปิดประเพณีแข่งเรือออกพรรษา ตานก๋วยสลากวัดบุญยืน พระอารามหลวง ชิงถ้วยพระราชทานสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ประจำปี 2566 

 

ชู "บลูโซน" หนึ่งเขตสุขภาพ หนึ่งพื้นที่อายุยืนทุกจังหวัด 

 

นพ.ชลน่าน ให้สัมภาษณ์ว่า  สธ. มีนโยบายในการส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ ด้วยการสร้างต้นแบบพื้นที่อายุยืน (Blue Zone) ให้เป็น “หนึ่งเขตสุขภาพ หนึ่งพื้นที่อายุยืน” ในทุกจังหวัด โดย “น่านซิตี้โมเดล” เป็นหนึ่งในจังหวัดนำร่องของเขตสุขภาพที่ 1 คำว่า DEL ก็จะมีความหมายในตัว คือ D-Diet อาหารดี, E-Exercise ออกกำลังกาย และ L-Lifestyle วิถีชีวิต การผ่อนคลายความเครียด ซึ่งทั้งหมดนี้เป็นการส่งเสริมสุขภาพในมิติเชิงสังคม

 

“ประเพณีการแข่งเรือ เป็นการแสดงออกที่ตอบโจทย์ของการส่งเสริมสุขภาพ จึงมีการรณรงค์เรื่องการงดเหล้า อาหารปลอดภัย ส่งเสริมออกกำลังกายทั้งผู้แข่งเรือ กองเชียร์ก็ต้องฝึกซ้อม สะท้อนให้เห็นว่า น่านได้ใช้ประเพณีที่เป็นวัฒนธรรมดั้งเดิมมากำหนดการลดปัจจัยเสี่ยงที่กระทบสุขภาพ เพื่อป้องกันโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCDs) โดยเฉพาะโรคเบาหวาน ความดัน ไขมัน” นพ.ชลน่านกล่าว

นพ.ชลน่าน กล่าวว่า ส่วนการเตรียมความพร้อมให้จังหวัดน่านเป็นหนึ่งในจังหวัดทัวร์ลิซึ่ม (Tourism) เพราะเป็นเมืองที่ได้รับการส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ เช่น โฮมสเตย์ วัฒนธรรม ซึ่งเป็นหนึ่งในนโยบายของ สธ. คือ นักท่องเที่ยวปลอดภัย พัฒนาโรงพยาบาลชุมชนแม่ข่าย มีระบบส่งต่อแบบไร้รอยต่อ เพิ่มศักยภาพการตรวจวินิจฉัยและรักษาทั้ง CT Scan/ICU จัดให้มี Mobile Stroke Unit เพื่อลดการส่งต่อ และเพิ่มบริการการแพทย์ฉุกเฉินสำหรับดูแลผู้ป่วยวิกฤติอย่างครอบคลุม จัดทีม Sky Doctor ดูแลผู้ป่วยฉุกเฉินได้อย่างรวดเร็ว

น่าน ดื่มเยอะเหตุวิถีชีวิต

 

เมื่อถามว่าน่านเป็นจังหวัดที่ติด 10 จังหวัดที่ดื่มแอลกอฮอล์สูงสุดในประเทศไทย นพ.ชลน่านกล่าวว่า เราต้องยอมรับว่าวิถีชีวิตและประเพณีบ้านเราเอื้อต่อการใช้ชีวิตให้เป็นนักดื่ม โดยเฉพาะการผลิตเหล้าได้ด้วยตัวเอง อย่างเช่น เหล้าขาว เราจึงต้องช่วยกันชี้ให้เห็นพิษภัยของเหล้า ต้องรู้ว่าดื่มอย่างไรให้ปลอดภัยเพื่อป้องกันและจัดการตัวเองได้ อย่างไรก็ตาม การลดการเข้าถึงเป็นสิ่งจำเป็น เช่น การแข่งเรือปลอดเหล้า ก็ลดการเข้าถึงการดื่ม ขณะเดียวกัน การลดการผลิต และการผลิตอย่างมีคุณภาพต้องมีการขึ้นทะเบียนเป็นสุราชุมชนที่จะมีกระบวนการแยกเอาน้ำมันที่เป็นพิษในเหล้าออกมา

 

