สสส.เผยการสำรวจสถานการณ์เด็กและเยาวชนในท้องถิ่นต้นแบบ พบปัญหา "บูลลี่-สิ่งเสพติด-สุขภาพจิต" มท.–สสส.–SIY สานพลัง 47 อปท.ต้นแบบ จัดมหกรรม Learn เล่น เห็น Local หนุนพลังคนรุ่นใหม่และคนรุ่นใหญ่ ออกแบบสร้างความเปลี่ยนแปลงท้องถิ่น ด้าน กมธ.พัฒนาการเมืองฯ เตรียมเสนอเปิด 3 พื้นที่เพิ่มส่วนร่วมเด็กและเยาวชน ชี้เด็กไทยตื่นตัวทางการเมืองและประเด็นสาธารณะ แต่รู้สึกว่าเสียงที่สะท้อนไปยังไม่ถูกรับฟัง
มท.–สสส.–SIY สานพลัง 47 อปท.ต้นแบบ จัดมหกรรม Learn เล่น เห็น Local
เมื่อวันที่ 28 ม.ค. 2567 ที่ รร.ทีเค. พาเลซ กรุงเทพฯ กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น (สถ.) กระทรวงมหาดไทย ร่วมกับ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และมูลนิธินวัตกรรมสร้างสรรค์สังคม (SIY) จัดมหกรรม “Learn เล่น เห็น Local” แสดงผลงานขับเคลื่อนระบบสนับสนุนการมีส่วนร่วมของสภาเด็กและเยาวชนในท้องถิ่นทั่วประเทศ นายสุรพล เจริญภูมิ รองอธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น กล่าวว่า การให้สิทธิเด็กมีส่วนร่วมแสดงความคิดเห็น เป็น 1 ใน 4 ของสิทธิเด็ก ตามอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก ซึ่งรัฐบาลไทยให้ความสำคัญผ่านกลไกพัฒนาเครือข่ายเด็กและเยาวชนทุกระดับ โดยเฉพาะสภาเด็กและเยาวชน เพื่อเปิดให้มีพื้นที่สร้างการสื่อสารเชิงบวก แลกเปลี่ยนประสบการณ์ ความคิดสร้างสรรค์ เป็นภารกิจที่มีความสำคัญกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) อีกทั้งสอดคล้องกับ พ.ร.บ.ส่งเสริมการพัฒนาเด็กและเยาวชนแห่งชาติ พ.ศ. 2560 ที่กำหนดให้องค์การบริหารส่วนตำบลและเทศบาล มีภารกิจส่งเสริมสภาเด็กและเยาวชนให้เป็นศูนย์กลางการเรียนรู้นอกห้องเรียน ส่งเสริมและสนับสนุนให้มีส่วนร่วมเสนอแนะนโยบายร่วมกับ อปท. พัฒนาชุมชน
“ถือเป็นโอกาสสำคัญที่ อปท. ได้ขับเคลื่อนงานด้านสภาเด็กและเยาวชน สนับสนุนการมีส่วนร่วมของคนรุ่นใหม่ในท้องถิ่น รองรับสถานการณ์การเปลี่ยนแปลงทางสังคมในปัจจุบัน กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น และภาคีเครือข่าย ตระหนักถึงความสำคัญของการส่งเสริม พัฒนา อปท. ให้มีความรู้ ความเข้าใจในการส่งเสริมสภาเด็กและเยาวชน โดยร่วมขับเคลื่อนโครงการตำบลต้นแบบสร้างการเรียนรู้ ด้านการมีส่วนร่วมของสภาเด็กและเยาวชน ตั้งแต่ปี 2564 จนถึงปัจจุบัน เกิดพื้นที่เรียนรู้ต้นแบบจำนวน 47 แห่ง ซึ่งจะเป็นตัวอย่างให้แก่ อปท. อื่น ร่วมเป็นกำลังสำคัญขับเคลื่อนและพัฒนาเด็กและเยาวชนไทยต่อไป” นายสุรพล กล่าว
