ปธ.อนุฯกฎหมาย สภาเทคนิคการแพทย์ แจงแนวทางเจาะเลือดใกล้บ้าน ชี้ "เจ้าพนักงานสาธารณสุข" เจาะได้ ด้านคุณภาพห้องแล็บมี 3 มาตรฐานรับรอง
ทนพ.สมชัย เสริมเจิดอนันต์ ประธานอนุกรรมการกฎหมาย สภาเทคนิคการแพทย์ เปิดเผยว่า นโยบายกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ในการลดความแออัดของโรงพยาบาล จะส่งเสริมให้ผู้ป่วยสามารถเข้ารับบริการเจาะเลือดก่อนพบแพทย์ได้ตามหน่วยบริการ ซึ่งในส่วนบริการของภาครัฐ เช่น โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) หน่วยบริการปฐมภูมิ (PCU) หรือคลินิกเทคนิคการแพทย์ เป็นต้น
ทั้งนี้ ขั้นตอนในเบื้องต้นจะมี 2 รูปแบบคือ หน่วยให้บริการทำหน้าที่เจาะเลือด แล้วส่งตัวอย่างมาตรวจที่โรงพยาบาลต้นสังกัด กับอีกแบบหนึ่งคือหน่วยให้บริการเจาะและตรวจเลือด แล้วจึงส่งผลเข้ามาที่โรงพยาบาล ซึ่งขั้นตอนเหล่านี้จะช่วยลดความแออัดในโรงพยาบาล โดยลดระยะเวลาการรอคอยเจาะเลือดของผู้ป่วยได้ เช่นเดียวกับนโยบายการรับยาที่ร้านยา
ทนพ.สมชัย กล่าวว่า ในส่วนของการเจาะเลือดนั้นไม่จำเป็นว่าจะต้องเป็นวิชาชีพเทคนิคการแพทย์เท่านั้น เช่นใน รพ.สต. ซึ่งบุคลากรส่วนใหญ่เป็นเจ้าพนักงานสาธารณสุข ก็ได้มีระเบียบกระทรวงสาธารณสุข ปี 2539 ที่รองรับให้สามารถทำการเจาะเลือดได้อยู่แล้ว ประเด็นนี้จึงเป็นส่วนที่ไม่น่าจะมีปัญหา
ทนพ.สมชัย กล่าวอีกว่า ขณะที่เรื่องของมาตรฐานห้องปฏิบัติการสำหรับหน่วยบริการที่จะทำการตรวจเลือดนั้น ปัจจุบันเองได้มีมาตรฐานห้องปฏิบัติการที่ใช้อยู่เป็น 3 กลุ่ม คือ 1. Laboratory Accreditation (LA) ซึ่งสภาเทคนิคการแพทย์ให้การรับรอง และเป็นกลุ่มที่ใหญ่ที่สุด 2. มาตรฐานกระทรวงสาธารณสุข (MOPH Standard) และ 3. มาตรฐานสากล ISO 15189 ซึ่งกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ให้การรับรอง
"มาตรฐานทั้ง 3 ตัวเป็นระบบรับรองที่จะช่วยสร้างความมั่นใจ ในการได้รับบริการที่มีคุณภาพ ซึ่งปัจจุบันเองมีโมเดลจากโรงพยาบาลบางแห่งที่กระจายการเจาะเลือดไปข้างนอกแล้ว และพบว่าช่วยลดความแออัดได้จริง โดยปัจจุบันแนวคิดนี้อยู่ระหว่างการหารือร่วมกับประเด็นอื่น ๆ เช่น งบประมาณที่จะนำมาสนับสนุนค่าใช้จ่าย จึงอาจจะเริ่มได้หลังปีงบประมาณ 2564" ทนพ.สมชัย ระบุ
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
กรมวิทย์ฯ นำร่องแนวทางเจาะเลือดใกล้บ้าน ลดเวลารอคอยใน รพ. 2-5 ชั่วโมง
‘อนุทิน’ เปิดโครงการ ‘เจาะเลือดใกล้บ้าน’ ลดความแออัดใน รพ.
ผลลัพธ์เจาะเลือดใกล้บ้าน 'รพ.นครปฐม' ลดเวลาได้จริง-ปชช.พึงพอใจ
- 2089 views