“หลังจากที่สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) เข้ามารณรงค์งดแอลกอฮอล์ในประเพณีต่างๆ ทำให้เห็นชัดว่าในงานจะไม่มีการดื่มเหล้าให้เห็น ซึ่งต่างจากเมื่อก่อนที่ดื่มและขายเสรี นอกจากนั้น สสส. ได้เข้ามาร่วมในอีกหลายๆ กิจกรรม เช่น การวิ่งงดเหล้า การแข่งขันกีฬางดเหล้า ทำให้การงดเหล้าอยู่ในทุกๆ ประเพณีของเรา” รมว.สธ.กล่าว

สสส.ดึงเยาวชนเฝ้าระวังกลุ่มแอบนำเข้าเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในงานประเพณีปลอดเหล้า

นพ.พงศ์เทพ วงศ์วัชรไพบูลย์ ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนการพัฒนาระบบสุขภาพ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)  กล่าวว่า  สสส.เห็นว่าที่ผ่านมาในกระบวนการงานประเพณี การสนับสนุนโดยบริษัทเหล้า เข้ามาเป็นสปอนเซอร์ใหญ่ ทำให้มีการดื่มจำนวนมาก ส่งผลให้เกิดอุบัติเหตุมากขึ้นในช่วงงานประเพณี ด้วยเหตุนี้สสส.จึงร่วมกับผู้ว่าราชการจังหวัด องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) และสำนักงานเครือข่ายองค์กรงดเหล้า (สคล.) ประชาคมจังหวัดน่าน หน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมกันรณรงค์และดำเนินการให้งานจัดแข่งเรือยาวประเพณีปลอดเหล้า ปลอดเบียร์ ซึ่งได้ดำเนินการมาแล้ว 15 ปี

 

"การขับเคลื่อนเรื่องนี้ เพราะที่ผ่านมางานประเพณีที่มีเหล้า พบว่ามีการเสียชีงิตจากผลกระทบที่เกิดขึ้นปีละ2-3 คน ทุกปี และมีอุบัติเหตุถึงปีละ100 กว่าราย เกิดการบาดเจ็บและพิการ แต่เมื่อร่วมมือกันจนเกิดประเพณีปลอดเหล้าเบียร์ ช่วยลดปัญหาทะเลาะวิวาท มีความปลอดภัยขึ้น ลดอุบัติเหตุเหลือเพียง 10 กว่าราย จึนงดำเนินการต่อเนืีองตลอด"นพ.พงศ์เทพ กล่าว

 

เมื่อถามว่างานประเพณีปลอดเหล้าจะป้องกันนักดื่มหน้าใหม่ใช่หรือไม่ นพ.พงศ์เทพ กล่าวว่า ใช่ เป็นหลักสำคัญ เมื่อเด็กร่วมงานจะเห็นภาพที่ไม่มีการดื่มเหล้าในงาน ก็จะเกิดภาพจำ ปลูกฝังแต่เด็ก 

 

ถามต่อว่ามีการเฝ้าระวังการแอบนำเหล้าเบียร์เข้าร่วมงานอย่างไร นพ.พงศ์เทพ กล่าวว่า มีระบบเฝ้าระวัง โดยเยาวชนเข้ามาดูแลว่า มีการแอบนำเข้าหรือไม่ ซึ่งเป็นการสร้างทัศนคติให้เยาวชน นอกจากนี้ ยังมีการขยายผลส่งเสริมนักพากย์เรือเยาวชนรุ่นใหม่ทุกภูมิภาค และจัดเวทีประกวดนักพากย์เรือเยาวชนสร้างสุขชิงถ้วยพระราชทานสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ต่อเนื่องเป็นปีที่ 3  สอดแทรกการปลูกฝังค่านิยมที่ดีปลอดเหล้า บุหรี่ และอบายมุข และเป็นการป้องกันนักดื่มหน้าใหม่  

โลโก้เหล้าเบียร์สร้างการจดจำ แก้ปัญหาได้หากปลูกฝังเด็กรู้ถึงพิษภัย

เมื่อถามว่ากรณีโลโก้เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ติดบนขวดน้ำดื่มจะสร้างการจดจำต่อเด็กหรือไม่ นพ.พงศ์เทพ กล่าวว่า โลโก้ที่มีความคล้ายหรือเหมือนเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ จะเป็นประเด็นทางกฏหมายที่กระทรวงสาธารณสุขช่วยดูแล แต่เรามีการปลูกฝังให้ความรู้ และเชื่อว่าเด็กทราบสามารถแยกแยะได้ ส่วนสำคัญจึงต้องปลูกสำนึกพลังบวกให้พวกเขา 

เรื่องที่เกี่ยวข้อง