พบปัญหา! ความไม่เข้าใจระหว่างวัยในครอบครัว ล้อเลียน/บูลลี่ สิ่งเสพติด
น.ส.ณัฐยา บุญภักดี ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนสุขภาวะเด็ก เยาวชนและครอบครัว สสส. กล่าวว่า รายงานสถานการณ์เด็กและเยาวชน ปี 2566 พบ 6 สถานการณ์สำคัญที่ต้องใส่ใจมากขึ้น
1. ผลกระทบจากโควิดยังส่งผลให้ครอบครัวเปราะบางไม่สามารถพ้นวิกฤติ เด็ก เยาวชนในครอบครัวเหล่านี้เกิดปัญหาหลายอย่างซ้อนทับกัน
2. วัยรุ่น/เยาวชน สนใจสร้างรายได้มากขึ้น เพราะแรงกดดันทางเศรษฐกิจของครัวเรือน แต่การมีงานดี รายได้ดี เป็นเรื่องยากสำหรับเยาวชนส่วนใหญ่
3. เด็ก เยาวชนในระบบการศึกษายังไม่ได้รับการพัฒนาทักษะที่จำเป็นในโลกยุคใหม่
4. วัยรุ่น/เยาวชนมีภาวะเครียด ซึมเศร้า เสี่ยงฆ่าตัวตายมากขึ้น แต่บริการด้านสุขภาพจิตมีจำกัด ไม่เพียงพอ
5. ความรุนแรงในเด็กและเยาวชนมีมากขึ้น รูปแบบซับซ้อนขึ้น
6. เด็กรุ่นใหม่ฝันถึงสังคมที่เอื้อให้เติบโตและพัฒนาศักยภาพอย่างก้าวกระโดด แต่ไม่มีช่องทางให้สื่อสารพูดคุยในระดับนโยบาย
อีกทั้งการสำรวจสถานการณ์เด็กและเยาวชนในท้องถิ่นต้นแบบ ปัญหาที่พบบ่อยคือความไม่เข้าใจระหว่างวัยในครอบครัว ปัญหาการล้อเลียน/บูลลี่ สิ่งเสพติดในชุมชน การติดเกมและอบายมุขต่าง ๆ รวมถึงสุขภาพกายและใจที่เกิดจากไม่ได้รับการดูแลที่เหมาะสมกับวัย
“จากการสำรวจความคิดเห็น น้อง ๆ มองว่า “การมีส่วนร่วม” คือ ได้ร่วมคิด ร่วมตัดสินใจ และลงมือทำในกิจกรรมที่สนใจด้วยการเปิดโอกาส สนับสนุนและช่วยเหลือจากผู้ใหญ่ที่ไว้วางใจ สสส. ร่วมกับ สถ. SIY และภาคีเครือข่าย ขับเคลื่อนงานหลายด้าน ทั้งพัฒนาชุดความรู้พร้อมใช้ เครื่องมือทำงานพัฒนาเยาวชน กิจกรรมสร้างเสริมสุขภาวะและทักษะชีวิต พัฒนาศักยภาพบุคลากรท้องถิ่นให้สามารถทำงานกับเด็กและเยาวชนในพื้นที่ จนเกิดกระบวนการ "เด็กคิด เด็กทำ เด็กนำ ผู้ใหญ่หนุน" ท้องถิ่นต้นแบบที่ดำเนินงานด้านสภาเด็กและเยาวชนได้ดี เปิดโอกาสให้เด็กและเยาวชนมีพื้นที่ส่งเสียงความต้องการและทำงานร่วมกับผู้ใหญ่ที่เป็นกลไกท้องถิ่น เช่น สำรวจปัญหาและความต้องการของเด็กและเยาวชนในตำบลทุกปี เพื่อจัดทำแผนพัฒนาเด็กและเยาวชน ป้องกันและแก้ปัญหาต่าง ๆ ส่งเสริมการเรียนรู้ การทำกิจกรรมสร้างสรรค์ หลายแห่งสามารถจัดตั้งเป็นกองทุนเพื่อเด็กและเยาวชน เป็นความยั่งยืนของการพัฒนาเด็กและเยาวชนในระดับพื้นที่” น.ส.ณัฐยา กล่าว
