ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

กทม.ตั้งเป้าใช้งบ กองทุนหลักประกันสุขภาพกรุงเทพมหานคร ให้ถึงร้อยละ 80 ร่วมมือภาคประชาชนทำโครงการส่งเสริมสุขภาพ ให้เหมาะสมกับพื้นที่แต่ละเขต

เมื่อวันที่ 24 ต.ค. 66 ที่ห้องประชมุ Rainbow 1 โรงแรมใบหยกสกาย รศ.ดร.ทวิดา กมลเวชช รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวภายในการประชุมแลกเปลี่ยนเชิงยุทธศาสตร์การขับเคลื่อนกองทุนหลักประกันสุขภาพ กรุงเทพมหานคร ตอนหนึ่งว่า ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครได้กำหนดเป้าหมายสำคัญที่จะต้องดำเนินการ ปีงบประมาณ พ.ศ.2567 จำนวน 22 เป้าหมาย โดยมี 1 ใน 22 เป้าหมายพัฒนา คือ ข้อที่ 19 ส่งเสริมการใช้งบประมาณ กองทุนหลักประกันสุขภาพกรุงเทพมหานคร ให้ถึงร้อยละ 80 ของเงินที่ได้อนุมัติแผนงานหรือโครงการหรือกิจกรรมกองทุนฯ เมื่อเทียบกรอบวงเงินที่ได้รับจัดสรร 

มีหน่วยงานเจ้าภาพหลัก คือ สำนักอนามัย และหน่วยงานสนับสนุน คือ 

  • สำนักงานเขต 
  • สำนักการแพทย์ 
  • สำนักการศึกษา 
  • สำนักพัฒนาสังคม
  • สำนักวัฒนธรรม กีฬา และการท่องเที่ยว 

ทั้งนี้ การขับเคลื่อนกองทุนหลักประกันสุขภาพกรุงเทพมหานครในระบบบริการสุขภาพปฐมภูมิ กำหนดให้ประชาชนเป็นศูนย์กลาง โดยบูรณาการการมีส่วนร่วมของชุมชนทุกภาคส่วนในระดับพื้นที่

ส่วนทิศทางนโยบายของกรุงเทพมหานคร ปี 2567 กับงานการขับเคลื่อนกองทุน หลักประกนสุขภาพกรุงเทพมหานคร รศ.ดร.ทวิดา กล่าวว่า กองทุนหลักประกันสุขภาพกรุงเทพมหานคร จะมีการขับเคลื่อนเรื่องการส่งเสริมสุขภาพ โดยมีโครงการที่เกี่ยวกับภาคประชาชนขึ้นมา ร่วมกันจับกลุ่มทำกิจกรรมที่ใช้ในการส่งเสริมสุขภาพ ให้เหมาะสมกับแต่ละพื้นที่ เช่น กลุ่มผู้สูงอายุ กลุ่มผู้พิการ กลุ่มเด็กเล็ก และกลุ่มวัยเจริญพันธุ์ แต่ที่ผ่านมายังมีจำนวนน้อย เพราะเริ่มใช้งบประมาณช่วงปี 2562-2563 ซึ่งงบฯที่จะจัดทำกิจกรรมส่งเสริมสุขภาพ ถ้าน้อยก็ไม่เป็นประโยชน์ต่อภาคประชาชน ในวันนี้มีหลายภาคส่วนมาร่วมกันเป็นกลไกหลักสำคัญในการช่วยคิดกิจกรรม ช่วยในการดำเนินการ ทำให้ถูกใจและตรงกับกลุ่มคน เพื่อให้ประชาชนสุขภาพดี ได้แก่ 

  • กระทรวงสาธารณสุข (สธ.)
  • สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) 
  • สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) 
  • สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) 
  • สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) 

