ที่ปรึกษากรมสุขภาพจิตเผยปัญหาเยาวชนเรื่องใหญ่ 2 เรื่อง คือ “การบูลลี่และการติดเกม/อินเตอร์เน็ต” ชี้จิตวิทยาการบูลลี่มองคนดู คนที่พอใจหรือส่งต่อจัดอยู่หนึ่งในปัญหา ส่วนปัญหาเกม หากจะทำเป็นอีสปอร์ต ต้องมีหลักเกณฑ์ให้ชัดเจน ไร้ความรุนแรงจริงๆ
เมื่อวันที่ 25 พ.ย. นพ.ยงยุทธ วงค์ภิรมย์ศานติ์ ที่ปรึกษากรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข กล่าวถึงภาพรวมความรุนแรงที่เกิดขึ้นในโรงเรียนของไทย ว่า ตอนนี้ ปัญหาของเยาวชนมีเรื่องใหญ่สุดอยู่ 2 เรื่อง เรื่องความรุนแรงที่ใหญ่ที่สุดคือการบูลลี่ ส่วนใหญ่จะเป็นเรื่องการทำร้ายด้านจิตใจ ล้อเลียน ด่า ว่า ดูถูกเหยียดหยาม ความเสียหายเกิดขึ้นมาก เพราะมีการเผยแพร่ผ่านโซเชียลมีเดียทำให้เกิดการรับรู้จำนวนมาก ทั้งนี้คนมักจะคิดว่าการบูลลี่ปัญหาหรือผลกระทบจะเกิดกับฝ่ายเดียวคือคนที่ถูกบูลลี่เท่านั้น แต่ที่จริงแล้วเป็นปัญหาของ 3 ฝ่าย 1. คนที่ถูกบูลลี่จะมีภาวะเครียด ซึมเศร้า 2. คนที่บูลลี่ ก็จัดว่าเป็นกลุ่มคนที่มีปัญหา ถึงได้แสดงออกถึงความก้าวร้าว รุนแรง และกลุ่มใหญ่ที่สุดคือ กลุ่มที่ 3 คนที่ยืนดูการบูลลี่โดยไม่ทำอะไร ซึ่งคือเพื่อนที่เหลือทั้งหมด
จิตวิทยาการบูลลี่
“จิตวิทยาการบูลลี่เป็นปัญหาของคน 3 ฝ่าย แต่เราจะมองเห็นปัญหาแค่ฝ่ายเดียว หรืออย่างมากก็ 2 ฝ่ายทำให้การแต่การแก้ปัญหาต้องแก้ที่เด็กทุกคน โรงเรียนต้องสอนให้เด็กไม่เอา ไม่บูลลี่ใคร และไม่ยอมรับเรื่องการบูลลี่ด้วย หากเพื่อนถูกบูลลี่จะต้องเข้าไปแทรกแซงด้วยการแจ้งต่อครูที่ปรึกษา หรือครูฝ่ายปกครอง ไม่ใช่อยู่เฉยๆ ยอมรับ ซึ่งตัวนี้คือตัวปัญหา ทั้งนี้มีการศึกษาวิจัยพบว่า คนที่พอใจกับการบูลลี่ ยืนดูการบูลลี่ หรือส่งต่อการบูลลี่คนๆ นั้นก็ถือว่าเป็นคนที่มีปัญหาเช่นกัน” นพ.ยงยุทธ กล่าว
เมื่อถามว่าบางคนมีแนวคิดว่า “บูลลี่มา บูลลี่กลับ ไม่โกง” ถือว่าเป็นปัญหาหรือไม่ นพ.ยงยุทธ กล่าวว่า การไม่ตอบโต้ถือเป็นภูมิคุ้มกันอย่างหนึ่ง เพราะคนเราจะดีหรือไม่ดี ไม่ได้อยู่ที่น้ำลายของใคร อย่างไรก็ตาม เพื่อนทั้งหมดต้องช่วยกันส่งเสริมการต่อต้านการบูลลี่ ไม่ใช่สนุกสนานกับการส่งต่อ เราต้องการให้เด็กไทยโตมากับการเป็นคนที่สนุก พอใจกับการบูลลี่อย่างนั้นหรือไม่ ดังนั้นต้องสร้างสิ่งแวดล้อมที่ไม่ส่งเสริมการบูลลี่ ต้องทำให้เด็กรู้ว่าการบูลลี่ทำให้เด็กเจ็บปวด การที่ช่วยให้คนอื่นไม่เจ็บปวด ไม่ซ้ำเติม คือการเป็นพลเมืองที่ดี ขณะที่การซ้ำเติม ไม่ใช่พลเมืองที่ดี เด็กทุกคนต้องเข้าใจแบบนี้ แล้วถึงจะโตมาเป็นผู้ใหญ่ที่มีความรับผิดชอบ
เด็กติดเกมและอินเตอร์เน็ต
ปัญหาใหญ่เรื่องที่ 2 คือ เด็กติดเกมและอินเตอร์เน็ต ซึ่งเดิมเล่นเกมจะมีการตื่นเต้น ทำให้เด็กชอบ ประกอบกับระยะหลังมีการเคลมว่าเกมคืออีสปอร์ต ทั้งๆ ที่องค์การโอลิมปิกสากลไม่ยอมรับว่าเป็นกีฬาไม่ได้ เพราะเกมมีความรุนแรง และไม่มีกติกาควบคุม เช่น การใช้ยาโด๊ป อีกทั้งการเล่นเกมเหล่านี้จะมีค่าใช้จ่าย ขณะที่กีฬาทุกอย่างบนโลกต้องไม่รุนแรง แม้กระทั่งกีฬาฟันดาบยังต้องมีการป้องกันความรุนแรง นอกจากนี้ต้องมีกติกากำกับ ต้องเป็นสาธารณะ ไม่มีการจ่ายเงิน ซึ่งทางโอลิมปิกสากลจึงบอกว่า หากอยากให้อีสปอร์ตเป็นกีฬา ก็ต้องทำตามหลักเกณฑ์เหล่านี้ โดยตอนนี้มีแนวโน้มยอมรับเกมประเภทคลีเอทีฟ และเกมเกี่ยวกับกีฬาออนไลน์
ทั้งนี้การติดเกม ติดอินเตอร์เน็ตในทางจิตวิทยาถือว่าเป็นความผิดปกจิตเวช ซึ่งองค์การอนามัยโลกประกาศชัดเจนว่าอยู่ในกลุ่มสารเสพติดและพฤติกรรมเสพติด เพราะลักษณะสมองของการติดเกม ติดการพนันจะคล้ายกับการติดยาเสพติด วิธีการรักษาก็คล้ายกัน แต่ที่จริง ก่อนจะติดยา หรือเสพติดพฤติกรรมเราจะเริ่มเป็นกลุ่มเสี่ยง เช่น ใช่เวลามากเกินไป ไม่รับผิดชอบต่อการเรียน หรือการทำงาน จากนั้นใช้เวลาสักระยะจะเข้าสู่ภาวะการติด
- 219 views