เด็กไทยตื่นตัวทางการเมืองและประเด็นสาธารณะ
นายพริษฐ์ วัชรสินธุ ประธานคณะกรรมาธิการพัฒนาการเมือง การสื่อสารมวลชนและการมีส่วนร่วมของประชาชน สภาผู้แทนราษฎร กล่าวว่า ปัจจุบันเยาวชนมีความตื่นตัวทางการเมืองและประเด็นสาธารณะมากขึ้น แต่ส่วนใหญ่ยังรู้สึกว่าเสียงที่สะท้อนไปยังไม่ถูกรับฟังอย่างเพียงพอ ทั้งในรั้วโรงเรียนและสังคมโดยรวม กมธ. พัฒนาการเมืองฯ จึงร่วมกับฝ่ายวิชาการ เช่น 101 PUB ภาคประชาสังคม เช่น มูลนิธิ SIY และตัวแทนสภาเด็กและเยาวชน เตรียมจัดทำข้อเสนอในการแก้กฎหมาย-กฎระเบียบที่เกี่ยวข้อง เพื่อเปิด “พื้นที่” ให้เยาวชนมีส่วนร่วมมากขึ้นใน 3 พื้นที่
1. ปลดล็อกให้เยาวชนเข้ามามีส่วนร่วมใน “พื้นที่เดียวกัน” กับผู้ใหญ่โดยตรง อาทิ การปรับเกณฑ์เรื่องอายุขั้นต่ำในการมีส่วนร่วมทางการเมือง เช่น อายุขั้นต่ำในการลงสมัครรับเลือกตั้งระดับชาติ หรือท้องถิ่น ประเทศที่เป็นประชาธิปไตยมักมองว่าหากมีสิทธิลงคะแนนเลือกตั้ง ก็ถือว่าอายุมากพอที่จะมีสิทธิลงสมัครรับเลือกตั้งเช่นกัน แต่ในไทยแม้สามารถเลือกตั้งได้ตั้งแต่อายุ 18 ปี แต่ต้องรอถึงอายุ 25 ปีจึงจะลงสมัครเป็น สส. หรือ สมาชิกสภาท้องถิ่น และอายุ 35 ปี จึงจะสมัครเป็นผู้บริหารท้องถิ่นได้
2. ออกแบบ “พื้นที่พิเศษ” สำหรับเยาวชน ให้เป็นสะพานเชื่อมที่มีประสิทธิภาพมากขึ้นระหว่างเยาวชนกับกลไกทางการเมือง หรือทางนโยบาย เช่น ปฏิรูปสภาเด็กและเยาวชน ให้ยึดโยงกับเยาวชนมากขึ้น รวมถึงเพิ่มอำนาจในการผลักดันนโยบายผ่านการเสนอร่างกฎหมายไปที่สภาฯ หรือผ่านการมีโควต้าตั้งกระทู้ถามและเสนอแนะรัฐมนตรีที่ต้องมาตอบในสภาเยาวชน
3. เปิด “พื้นที่สถานศึกษา” ให้นักเรียน มีส่วนร่วมออกแบบการศึกษาและกติกาในโรงเรียนมากขึ้น ผ่านการส่งเสริมประชาธิปไตยในห้องเรียน เปิดให้นักเรียนมีส่วนร่วมประเมินคุณภาพการศึกษาที่ได้รับ ทั้งประเมินครูเพื่อให้เกิดการประเมินแบบรอบทิศ รวมถึงตรวจสอบมาตรฐานบริการในโรงเรียน เช่น หนังสือเรียน คอมพิวเตอร์ ห้องน้ำ
ขณะนี้ ได้ตั้งคณะทำงานที่เป็นตัวแทนจากหลายพรรค หลายภาคส่วน เพื่อศึกษาและจัดทำข้อเสนอโดยละเอียด และผลักดันกฎหมายที่เกี่ยวข้องให้สภาผู้แทนราษฎรพิจารณาต่อไป จึงขอเชิญชวนเยาวชนและประชาชน ร่วมแสดงความเห็นต่อประเด็นนี้ได้ที่ เฟซบุ๊กแฟนเพจ คณะกรรมาธิการการพัฒนาการเมืองฯ สภาผู้แทนราษฎร
- 1475 views