เริ่มแล้ววันนี้ ทางเลือกใหม่ “เจาะเลือด-ตรวจแล็บ ที่คลินิกแล็บใกล้บ้าน 24 รายการ” สปสช.จับมือสภาเทคนิคการแพทย์ รุกนโยบายบริการตรวจทางห้องปฏิบัติการหรือแล็บ ณ คลินิกเทคนิคการแพทย์ที่เข้าร่วมให้บริการใกล้บ้าน ช่วยเพิ่มความสะดวก ไม่ต้องรอนาน ได้รับบริการตรวจแล็บตามมาตรฐาน
วันที่ 5 ก.ย. 2566 นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวว่า การพัฒนาระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ นอกจากการสร้างความครอบคลุมและทั่วถึง ในการเข้าถึงบริการสุขภาพที่จำเป็นแล้ว การเพิ่มความสะดวกและลดความแออัดในการเข้ารับบริการ เป็นอีกหนึ่งภารกิจที่ สปสช. ให้ความสำคัญ จึงได้ประสานความร่วมมือกับองค์กรวิชาชีพต่างๆ เพื่อให้เข้ามามีส่วนร่วมในการดูแลและให้บริการผู้มีสิทธิบัตรทอง โดยที่ผ่านมา สปสช. ได้จับมือกับสภาเทคนิคการแพทย์ เพื่อเดินหน้านโยบาย “บริการตรวจทางห้องปฏิบัติการหรือแล็บ ณ คลินิกเทคนิคการแพทย์ที่เข้าร่วมให้บริการใกล้บ้าน (Lab Anywhere)”
ภาพรวมของบริการ Lab Anywhere คลินิกเทคนิคการแพทย์จะเป็นเครือข่ายร่วมให้บริการกับหน่วยบริการ โดยมี สปสช.เขตทำหน้าที่เป็นผู้จัดเครือข่าย ซึ่งคลินิกเทคนิคการแพทย์ที่เข้าร่วมให้บริการจะให้บริการเจาะเลือด เก็บสิ่งส่งตรวจ พร้อมทำการตรวจวิเคราะห์ผล ทั้งกรณีมารับบริการที่คลินิกเทคนิคการแพทย์ หรือกรณีให้ไปเจาะเลือดที่บ้าน พร้อมทำการตรวจวิเคราะห์ผลแล็บ โดยรายการบริการมีจำนวน 24 ราย แยกเป็น
บริการกรณีผู้ป่วยนอก (OP) จำนวน 22 รายการ และบริการสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรค (PP) จำนวน 2 รายการ
นพ.จเด็จ กล่าวว่า สำหรับกลุ่มเป้าหมายบริการนั้น ในกรณีผู้ป่วยนอกเป็นสิทธิบริการเฉพาะผู้มีสิทธิบัตรทอง 30 บาท โดยเป็นกลุ่มผู้ป่วยโรคเรื้อรังที่มีใบสั่งการตรวจทางห้องปฏิบัติการจากหน่วยบริการที่ดูแล ครอบคลุมทั้งผู้ที่มารับบริการที่คลินิกเทคนิคการแพทย์และที่บ้าน ซึ่งกรณีการรับบริการเก็บสิ่งส่งตรวจที่บ้านกำหนดเฉพาะผู้ป่วยที่ไม่สามารถมารับบริการที่หน่วยบริการเท่านั้น เช่น ผู้ป่วยโรคเรื้อรังที่นอนติดเตียง ช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ ผู้ป่วยชรา ผู้ป่วยที่มีภาวะพึ่งพิง หรือกรณีมีความจำเป็น
ส่วนบริการสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรคที่ดูแลประชาชนไทยทุกสิทธิการรักษาพยาบาล กำหนดให้บริการ 2 รายการ คือ 1.บริการตรวจทดสอบปัสสาวะ ในกรณีสงสัยว่าการตั้งครรภ์ 2.บริการตรวจคัดกรองมะเร็งลำไส้ใหญ่และลำไส้ตรง ด้วยวิธีการตรวจหาเลือดแฝงในอุจจาระ สำหรับประชาชนอายุ 50-70 ปี ทุก 2 ปี ซึ่งทั้ง 2 รายการนี้ ประชาชนไทยตามกลุ่มเป้าหมายสามารถเข้ารับบริการได้ที่คลินิกเทคนิคการแพทย์ที่ร่วมโครงการได้ โดยไม่ต้องมีใบสั่งการตรวจทางห้องปฏิบัติการ
นพ.จเด็จ กล่าวต่อว่า ในส่วนของความเชื่อมั่นต่อคุณภาพและมาตรฐานบริการ Lab Anywhere ทุกคลินิกเทคนิคการแพทย์ที่เข้าร่วม ต้องผ่านการรับรองมาตรฐานสภาเทคนิคการแพทย์ (LA; Laboratory Accreditation) หรือมาตรฐานห้องปฏิบัติการทางการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข (MOPH ) หรือ มาตรฐานราชวิทยาลัยพยาธิแพทย์แห่งประเทศไทย หรือ มาตรฐาน ISO 15189 ) และผ่านการพิจารณาการเข้าร่วมให้บริการจากสภาเทคนิคการแพทย์ก่อน นอกจากนี้ยังจะมีการกำกับติดตามคุณภาพการให้บริการอย่างต่อเนื่อง เพื่อสร้างความมั่นใจแก่สถานพยาบาลที่ส่งต่อคนไข้มารับบริการ ปัจจุบันมีคลินิกเทคนิคการแพทย์เข้าร่วมให้บริการแล้ว 32 แห่ง โดยในจำนวนนี้ 3 แห่ง อยู่ระหว่างดำเนินการขึ้นทะเบียน โดยในส่วนของคลินิกเทคนิคการแพทย์ที่ได้ขึ้นทะเบียนเป็นที่เรียบร้อยและได้เปิดให้บริการ Lab anywhere แล้ว
“สปสช. และสภาเทคนิคการแพทย์ ได้ร่วมเปิดทางเลือกในการรับบริการแล็บให้กับผู้มีสิทธิบัตรทอง โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย ซึ่งทั้งกรณีเข้ารับบริการผู้ป่วยนอกที่สถานพยาบาลเป็นผู้ส่งต่อ และบริการสร้างเสริมสุขภาพฯ 2 รายการ ที่ให้ประชาชนกลุ่มเป้าหมายใช้สิทธิบัตรทองเข้ารับบริการได้นั้น เป็นบริการที่ประชาชนเชื่อมั่นในคุณภาพและมาตรฐานได้เช่นเดียวกับการรับบริการที่โรงพยาบาล” เลขาธิการ สปสช. กล่าว
- 27143 views