“หมอธีระ” ระบุ “เจาะเลือดใกล้บ้าน” ก่อนขยายบริการทั่วประเทศ หลักเกณฑ์มาตรฐานควบคุมต้องชัด ทั้งจัดเก็บและนำส่งสิ่งส่งตรวจ ต้องรวดเร็ว มีประสิทธิภาพ ไม่เกิดปัญหาหน้างานปฏิบัติ พร้อมถามความรับผิดชอบ หากเกิดภาวะแทรกซ้อนเจาะเลือดในคลินิกเอกชนและสถานบริการนอกโรงพยาบาล แนะบริหารจัดการในโรงพยาบาล กระจายจุดเจาะเลือด เพิ่มบุคลากร ช่วยลดคิวคอยนานได้
รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์
รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ ภาควิชาเวชศาสตร์ป้องกันและสังคม คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า โรงพยาบาลแออัดเป็นปัญหาที่มีมานานและทุกคนรู้ดี ที่ผ่านมากระทรวงสาธารณสุขพยายามหาแนวทางต่าง ๆ เพื่อแก้ปัญหานี้ รวมถึงการลดระยะเวลารอคอยให้กับผู้ป่วย อย่างนโยบาย “เจาะเลือดใกล้บ้าน” ทั้งที่โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) และคลินิกเอกชน โดยกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ส่วนตัวมองว่าเป็นแนวทางที่ดี แต่ก่อนจะขยายนโยบายนี้ออกไปทั่วประเทศ จำเป็นต้องมีการทบทวนให้รอบคอบก่อน เนื่องจากผู้ป่วยที่มารับการรักษาโรงพยาบาล ไม่ได้จำกัดแค่ประชากรในพื้นที่ แต่อาจมีผู้ป่วยที่อยู่ในภูมิลำเนาอื่นตรงนี้จะทำอย่างไร ดังนั้นในผู้ป่วยกลุ่มนี้การจะเจาะเลือดที่ รพ.สต. หรือคลินิกเอกชนใกล้บ้านจะทำได้หรือไม่ ซึ่งต้องกำหนดหลักเกณฑ์ผู้ป่วยที่จะรับบริการตามนโยบายนี้
ส่วนรูปแบบการเจาะเลือดใกล้บ้านจะเป็นอย่างไร โรงพยาบาลแม่ข่ายจะส่งทีมนักเทคนิคการแพทย์ออกไปเจาะเลือด หรือให้หน่วยบริการเป็นผู้เจาะเลือดผู้ป่วย ซึ่งหากให้หน่วยบริการดำเนินการจะมีประเด็นต่าง ๆ ตามมา ทั้งภาระงาน ค่าใช้จ่ายการบริการและการบริหารจัดการ รวมถึงการเบิกจ่ายจากระบบประกันสุขภาพ นอกจากนี้ยังมีปัญหาที่ต้องวางแผนรับมือ ได้แก่ ภาวะแทรกซ้อนจากการเจาะเลือด และปัญหาการฟ้องร้องที่ในต่างประเทศเคยมีกรณีเกิดขึ้นแล้ว ตรงนี้ใครจะรับผิดชอบ ซึ่งหากเป็นหน่วยบริการของรัฐตามกฎหมายประเทศไทยภาครัฐจะเป็นผู้รับผิดชอบดูแล้ว แต่หากเกิดในคลินิกเอกชน คลินิกเอกชนต้องรับผิดชอบเองหรือไม่ เหล่านี้เป็นปัญหาจากนโยบายที่ต้องวิเคราะห์มุมกว้าง
นอกจากนี้ยังมีเรื่องการเก็บสิ่งส่งตรวจและการจัดส่งที่ต้องเป็นมาตรฐาน เพราะการที่โรงพยาบาลใหญ่กระจายบริการเจาะเลือดไปยังหน่วยบริการในพื้นที่ เราจะมีการควบคุมอย่างไรเพื่อให้การเก็บสิ่งส่งตรวจและการจัดส่งเป็นมาตรฐานเดียวกัน ถือเป็นความท้าทาย โดยเฉพาะหน่วยบริการที่อยู่ห่างไกลจากโรงพยาบาล เพราะตัวอย่างสิ่งส่งตรวจมีระยะเวลาการตรวจที่จำกัด หากทิ้งเวลาไว้นานเกินไป เซลล์ในสิ่งส่งตรวจอาจสลายไปหมดทำให้การตรวจก็ไม่มีประสิทธิภาพ ทั้งนี้การส่งสิ่งตรวจให้อยู่ในสภาวะที่ดี รักษาในอุณหภูมิที่เหมาะสม การติดฉลากชื่อผู้ป่วยบนบรรจุภัณฑ์ต้องชัดเจน เหล่านี้จะต้องควบคุมให้เป็นมาตรฐานเดียวกัน ซึ่งจากประสบการทำวิจัยวัคซีนเอชไอวีในพื้นที่จังหวัดชลบุรีและระยอง ที่ต้องเก็บตัวอย่างสิ่งส่งตรวจของผู้เข้าร่วมโครงการใน 8 พื้นที่ ในการปฏิบัติต้องมีการวางแผนการเก็บสิ่งส่งตรวจรวมถึงการขนส่ง เพื่อให้การตรวจเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ
“เจาะเลือดใกล้บ้านขณะนี้มีโรงพยาบาลนำร่องแล้ว ซึ่งการเดินหน้านโยบายต้องคำนึงสิ่งเหล่านี้ โดยเฉพาะเรื่องการควบคุมมาตรฐาน (Standard) และความรับผิดชอบ (Liability) เป็นสิ่งที่ต้องระมัดระวังและใคร่ครวญให้ดีก่อนที่จะขยายบริการไปทั่วประเทศ เพราะสุดท้ายแล้วผู้ปฏิบัติงานจะเป็นคนที่ต้องเจอปัญหาหน้างาน หากนโยบายที่ถูกประกาศทำไม่ได้จริง หรือไม่ดีพอ ดังนั้นจึงควรมีการนำร่องและประเมินผลอย่างรอบด้านก่อน รวมถึงการวางหลักเกณฑ์แนวทางในภาพรวมเพื่อให้เกิดความชัดเจนการปฏิบัติ ก่อนเร่งประกาศนโยบายออกมา”
ต่อข้อซักถามว่า จากนโยบายมีความพยายามเพื่อมุ่งลดความแออัด ผลที่เกิดขึ้นจริงจะช่วยลดความแออัดได้จริงหรือไม่ รศ.นพ.ธีระ กล่าวว่า ส่วนตัวมองว่าคงช่วยได้ไม่มากเท่าไหร่ สามารถถ่ายงานไปได้เพียงส่วนหนึ่งเท่านั้น เพราะในความเป็นจริงคนส่วนใหญ่ยังต้องการรับบริการที่โรงพยาบาลใหญ่ มีแพทย์ผู้เชี่ยวชาญที่มีประสบการณ์ประจำอยู่ เนื่องจากต่างต้องการรักษาที่เป็นมาตรฐานที่สุดเท่าที่ทำได้ ซึ่งสถานการณ์นี้ไม่ได้เกิดขึ้นแต่เฉพาะประเทศไทย แต่ในประเทศอื่น ๆ ก็มีแนวโน้มที่คล้ายกัน และเป็นสาเหตุใหญ่ที่ทำให้โรงพยาบาลแออัด
อย่างไรก็ตามในส่วนของบริการเจาะเลือด การจัดการของโรงพยาบาล เป็นส่วนที่ช่วยลดการรอคอยให้กับผู้ป่วยได้ ซึ่งโรงพยาบาลหลายแห่ง อย่างเช่นโรงพยาบาลรามาธิบดี จากเดิมที่บริการเจาะเลือดจะรวมอยู่ในจุดเดียวกัน ทำให้เกิดการกระจุกตัวของผู้ป่วยและใช้เวลานาน แต่หลังจากได้ปรับรูปแบบโดยกระจายจุดเจาะเลือดผู้ป่วยและเสริมกำลังบุคลากรที่ทำให้เกิดการกระจายการบริการแล้ว ยังได้ปรับระบบการจัดส่งสิ่งส่งตรวจที่รวดเร็วขึ้น รวมถึงการรายงานผลผ่านระบบออนไลน์ เหล่านี้สามารถลดระยะเวลาการรอของผู้ป่วยลงได้ ดังนั้นจึงอาจใช้วิธีการเพิ่มศักยภาพให้กับโรงพยาบาลตติยภูมิควบคู่ นอกจากการกระจายงานไปยังหน่วยบริการในพื้นที่ ซึ่งนอกจากอาจมีปัญหาในแง่ของการควบคุมมาตรฐานแล้ว ยังมีเรื่องความคุ้มค่าของค่าใช้จ่ายในการจัดเก็บและนำส่งที่เพิ่มมากขึ้น
“นโยบายด้านสาธารณสุขที่นำเสนอออกมาในทุกวันนี้ ส่วนตัวมองว่ามีความแปลกในการเร่งเข็นออกมา มีความรีบด่วนและสุ่มเสี่ยงทำให้เกิดผลกระทบ ไม่ว่าจะเป็นนโยบายกัญชาที่สร้างความสับสนในช่วงแรก การประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนใช้ยาโฮมีโอพาธีย์ยูพาโทเรียม เพอร์ฟอเลียทุม 200C ป้องกันไข้เลือดออก การประกาศแคมเปญ “ตรวจไม่เจอเชื้อ = ไม่สามารถแพร่เชื้อต่อได้” (U=U) และล่าสุดเจาะเลือดใกล้บ้าน ซึ่งมองว่าเป็นนโยบายการเมืองนิยมหรือไม่ ทำออกมาเพื่อให้เกิดความนิยมชมชอบจากคนในพื้นที่หรือเฉพาะกลุ่มหรือไม่ แต่ทั้งนี้ควรมีการศึกษาให้รอบคอบก่อน เพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบในทางปฏิบัติ และประชาชนในที่สุด” รศ.นพ.ธีระ กล่าว
- 2154 views