ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

คณะแพทย์ฯศิริราช จัดประชุมวิชาการ Thailand Metabolomics Society (TMS) ครั้งที่ 1 แลกเปลี่ยนประสบการณ์-งานวิจัย สู่ความร่วมมือของทุกสถาบัน ในการประยุกต์ใช้เทคโนโลยี ผอ.รพ.ศิริราช ชี้ Metabolomics ช่วยหาสาเหตุนำสู่การป้องกันโรค 

เมื่อวันที่ 27 ต.ค. 2566 คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล จัดการประชุมวิชาการ Thailand Metabolomics Society (TMS) ครั้งที่ 1 ณ ห้องประชุมพระศิวะ ชั้น 3 โรงแรมอัศวิน แกรนด์ คอนเวนชั่น โดยมี รศ.ดร.นพ.ยงยุทธ ศิริวัฒนอักษร ผู้อำนวยการโรงพยาบาลศิริราช และประธานคณะกรรมการดำเนินการศูนย์วิจัยเป็นเลิศด้านชีวโมเลกุลและฟีโนมศิริราช เป็นประธานเปิดการประชุมวิชาการ

รศ.ดร.นพ.ยงยุทธ กล่าวว่า การประชุมวิชาการ Thailand Metabolomics Society (TMS) ครั้งที่ 1 อยากให้คนรู้จักเมตาโบโลมิกส์กันมากขึ้น และเพื่อเป็นพื้นที่ให้นักวิจัยจากต่างสถาบันแลกเปลี่ยนประสบการณ์งานวิจัยสู่การร่วมมือกัน พร้อมหาแนวทางผลักดัน ยกระดับให้เป็นสมาคม เชื่อว่า เมื่อพวกเรารวมกันทุกสถาบันจะสำเร็จ

ส่วนวัตถุประสงค์ของการประชุมวิชาการ Thailand Metabolomics Society (TMS) ครั้งที่ 1 รศ.ดร.นพ.ยงยุทธ กล่าวว่า งานในครั้งนี้จัดขึ้นเพื่อให้ทุกคนได้แบ่งปันความรู้และประสบการณ์ให้กับคนรุ่นใหม่ที่กำลังศึกษาอยู่ รวมถึงนักวิทยาศาสตร์ อาจารย์แพทย์ สถาบันต่าง ๆ ได้มาเห็นว่า ศักยภาพของแต่ละที่เป็นอย่างไร ให้เกิดการบูรณาการ ร่วมมือกันอย่างแท้จริง  

"ชมรมนี้ก่อตั้งมาตั้งแต่ปี 2562 เป็นการรวมสถาบันที่มีความเชี่ยวชาญเกี่ยวกับเมตาโบโลมิกส์ ซึ่งการตรวจหาเมตาบอไลซ์ สามารถตรวจหาได้ทั้งการเจ็บป่วย โรคต่าง ๆ ซึ่งศาสตร์นี้ได้ก้าวหน้าไปอย่างรวดเร็ว วันนี้เป็นการรวมตัวกันจากทุกเครือข่าย ทั้งนักวิทยาศาสตร์และแพทย์ชั้นนำ หลังจากจบงานนี้ เชื่อมั่นว่า จะได้ทิศทางเพื่อยกระดับ Thailand Metabolomics Society ให้รุดหน้าในระดับนานาชาติต่อไป" รศ.ดร.นพ.ยงยุทธ กล่าว

รศ.ดร.นพ.ยงยุทธ ยังอธิบายถึงเมตาโบโลมิกส์ ว่า คนส่วนใหญ่จะรู้จัก จีโนมิกส์ (Genomics) ซึ่งเวลาตรวจโรคในระดับของเซลล์หรือโมเลกุลจะดูในระดับยีน กลไกของเซลล์จะสร้างเมตาบอไลซ์ออกมาก่อน จึงมีศาสตร์ให้วิเคราะห์เมตาบอไลซ์ หรือที่เรียกว่า เมตาโบโลมิกส์ จะช่วยตอบโจทย์ด้านการส่งเสริมป้องกันโรค หาสาเหตุนำสู่การป้องกัน ตัวอย่างเช่น โรคนอนกรน หากวิจัยว่า คนนอนกรน 2 ประเภท มีเมตาบอไลซ์อะไรในร่างกายที่แตกต่างกัน อาจมีวิธีการรักษาอื่นที่นำมาประยุกต์ใช้ได้  

"เมตาโบโลมิกส์ จะทำได้ตั้งแต่พยากรณ์โรค หาสาเหตุ วิธีการรักษา การให้ยา ให้ถูกต้องเหมาะสมกับโรคและผู้ป่วย ไม่ใช่แค่โรคภัย แต่ยังดูได้ถึงอาหาร ตรวจเมตาโบโลมิกส์ของอาหาร วิเคราะห์สาร หาความแตกต่างแต่ละสายพันธุ์ เช่น พันธุ์ข้าวแต่ละชนิดมีสารอะไรที่แตกต่างกัน แล้วให้เกษตรกรผลิตพันธุ์ข้าวขึ้นมา รวมถึงเรื่องยาก็สามารถทำได้" ปธ.คกก.ดำเนินการศูนย์วิจัยเป็นเลิศด้านชีวโมเลกุลและฟีโนมศิริราช กล่าว

ทั้งนี้ ภายในงานมีกิจกรรมต่าง ๆ อาทิ เสวนา เรื่อง “เมตาโบโลมิกส์และการประยุกต์ใช้ในงานวิจัยต่าง ๆ ในประเทศไทย” และ บรรยายพิเศษ เรื่อง “ทิศทางการให้ทุนการวิจัยขั้นแนวหน้าด้าน BCG (BCG Frontier Research): เทคโนโลยีโอมิกส์ สู่การต่อยอดการแพทย์เฉพาะบุคคลและอาหารแห่งอนาคต 

Thailand Metabolomics Society (TMS) ก่อตั้งขึ้นจากความร่วมมือกันระหว่างคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล โดยฝ่ายวิจัย งานกลุ่มวิจัยและเครือข่ายวิจัยและศูนย์วิจัยเป็นเลิศด้านชีวโมเลกุลและฟีโนมศิริราช ร่วมกับ

  • คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล 
  • ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ 
  • คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย 
  • คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น 
  • คณะอุตสาหกรรมเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ 

โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเผยแพร่องค์ความรู้ ความเชี่ยวชาญ และส่งเสริมงานวิจัยและพัฒนาด้านเมตาโบโลมิกส์ของประเทศไทยสู่ระดับสากล และเป็นพื้นที่สำหรับอาจารย์และนักวิจัยจากต่างสถาบันใช้แลกเปลี่ยนประสบการณ์งานวิจัย ซึ่งสามารถจะนำไปสู่การร่วมมือกันในการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีทางด้านเมตาโบโลมิกส์เข้ามาตอบโจทย์งานวิจัยขั้นแนวหน้า 

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง : อธิการฯมหิดล เซ็นตั้ง 'นพ.ยงยุทธ ศิริวัฒนอักษร' นั่ง ผอ.รพ.ศิริราชแทน 'นพ.วิศิษฎ์'

เรื่องที่เกี่ยวข้อง