กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ ชวนยุวอาสาสมัครสาธารณสุข แกนนำนักเรียน ร่วมกันเฝ้าระวังเด็กและเยาวชนถูกบูลลี่ในสถานศึกษาและชุมชน หลังสำรวจพบเด็กและเยาวชนเคยถูกบูลลี่ถึงร้อยละ 44.2 

นพ.สุระ วิเศษศักดิ์ อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ กล่าวว่า จากการที่เด็กและเยาวชนถูกกลั่นแกล้งรังแก (บูลลี่) เกิดความรู้สึกอับอาย ด้อยค่า มีปัญหาทางด้านสุขภาพ และด้านจิตใจ ซึ่งส่งผลกระทบต่อเด็กและเยาวชนโดยตรง กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ โดยกองสุขศึกษา ได้ดำเนินการเฝ้าระวังพฤติกรรมสุขภาพ ประเด็นพฤติกรรมการถูกกลั่นแกล้งรังแก (บูลลี่) ด้วยการเก็บข้อมูลระหว่างวันที่ 21 กรกฎาคม –  10 สิงหาคม 2566 จำนวน 37,271 คน ดำเนินการร่วมกับสำนักการศึกษา กรุงเทพมหานคร และสำนักงานศึกษาธิการจังหวัด ผลการสำรวจพบว่า

  • เด็กและเยาวชนเคยถูกกลั่นแกล้งรังแกร้อยละ 44.2 
  • โดยถูกกลั่นแกล้งในโรงเรียนสูงถึงร้อยละ 86.9 
  • และเรื่องที่มักถูกกลั่นแกล้งรังแก ได้แก่ ล้อเลียนหน้าตา หรือบุคลิก ร้อยละ 76.6 
  • ตอกย้ำปมด้อย ด่าทอ ร้อยละ 63.3 
  • ทำร้ายร่างกาย ร้อยละ 55.1 

กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ ขอแนะนำวิธีปฏิบัติเมื่อถูกกลั่นแกล้งรังแก โดยตั้งสติ ไม่ใส่ใจ อย่าให้ผู้กลั่นแกล้งรู้สึกสนุก มั่นใจในสิ่งที่ตัวเองเป็น ไม่ใช้กำลัง พูดคุยกับผู้ใหญ่ที่เข้าใจ และรู้วิธีจัดการตนเอง เมื่อถูกบูลลี่ 

ด้าน นพ.สามารถ ถิระศักดิ์ รองอธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ กล่าวว่า ยุวอาสาสมัครสาธารณสุข เป็นเยาวชนจิตอาสาที่สามารถให้การช่วยเหลือ และแจ้งกับทางครูที่ปรึกษาในการเฝ้าระวังสังเกต และให้การช่วยเหลือนักเรียนที่ถูกกลั่นแกล้งในโรงเรียน ร่วมกับการดูแลทางด้านจิตใจ สร้างกิจกรรมพลังบวกให้กับเด็กและเยาวชน สนับสนุนการสร้างความสัมพันธ์ในครอบครัวให้อบอุ่น ตามหลักสุขบัญญัติข้อที่ 6 ซึ่งครอบครัวมีส่วนสำคัญในการสร้างรากฐานให้มีพฤติกรรมที่ไม่รุนแรง ไม่ก้าวร้าว และไม่แสดงกิริยาข่มขู่ รวมทั้งมีการสังเกตพฤติกรรมของคนในครอบครัวว่ามีพฤติกรรมถูกบูลลี่หรือไม่ อย่างไรก็ตามจำเป็นต้องอาศัยเครือข่ายยุวอาสาสมัครสาธารณสุขในการเฝ้าระวัง และเป็นหูเป็นตาจากการถูกบูลลี่ในสถานศึกษาระดับชุมชนต่อไป

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง : ปัญหาบูลลี่ในโรงเรียน ผลกระทบกับเด็กที่แตกต่างกัน

 

 

*สามารถกดติดตาม และแชร์ข่าวสำนักข่าว Hfocus ที่ https://www.facebook.com/Hfocus.org