ด้านความท้าทายให้ถึงเป้าหมายการใช้งบประมาณกองทุนหลักประกันสุขภาพกรุงเทพมหานคร ให้ถึงร้อยละ 80 รศ.ดร.ทวิดา ให้ความเห็นว่า บางเงื่อนไขยากเกินไป ทั้งในแง่ของภาคประชาชนเป็นผู้เขียนโครงการเอง กทม. จึงต้องช่วยในการอำนวยความสะดวก ดูว่าโครงการไหนเหมาะกับพื้นที่ไหน แล้วให้ภาคประชาชนรวมตัวกันเพื่อทำ พร้อมจัดทำเอกสารให้ศึกษาได้โดยง่าย มีภาคส่วนที่เป็นมูลนิธิ มหาวิทยาลัย เป็นหน่วยงานที่ช่วยในการคิดกิจกรรมให้สนุก นอกจากนี้ ยังได้รับความร่วมมือจาก สปสช. เรื่องกฎระเบียบและประกาศบางอย่างที่ควบคุมขอบเขตการทำงานว่าทำได้แค่ไหน ใช้ระเบียบแบบไหนได้ เพื่อให้เกิดความรอบคอบในการใช้งบประมาณ การประชุมในวันนี้จึงเป็นการการแก้ปัญหาไปด้วยกัน พร้อมตั้งหลักว่า จะทำอย่างไรให้ประโยชน์กลับไปสู่ภาคประชาชนมากขึ้น เมื่อเกิดความร่วมมือเช่นนี้ ก็จะทำให้การสื่อสารเรื่องสุขภาพได้ง่ายขึ้น ตรงตามจุดประสงค์ของ กทม. ที่ต้องการยกระดับปฐมภูมิ การมีกิจกรรมร่วมกันจะเป็นโอกาสสื่อสารระบบเชื่อมโยงของสาธารณสุขทั้งหมด หรือ Health Zone  

"สำนักงานเขตบางแห่งใช้ได้ร้อยละ 50-60 ซึ่งในพื้นที่จะมีเครือข่ายอาสาสมัครสาธารณสุข ประชาชนในชุมชนแข็งแรงมาก โดยได้ประชุมกับผู้ช่วยผู้อำนวยการเขต 50 เขต และเจ้าหน้าที่เขตที่ได้รับมอบหมาย 3 คน ในการทำโครงการนี้ ได้อธิบายถึงเงินงบประมาณว่าจะใช้ได้ด้วยวิธีไหน ส่วนสำนักอนามัย กรุงเทพมหานคร ก็ทำเป็น Database โครงการ รวมถึง สปสช. และ สสส.ส่งตัวอย่างโครงการที่ได้รับการอนุมัติแล้ว มาเก็บไว้ในคลังข้อมูล ให้เจ้าหน้าที่เขต ทำหน้าที่สื่อสารกับภาคประชาชนและอาสาสมัครสาธารณสุข ใช้ตัวอย่างโครงการไปพิจารณาว่าเหมาะกับพื้นที่ตัวเองหรือไม่" รศ.ดร.ทวิดา กล่าว

รศ.ดร.ทวิดา กล่าวเพิ่มเติมว่า กำลังพิจารณาให้สำนักอนามัย คุยกับฝ่ายการคลังและงบประมาณของเขต ส่วนฐานข้อมูลเกี่ยวกับสุขภาพได้ทำใน Bangkok Health Map เรียบร้อยแล้ว ดังนั้น การที่หน่วยงานที่เขตจะชงโครงการให้เหมาะสมกับบริบทในพื้นที่ไม่น่ายาก หากเครือข่ายต้องการขอข้อมูลไปใช้แจ้งได้ ถ้าไม่ขัดกับ PDPA หรือ Privacy กทม.ให้ได้ เพื่อให้สามารถทำงานร่วมกันได้ 

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง : ดึง 5 มหาวิทยาลัยราชภัฏ ขับเคลื่อนกองทุนหลักประกันสุขภาพ กทม. เป็นพี่เลี้ยงแนะแนวเขียนโครงการ

 

 

*สามารถกดติดตาม และแชร์ข่าวสำนักข่าว Hfocus ที่ https://www.facebook.com/Hfocus.org

เรื่องที่เกี่ยวข้อง